ศิษยานุศิษย์เคลื่อนสังขารหลวงพ่อปัญญา รอพระราชทานเพลิงศพ 5 พ.ย. 2560

วันเสาร์ที่ 04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ศิษยานุศิษย์เคลื่อนสังขารหลวงพ่อปัญญา รอพระราชทานเพลิงศพ 5 พ.ย. 2560


          ลูกศิษย์เคลื่อนสังขารหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุขึ้นตั้ง ณ จิตกาธาน รอพระราชทานเพลิง 5พ.ย.2560หลังถูกเก็บไว้สักการะนาน10ปี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธี

          วันที่4พ.ย.เวลา 08.30น. พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ พระอารามหลวง ถนนติวานนท์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และศิษยานุศิษย์ได้เคลื่อนสังขารพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทมหาเถระ) จากพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งหีบสรีรธาตุพระพรหมมังคลาจารย์ ขึ้นตั้ง ณ จิตกาธาน หน้าโรงเรียนพุทธธรรม หลังจากมรณภาพ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550 และทางวัดได้เก็บสรีระของหลวงพ่อไว้ให้ญาติโยม ศิษยานุศิษย์ และผู้ที่มีความเลื่อมใสได้สักการะเป็นเวลา 10 ปี

                ขณะที่ศิษยานุศิษย์ ของ 'หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ' ต่างทยอยเดินทางเข้ามาเพื่อร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระพรหมมังคลาจารย์ โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานในพิธี พระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 5 พ.ย.2560 เวลา 17.30น.ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์ส่วนหนึ่งได้เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมานอนค้างแรมภายในศาลาวัด โดยมีเจ้าหน้าที่วัดจัดเตรียมสถานที่เอาไว้ให้ และใกล้กันภายในโรงเรียนชลประทาน ได้มีกลุ่มญาติโยมจากหลายจังหวัดเข้ามาตั้งโรงทานอาหารและน้ำดื่มเอาไว้ให้บริการกับผู้มาเข้าร่วมงานในวันพรุ่งนี้อย่างคับคั่ง ทั่งนี้ประชาชนผู้ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมงานที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์สามารถจอดรถไว้ในจุดที่ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดเอาไว้ทั้ง 3 แห่งอาทิ ภายในกรมชลประทาน โรงเรียนชลประทานและโรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ โดยทั้ง 3 จุดอยู่ติดกับวัดซึ่งภายในวัดมีพื้นที่จำกัด

ขณะเดียวกัน ยังมีการแสดงปาฐกถาธรรม เรื่อง "วันเวลาเปลี่ยน แต่ปณิธานไม่เปลี่ยน" โดยพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ความว่า ความยิ่งใหญ่ของบุคคลในโลกใบนี้อย่างมหาตมะคานธีเป็นบุคคลที่สร้างความยิ่งใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สร้างความยิ่งใหญ่ รวมถึงหลวงปัญญานันทะมีความยิ่งใหญ่ เพราะที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราก็ฟังคำสอนของหลวงปัญญานันทะ แต่เราไม่ได้ถอดรหัสอย่างลึกซึ้ง แต่พอท่านจากไปแล้ว นิยามชีวิตของท่านสมบูรณ์ เราจึงเริ่มมองว่าในประเทศไทยมีพระสงฆ์ที่มี "ความกล้าหาญทางจริยธรรม" เป็นต้นแบบของพระนักเผยแผ่พระนักเทศน์ที่ทำได้จริงๆ ตลอด ๗๗ ปี หลวงพ่อมีปณิธานที่ชัดเจนไม่เคยเปลี่ยนแปลงปณิธาน "หลวงปัญญานันทะไม่เคยเปลี่ยนปณิธาน" เพราะปณิธานคือเข็มทิศชีวิต เป็นความตั้งมั่นมุ่งมั่นจะทำอะไร จะเป็นอะไร และดำเนินตามปณิธาน

พระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ว่า " เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม " ๗๐ ปีที่ครองราชย์ไม่เคยเปลี่ยนปณิธานนี้เลย ถือว่าเป็นอัศจรรย์ ปฏิบัติตามคำมุ่นสัญญา เดินทางสู่เข็มทิศที่ตั้งไว้ สังคมต้องบุคคลแบบนี้มาเป็นผู้ทางบ้านเมืองและจิตวิญญาณ ชาวพุทธไทยโชคดีที่มีผู้นำจิตวิญญาณที่มีความตรง ที่ชื่อว่า ปัญญานันทะภิกขุ เป็นพระสงฆ์ที่มีความมุ่งมั่นแบบหลวงพ่อปัญญานันทะฝรั่งกล่าวว่า " เป็นบุคคลแห่งทุกฤดูกาล " ซึ่งในยุโรปและอเมริกาในฤดูหนาวเราจะเห็นหิมะตกต้นไม้ปกคลุมด้วยหิมะนึกว่าต้นไม้ตาย ผ่านฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้เปลี่ยนสีตามฤดูกาล แต่มีต้นไม้หนึ่งไม่ยอมเปลี่ยนสีตามฤดูกาล เป็นไม้แห่งทุกฤดูกาล คือ ต้นสน เราจึงเรียกต้นสนว่าเป็นต้นไม้แห่งทุกฤดูกาล บุคคลที่ไม่เปลี่ยนแปลงปณิธานจึงเป็นบุคคลแห่งทุกฤดูกาล หลวงพ่อปัญญาเป็นพระแห่งทุกฤดูกาล เสมอต้นเสมอปลาย เคยเทศน์เคยอย่างไร ก็สอนเหมือนเดิม ยึดปณิธาน ตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ เป็นพระสงฆ์ที่กล้าพูดกล้าทำ ชีวิตต้องมีปณิธานชีวิตจึงดำเนินไปไม่ออกนอกเส้นทาง เราต้องมีเรือที่มีหางเสือ เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทาง คือ อุดมการณ์ ปณิธานเป็นกลยุทธ์เพื่อเดินทางสู่เป้าหมาย คนที่มีปณิธานจะมีความมุ่งมั่นเหมือนสุเมธดาบส นอนเป็นสะพานให้พระพุทธเจ้าชื่อว่าธีปังกรเหยียบข้ามไป ตั้งปณิธานว่า ขอเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือจุดเปลี่ยน จะเจอปัญหาอะไรก็มีความมุ่งมั่นตามปณิธาน คนที่มีปณิธานจะไปถึงเป้าหมาย ดั่งพุทธพจน์ว่า " เกิดเป็นคนต้องพยายามล้ำไปจนกว่าจะได้ในสิ่งที่ปรารถนา "

ชีวิตหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นชีวิตที่สมหวัง เพราะเป็นไปตามมโนปณิธานที่ตั้งไว้ สิ่งสำคัญปณิธานต้องลงมือทำ สุภาษิตจีนกล่าวว่า " ระยะทางหมื่นลี้ต้องมีก้าวแรก " เราต้องตั้งปณิธานให้มั่นคง เราจะทำดีอะไรเพื่อฝากไว้ในสังคม เราอาจจะไม่มีปณิธานอันยิ่งใหญ่เหมือนหลวงพ่อปัญญานันทะ แต่เราต้องมีปณิธาน ถ้าใครไม่มีปณิธานคือ คนพาล ส่วนบัณฑิตจะมีปณิธาน ฝากอะไรไว้กับโลกใบนี้ไว้บ้าง ซึ่งผู้มีปัญญาจะรู้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ รู้ประโยชน์ภายหน้าในปัจจุบันและประโยชน์ระยะยาวในอนาคต หรือ การเกื้อกูล เช่น ในปี ๒๕๐๓ มีการสร้างวัดชลประทาน นิมนต์พระหนุ่มชื่อปัญญานันทะมาสร้างประโยชน์โดยตรงแต่ผู้ที่สร้างประโยชน์โดยอ้อมคือกรมชลประทาน ไม่มีวัดชลประทานก็ไม่มีเจ้าอาวาสชื่อปัญญานันทะ เกิดมาทั้งทีต้องมีอะไรฝากไว้ นี่คือ ปณิธานของชีวิต

 

หลวงปัญญานันทะภิกขุมีปณิธานชีวิตอะไรที่เป็นเข็มทิศพาชีวิตไปสู่เป้าหมาย ปณิธานมี ๖ ข้อ จึงทำหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นตำนาน หลวงพ่อปัญญานันทะทำได้จริง ไม่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล หลวงพ่อเสมอต้นเสมอปลาย ปณิธาน ๖ ประการ คือ

๑) อยู่เพื่อพระรัตนตรัย เพื่อรับใช้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลวงพ่อปัญญานันทะอุทิศตนเพื่อพระรัตนตรัย เอาธรรมะเป็นใหญ่ เรียกว่า ธรรมาธิปไตย แต่ถ้าเพื่อตนเองเรียกว่า อัตตาธิปไตย ทำเพื่อเด่นดีเพื่อตนเองเท่านั้น และทำดีเพื่อคนอื่น คนอื่นเป็นใหญ่ เรียกว่า โลกาธิปไตย แต่ถ้าเพื่อความถูกต้องดีงาม เรียกว่า ธรรมาธิปไตย เป็นการขับเคลื่อนของรัชกาลที่ ๕ จะทาสเพราะความถูกต้อง เพื่อสิทธิมนุษยชน ใช้เวลาในการเลิกทาสมาก เพราะมีปณิธานที่มุ่งมั่น หลวงพ่อปัญญาเป็นแม่ทัพธรรมต่อต้านความไม่ถูกต้อง ต่อต้านไสยศาสตร์ หลวงพ่อปัญญานันทะถือธงนำหน้า เป็นธงแห่งธรรมะ มีผลกระทบต่อพระสงฆ์ในปัจจุบัน หลวงพ่อปัญญาถวายจิตวิญญาณไว้ในพระพุทธศาสนา อธิษฐานถวายชีวิตไว้กับพระพุทธศาสนา ถวายกายใจไว้ในพระพุทธศาสนา อธิษฐานและประกาศให้คนอื่นทราบ เหมือนรัชกาลที่ ๕ จะเสด็จประพาสยุโรป กลัวว่าจะไปเปลี่ยนศาสนา พระองค์ทรงประกาศในพระบรมมหาราชวังต่อหน้าพระบรมวงศานุวงต่อหน้าพระสงฆ์ ว่า " ไปยุโรปครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง จะไม่นับถือศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ " มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย เป็นเรื่องที่หนึ่งที่หลวงปัญญาได้กระทำ โดยมีกัลยาณมิตรร่วมเดินทางคือ " พุทธทาส หมายถึง ทาสของพระพุทธเจ้า " บุคคลที่จะทำการใหญ่จึงต้องมีกัลยาณมิตรมีแนวร่วม นโปเลียนมหาราช กล่าวว่า การจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่ต้องมี ๒ สิ่ง คือ ๑) มีศัตรูที่กล้าแข็งที่สุด ๒) มีมิตรที่ซื่อสัตย์ที่สุด หลวงพ่อปัญญาต่อสู้กับความโง่อวิชชาของผู้คน โดยอาศัยกัลยาณมิตรมาช่วย มาอยู่วัดชลประทานก็สร้างธรรมทายาท เพื่อสนองงานเผยแผ่ สร้างแนวร่วมมากมาย สนับสนุนกิจการของมหาจุฬาเพื่อ "ต่อสู้กับความโง่ด้วยการให้การศึกษาของพระสงฆ์สามเณร" และแก่ชาวพุทธทั่วโลก

๒) ประกาศคำสอนแท้ของพระพุทธศาสนา มีคำสอนแท้และคำสอนไม่แท้ เหมือนผลไม้มีเปลือก คำสอนไม่แท้เหมือนเปลือกของผลไม้ เช่น พิธีกรรมต่างๆ คนชอบติดเปลือกผลไม้จึงไม่ได้ประโยชน์สาระของพระธรรม หลวงพ่อปัญญาปอกเปลือกเพื่อนำเนื้อในของผลไม้ คือ แก่นแท้ของพระศาสนา

๓) มีความกล้า การจะปอกเปลืองต้องเป็นบุคคลที่กล้าพูดความจริง ทุกกาลเทศะ พูดความจริงความถูกต้องดีงาม กล้าพูดในความจริงซึ่งเป็นแก่นคำสอนทางพระพุทธศาสนา ท่านต่อสู้กัยไสยศาสตร์

๔) ต่อสู้กับสิ่งเหลวไหลในพระพุทธศาสนา และนำความเข้าใจมาถึงชาวพุทธ โดยยึดพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าทำลายสิ่งเหลวไหลของคนที่มีความเชื่อผิดๆ บางทีปฏิวัติบางทีปฏิรูป ปฏิวัติเรื่องความเชื่อว่าพระพรหมสร้างโลก เชื่ออำนาจงมงาย เชื่อว่าทำบาปมามากมาย ถ้าอยากบริสุทธิ์ก็ลงไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา เป็นการล้างบาป พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ใช่ แบบนี้ปลาเต่าก็ขึ้นสวรค์หมด พระพุทธเจ้าเสนอให้ล้างที่ใจ ในโอวาท คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ผ่องใส พระพุทธเจ้าจรัสว่า " ความบริสุทธิ์และความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นไม่สามารถทำให้เราบริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง " ส่วนปฏิรูป พรหมสี่หน้าก็สนองเรื่องพรหมวิหารธรรม หลวงพ่อปัญญาเดินตามรอยพระพุทธเจ้า พิธีกรรมรักษาไว้แต่ใส่เนื้อหาสาระไว้ เหมือน การสวดศพแต่มีการเทศน์เข้าไปให้ปัญญาด้วย หลวงพ่อปัญญาวางระบบไว้เป็นอย่างดี หลวงพ่อปัญญานันทะรับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลเพราะอยากทำงาน เพราะเป็นวัดที่สร้างใหม่ง่ายต่อการปฏิรูป มีการวางระบบใหม่ ยึดหลักเป็นระเบียบ เรียบง่าย ประหยัด ประโยชน์ ตามพระธรรมวินัย เจ้าอาวาสรุ่นต่อมาต้องรักษาปณิธานไว้

๕) ขอเพียงมีปัจจัย ๔ เลี้ยงชีพ สอดรับกับเศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงมาจากคำว่า จำเป็น บริโภคตามความจำเป็น แต่บางคนบริโถคอาหารด้วยความพอใจ มีคุณค่าแท้คือ มีกำลังกายในการปฏิบัติธรรม แต่อร่อย สีสัน แสดงฐานะทางสังคม เป็นคุณค่าเทียม เหมือนรถเก่าๆ เขียนข้อความว่า" ดีกว่าเดิน " ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นความจำเป็น เหมือนนักศึกษามีกระเป๋าราคาแพง มีความจำเป็นขนาดไหน เป้าหมายเป็นตัวกำหนด หลวงพ่อปัญญาบอกว่า ขอเพียงมีปัจจัย ๔ ในการเลี้ยงกายเพื่อทำงานพระพุทธศาสนา ปณิธานต้องพอเหมาะกับเป้าหมาย บางคนเป้าหมายสูง จึงต้องมีปณิธานสูง พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า " จงสันโดษในการบริโภคปัจจัย ๔ แต่อย่าสันโดษในความดี " รักษาศีล ๕ ได้ก็รักษาศีล ๘ เลื่อนขั้นความดี พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ ๑) ไม่สันโดษในการทำความดี ๒) ไม่ท้อถอยในการบำเพ็ญเพียร หลวงพ่อปัญญานันทะมีครบทั้ง ๒ ข้อ ไม่เคยสันโดษในการทำความดี และไม่ท้อถอยถึงจะเจออุปสรรค

๖) ประพฤติตามหลักธรรม ใครที่มีอุดมการณ์เดียวกันท่านถือว่าเป็นแนวร่วม ท่านออกไปเทศน์ไปสอนด้วยการผูกมิตร เป็นการให้ธรรมทาน ปัจจัยที่ได้จากนิตยภัตถวายมูลนิธิมหาจุฬาเพื่อการศึกษา จับมือสร้างพระธรรมทายาท " ท่านเผยแผ่เองด้วย และจัดการให้คนอื่นเผยแผ่ด้วย " ทำให้หลวงพ่อปัญญาเป็นแม่ทัพนำในการด้านการเผยแผ่ สร้างกัลยาณมิตรให้พระหนุ่มเณรน้อยเดินตาม ประโยคคำพูดหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจ คือ " คนสร้างงาน งานสร้างคน " หลวงพ่อปัญญาท่านเล่าเรื่องความกล้า กล้าด้วยการใช้ปัญญา ซึ่งคนกล้ากับคนบ้าบิ่นมีความแตกต่างกัน คนบ้าบิ่นขาดปัญญา แต่คนกล้ามีปัญญา เหมือนหลวงพ่อปัญญาเป็นพระสงฆ์ที่กล้า

สุดท้ายหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นแม่ทัพธรรมมิใช่ออกส่งคนอื่นออกหน้าอย่างเดียว ท่านทำเองเป็นแบบอย่าง สอนได้ครบ ๔ ส. นักพูด นักเทศน์ นักเผยแผ่ที่ดี ต้องทำได้ ๔ ประการ เหมือนพระพุทธเจ้าเทศน์ คือ ๑) สันทัสสนา สอนได้แจ่มแจ้ง ๒) สมาทปนา สอนได้จูงใจ ๓) สมุตเตชนา สอนให้แกล้วกล้า ๔) สัมปหังสนา สอนได้น่าเริงบันเทิงธรรมไม่น่าเบื่อ ๔ ข้อนี้มีในหลวงพ่อปัญญานันทะ เหมือนคนจะขึ้นบ้านใหม่มาถามหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า ถ้าบ้านมีบันไดขึ้นได้เลย หรือ การเจิมรถ หลวงพ่อบอกว่าเจิมคนขับดีกว่าต้องมีสติอย่าประมาทจะปลอดภัย พระพุทธเจ้าตรัส " ประโยชน์เป็นฤกษ์ยามในตัวดวงดาวจะทำอะไรได้ "เราศรัทธาในท่านหลวงพ่อปัญญานันทะ เพราะ"สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส" สอนอย่างไรทำอย่างนั้น วัดชลประทานเป็นต้นแบบในการเทศน์หรือปาฐกถาในงานศพ วัดอื่นก็เลียนแบบ วัดชลประทานสร้างพระธรรมทายาท วัดประยุรวงศาวาสก็สร้างพระนักเทศน์ หลวงพ่อปัญญานันทะเป็นพระสงฆ์รูปแรกในการยืนปาฐกถา ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในการสอน จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน หลวงพ่อปัญญานันทะมีการสอนที่ทันสมัยมีสื่อการสอน โดยใช้สิ่งรอบข้างเป็นสื่อการสอน ดังนั้น วัดชลประทานเป็นวัดที่หลวงพ่อปัญญาจุดเทียนส่องธรรมให้เราทุกคนเดินตาม ปณิธานของหลวงพ่อยังคงอยู่ด้วยพวกเราเหล่าศิษย์มีการการปฏิบัติบูชาครูอาจารย์ เป็นการบูชาที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญ

ในการนี้พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดี  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสาขาสันติศึกษา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  เปิดเผยว่า เป็นผู้แทนพระพรหมบัณฑิต กรรมกามหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดี  มจร  เดินทางไปที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เพื่อถวายหนังสือแก่พระปัญญานันทมุนี เจ้าอาวาสเพื่อมอบให้พุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาร่วมสลายสรีระของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ 

"ทั้งนี้ ได้ถวายกล่องหนังสือเรื่องปัญญาคู่กรุณา เพื่อทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  สำหรับหนังสือที่เรียบเรียงโดยพระพรหมบัณฑิต ซึ่งทางมหาจุฬาฯจัดพิมพ์ถวายซึ่งประกอบด้วยเรื่องปัญญาคู่กรุณา   ๓,๕๐๐ เล่ม "สติดี กรรมดี ชีวิตดี"  ๒,๐๐๐  เล่ม  มิลินทปัญหา   ๒,๐๐๐  เล่ม ขออนุโมทนาเป็นพิเศษแก่นายภิญโญ ไตรสุริยะธรรมาที่ได้จัดอาร์ตหนังสือ และถวายกล่องหนังสือในครั้งนี้ด้วย" พระมหาหรรษา กล่าว

ขณะที่ในช่วงกลางคืน บรรดาศิษยานุศิษย์ เป็นจำนวนมากได้ร่วมกันบำเพ็ญภาวนา โดยมีพระภิกษุแสดงธรรมตลอดทั้งคืน

สำหรับ พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิขุ เกิดวันพฤหัสบดีที่ 11 พ.ค. 2454 ที่ตำบลคูหาสวรรค์ อ.เมือง จ.พัทลุง ชื่อเดิมว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ เมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จ.ระนอง ก่อนจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ วัดนางลาด จ.พัทลุง ในปี 2474

                หลังอุปสมบทไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในหลายจังหวัด เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และ กรุงเทพมหานคร จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก จากนั้นได้ศึกษาภาษาบาลี จนจบเปรียญธรรม 4 ประโยค และยังใฝ่รู้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน

                หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ มีโอกาสเดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายประเทศ จนได้ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์รูปแรกของเมืองไทยที่ไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป ช่วงหนึ่งท่านไปจำพรรษากับพระพุทธทาสภิกขุ ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี จนร่วมเป็นสหายธรรมเผยแพร่หลักธรรมตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่นั้นมา

                ในปี 2503 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส "วัดชลประทานรังสฤษดิ์" อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หลวงพ่อปัญญานันทภิขุ ได้แตกฉานในหลักธรรม ปฏิบัติศาสนกิจที่เป็นประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งยังเป็นพระนักเทศนาธรรมในไทยและต่างประเทศ

                จนได้รับรางวัล "สังข์เงิน" จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย และรางวัล "นักพูดดีเด่น" ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย ทั้งยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในหลายสาขาวิชา จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยสมณศักดิ์ที่ได้รับสุดท้ายคือ พระพรหมมังคลาจารย์ ในวันที่ 5 ธ.ค.2547

                หลวงพ่อปัญญานันทภิขุ มรณภาพด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2550 ณ โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุได้ 96 ปี 5 เดือน

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ