SUPER เดินหน้าลุยขยายธุรกิจพลังงานเต็มสตรีม-วางเป้ารายได้ลุ้นแตะ6พันล้าน

วันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

SUPER เดินหน้าลุยขยายธุรกิจพลังงานเต็มสตรีม-วางเป้ารายได้ลุ้นแตะ6พันล้าน


นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ SUPER กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนเติบโต โดยปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และชีวมวล ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ
    "บริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทดแทน ในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม วินด์ฟาร์ม และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้และกำไร เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น โดยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นภาพของการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ก้าวสู่การเป็นผู้นำพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียตามเป้าหมายที่วางไว้" นายจอมทรัพย์ กล่าว
    สำหรับขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศ ล่าสุดบริษัทได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP Hybrid Firm จำนวน 8 โครงการ กำลังผลิตรวม 300 เมกะวัตต์ (MW) คาดหวังจะได้รับคัดเลือกไม่ต่ำกว่า 20 MW ซึ่งน่าจะรู้ผลการคัดเลือกราวต้นปี 61 และเตรียมยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) แบบ VSPP Semi-Firm หลังจากเพิ่งได้รับทราบผลว่าโครงการที่บริษัทสนับสนุนได้รับเลือกให้ขายไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และส่วนราชการเฟส 2 รวม 24 MW จากเฟสแรกที่ได้มาแล้ว 66 MW
    ขณะที่บริษัทเตรียมขยายโครงการโรงไฟฟ้าขยะ หลังจากแห่งแรกที่สระแก้วขนาด 10 MW คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ราวเดือน ธ.ค.60-ม.ค.61 คาดว่าจะทำรายได้ 520 ล้านบาท/ปี และหากสามารถก่อสร้างได้อีก 2 โรงตามแผนงานที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 61 ก็คาดว่าธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะจะทำรายได้รวมราว 1,500 ล้านบาท และจะเริ่มรับรู้รายได้จากทั้ง 3 โรงเต็มที่ตั้งแต่ปี 62 เป็ต้นไป
    นอกจากนั้น บริษัทยังเริ่มธุรกิจการขยายไฟฟ้าโดยตรงให้กับลูกค้าในลักษณะ Private PPA โดยรายแรกจะเป็นสัญญาผลิตไฟฟ้า 40 MW ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะเวลาสัญญา 20 ปี เสนอขายในราคาเทียบเคียงค่าไฟฟ้าของภาครัฐและให้ส่วนลดในระดับหนึ่ง เสริมไปกับการที่ลูกค้าใช้ไฟฟ้าตามระบบปกติของภาครัฐไปพร้อมกัน เพื่อช่วยลดต้นทุนบางส่วน ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการขยายบริการไปยังลูกค้ารายอื่น ๆ ต่อไป
    นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า จากแผนขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทคาดว่าในปี 61 รายได้น่าจะเติบโตอย่างน้อย 25% ซึ่งเป็นเป้าหมายการเติบโตปกติในแต่ละปี โดยในปีนี้รายได้มีโอกาสเติบโตแตะ 6 พันล้านบาท ตามการรับรู้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ยังไม่รวมรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนในจีนที่อาจจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนเข้ามาในปึนี้             
    ทั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายโรงไฟฟ้าในจีนที่มีการลงทุนผ่านบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด (SUPERE) บริษัทย่อยของ SUPER ได้เข้าลงทุนในโซลาร์ฟาร์มขนาด 20 MW ในเมืองเทียนจิน (Tianjin) ของจีน มูลค่าโครงการประมาณ 152 ล้านหยวน หรือประมาณ 792.501 ล้านบาท โดยจะขยายเฟส 2 เพิ่มอีก 10 MW ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 380 ล้านบาท คาดว่าจะ COD ได้ราวกลางปี 61 ซึ่งหลังจะโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จตามแผนงานน่าจะสร้างรายได้เข้ามาเต็มที่ราว 20-24 ล้านหยวน/ปี  
    “การเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองเทียนจิน ถือว่าเป็นการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และเพิ่มแหล่งรายได้ที่แน่นอนเป็นระยะเวลา 25 ปี  โดยขณะนี้สามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้วตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 20 เมกะวัตต์ อัตราค่าไฟ 0.88 RMB/kWh หรือประมาณ 4.40 บาท/หน่วย รายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 150 ล้านบาท นอกจากนี้ เตรียมขยายอีก 10 เมกะวัตต์ ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการ ในหลายประเทศที่ SUPER อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมเข้าลงทุน"นายจอมทรัพย์ กล่าว
    นายจอมทรัพย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการเจรจาทั้งการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน และการสนับสนุนเงินลงทุนให้บริษัทที่ดำเนินการอยู่ รวมแล้วไมต่ำกว่า 200-300 MW แต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลจีนต่อด้านพลังงานทดแทน บริษัทจึงชะลอการเจรจาเพื่อรอความชัดเจนก่อน แม้จะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากจำนวนประชากรของจีนในแต่ละมณฑลที่มีจำนวนมหาศาล ขณะที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยังมีเพียง 1% ของกำลังผลิตทั้งหมดเท่านั้น แต่บริษัทจะตัดสินใจเข้าลงทุนต่อเมื่อมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ไม่ต่ำกว่า 10% จากโครงการที่ลงทุนในจีนปัจจจุบัน IRR อยู่ที่ราว 12-13%
      ทำให้ในขณะนี้บริษัทจึงหันมาให้ความสนใจกับประเทศเวียดนามที่มีศักยภาพการเติบโตของการใช้พลังงานค่อนข้างสูง เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นจำนวนมาก ในแผนพัฒนาพลังงานฉบับที่ 7 จึงได้คาดการณ์ว่าใน 5 ปีเวียดนามจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มเป็นวันละ 6 หมื่น MW จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 4 หมื่น MW สูงกว่าไทยที่มีปริมาณความต้องการราว 3 หมื่น MW
    ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ที่จะเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมด 700 MW ซึ่งเฟสแรก 100 MW คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ราวเดือน ก.พ.61 และเริ่ม COD ได้ภายในปลายปี 62 จากนั้นจะเดินหน้าขยายให้ครบทั้งหมด โดยจะดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นที่ปัจจุบันได้ตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาแล้ว 6 แห่ง สัดส่วนการร่วมทุน 51:49 และมีสัญญาว่าสามารถเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 100% ได้ในอนาคต คาดว่าโครงการทั้ง 700 MW จะมีมูลค่าลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท โดยเฟสแรกใช้เงินลงทุนราว 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ/MW และสร้างครบทั้งหมดภายใน 3 ปี
    นอกจากนั้น บริษัทยังหารือกับพันธมิตรท้องถิ่นอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อเข้าลงทุนในโซลาร์ฟาร์มในเวียดนาม เริ่มจากโครงการค้างท่อที่มีอยู่ราว 3,000-4,000 MW ที่รัฐบาลให้ PPA ไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถสร้างได้ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้เข้าไปดำเนินการราว 25% ของจำนวนดังกล่าว และเชื่อว่าจะใช้เวลาสร้างได้เร็วราว 5-6 เดือน อัตราค่าไฟฟ้า 9.35 เซ็นต์/หน่วย หรือราว 3.10 บาท/หน่วย
    ด้านความพร้อมของเงินลงทุนนนั้น บริษัทมีทางเลือกที่จะระดมทุนอีกหลายแนวทางโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อยื่นจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะขยายโรงไฟฟ้าเข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุนและจะเข้าถือหน่วยลงทุนราว 20% โดยจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ราวต้นปี 61 และเปิดขายหน่วยลงทุนราวกลางปี จากนั้นจะบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ามาในงบการเงินของ SUPER
          ส่วนความคืบหน้าการนำบริษัท ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นคาดว่าจะดำเนินการยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.ได้ราวปลายปี 61 เพื่อรอให้มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ โดยเฉพาะจากโครงการในเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนทั้งหมดราวต้นปีหน้า
          พร้อมกันนั้น บริษัทยังเตรียมเจรจากู้เงินจากสถาบันการเงินที่สนใจเสนอตัวเข้ามาทั้งธนาคารในประเทศจีนหลายแห่ง รวมถึงธนาคารในประเทศไทยที่มีสำนักงานสาขาในประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุน เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนวงเงินในการดำเนินการ ขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ประมาณ 2 เท่า
     ประธานคณะกรรมการ SUPER กล่าวในช่วงท้ายว่าการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยผลักดันยอด COD ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 800-900 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำพลังงานทดแทนในเอเชียภายใน 3 ปีข้างหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้
    ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้มีโอกาสจะแตะระดับ 6 พันล้านบาทตามที่วางเป้าหมายไว้ ส่วนในปี 61 ตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% โดยเฉพาะจากการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ยังไม่รวมรายได้จากโครงการในจีนที่จะเริ่มรับรู้ในปีหน้าเช่นกัน หลังจากนั้นในปี 62 คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากการรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากกิจการในไทย จีน รวมถึงเวียดนาม



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ