“แพทย์” แนะ ผู้ป่วยโรคหืดดูแลตัวเองเคร่งครัด .. เสี่ยงอาการหนักถ้าติดโควิด -19

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“แพทย์” แนะ ผู้ป่วยโรคหืดดูแลตัวเองเคร่งครัด .. เสี่ยงอาการหนักถ้าติดโควิด -19


ศ.ดร. พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย(TAC) กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าอัตราการป่วยของผู้ป่วยโรคหืดลดลง แต่อัตราการตายจากอาการร่วมของโรคหืดกลับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากข้อมูลของ worldlifeexpectancy.com  พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหืดวันละ 8-9 ราย คิดเป็น 3,142 รายต่อปี คิดเป็น 3.42 ต่อประชากร 1 แสนคน  ซึ่งผู้ใหญ่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า สาเหตุส่วนใหญ่ คือ ไม่ได้พ่นยาป้องกันหอบต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทัน/ไม่ถูกวิธี เนื่องจากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจและการปฏิบัติที่ถูกต้องเมื่อมีอาการ ดังนั้น ทางสมาคมฯ จึงมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้าใจเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย

โรคหืด เป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ และสามารถรักษาให้หายได้ แต่เป็นอันตรายต่อชีวิตสูงหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ขณะที่ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นโรคหืดเป็นอาการเรื้อรัง รักษาไม่หาย ทำให้ขาดความสม่ำเสมอในการใช้ยา ซึ่งปกติคนไข้จะมียาติดตัว 2 ประเภท คือ 1.ยาควบคุม สำหรับใช้ระยะยาว ช่วยให้รักษาหาย 2.ยาฉุกเฉิน ใช้ในกรณีที่มีอาการหอบกำเริบ ช่วยขยายหลอดลม แต่ในความเป็นจริง โรคหืดสามารถรักษาหาย ยิ่งรักษาเร็วและต่อเนื่องยิ่งมีโอกาสหายสูง โดยในเด็กมีโอกาสหายมากกว่าร้อยละ 50 ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงกว่าเด็กและพ่นยาได้ยากกว่า เพราะบางคนชินกับอาการจนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคหืด ที่สำคัญการรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นต้องสม่ำเสมอเป็นประจำไม่ว่าจะแสดงอาการหรือไม่แสดงก็ตาม และต้องสามารถปรับลด/เพิ่มขนาดของยาตามผลการรักษาโรคได้เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น เบาหวาน ความดัน ไม่แนะนำให้หยุดยารักษาโรคหืดด้วยตัวเอง เพราะจะทำให้อาการกำเริบได้

โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 หลายคนเกิดคำถามว่า โรคหืดจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโควิด-19 หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะผลการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า คนปกติกับผู้ป่วยโรคหืดมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ไม่แตกต่างกัน แต่หากผู้ป่วยโรคหืดได้รับเชื้อโควิด-19 อาจมีภาวะปอดอักเสบรุนแรงมากกว่า กลับกันการใช้ยาสเตียรอยด์สูดพ่นในผู้ป่วยโรคหืดเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 แบบรุนแรง หากแต่เมื่อเป็นโรคหืดแล้ว อัตราการสูญเสียทั้งชีวิต ซึ่งจากสถิติในประเทศไทยมีถึง 7,000 คนต่อปี และคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลารักษาตัว ทำให้สูญเสียโอกาสในการดำเนินชีวิตกรณีที่ป่วยเป็นระยะยาวนาน จากอาการเรื้อรังของโรคมีมากกว่า

ด้าน รศ. นพ. ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ เลขาธิการสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (TAC) ได้กล่าวเสริมว่า เนื่องในโอกาสวันโรคหืดโลก หรือ World Asthma Day ถือได้ว่าเป็นระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่มีการจัดตั้งวันหืดโลกในปี 2541 ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มทำงานทางด้านสาธารณสุข เพื่อพัฒนาการดูแลรักษาโรคหืดให้เกิดมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วโลก โดยมีความเท่าเทียมกันทั้งในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การวินิจฉัย และการรักษา รวมทั้งยังให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรทางด้านการสาธารณสุข  

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าความรู้เกี่ยวกับโรคหืด และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหืดในยุคที่ social media สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการวินิจฉัยการรักษาโรคหืดในบางด้าน ซึ่งจะต้องได้รับการปรับปรุงและแก้ไข เนื่องจากความเข้าใจผิดบางอย่างอาจมีผลต่อการวางแผนการรักษาและการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคหืด 

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการพูดถึงข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งของโรคหืด ที่ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยโรคหืดจำนวนมากที่อาจเข้าใจผิด ซึ่งสมาคมฯ กำลังเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตาม Theme ของ World Asthma Day 2021 ที่มีหัวข้อว่า Uncovering Asthma Misconception หรือ ปลดล็อคความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคนี้  ทั้งนี้ เราจึงอยากเน้นย้ำให้ทุกคนตื่นตัวถึงภัยของโรคหืด พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วย อย่างเป็นระบบในองค์รวมทั้งระดับบุคคล องค์กร สมาคม และประเทศต่อไป

 




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ