“การีนา” ผนึก “กรมสุขภาพจิต” เปิดโครงการ “Game On: Digitally Safe and Sound” มุ่งให้ความรู้เยาวชน-ครอบครัว ร่วมขับเคลื่อนสังคมออนไลน์สีขาวด้วยบอร์ดเกมส์

วันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

“การีนา” ผนึก “กรมสุขภาพจิต” เปิดโครงการ “Game On: Digitally Safe and Sound” มุ่งให้ความรู้เยาวชน-ครอบครัว ร่วมขับเคลื่อนสังคมออนไลน์สีขาวด้วยบอร์ดเกมส์


การีนา จับมือ กรมสุขภาพจิต เปิดตัวโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound มุ่งสร้างสังคมออนไลน์สีขาวที่ปลอดภัยต่อใจทุกคน พร้อมเผยแพร่ชุดภาพยนตร์สั้นภายใต้คอนเซ็ปต์ Be Strong, Be Kind และ Be There และแนะนำบอร์ดเกมส์ “The.Net Threat เกมกลโลกไซเบอร์ที่จะให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง เกี่ยวกับวิธีรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมออนไลน์ ทั้งยังช่วยสานสัมพันธ์คนในครอบครัว ร่วมกันสร้างเกราะป้องกันที่ช่วยปกป้องเยาวชนเมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายบนโลกออนไลน์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายพลังบวก ขับเคลื่อนให้เกิดสังคมออนไลน์สีขาวในวงกว้างต่อไป

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่ (SeaMoney)  กล่าวว่า“ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียนานขึ้น ทั้งยังเสพข้อมูลข่าวสารและเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากโลกออนไลน์มากขึ้น การีนา ในฐานะที่เป็นพื้นที่ของเด็กและเยาวชนจำนวนมาก จึงเห็นว่าการปลูกฝังให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและเข้าใจการรับมือผลกระทบจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ และครอบครัวมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการดูแล ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้พวกเขาสามารถก้าวข้ามความท้าทายบนโลกออนไลน์ไปได้เราจึงจัดทำโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ความรู้ และความเข้าใจกับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ในการสร้างสังคมออนไลน์สีขาว โดยใช้ดิจิทัลคอนเทนต์ในรูปแบบชุดภาพยนตร์สั้น รวมถึงบอร์ดเกมเป็นสื่อกลางการสื่อสารไปสู่เยาวชนและผู้ปกครอง รวมถึงเป็นตัวกลางช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในครอบครัว เพราะเราเชื่อว่าครอบครัวเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

จากผลการศึกษา Child Online Safety Index (COSI) ประจำปี 2563 โดย DQ Institute ที่วัดระดับความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของเด็กอายุ 8-12 ปี จาก 30 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้สะท้อนให้เห็นว่า ด้านที่ไทยต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ คือ ด้าน “Cyber Risks” หรือ “การจัดการความเสี่ยงบนโลกออนไลน์” โดยควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการรับมือหากโดนคุกคามบนโลกออนไลน์ การติดต่อกับคนแปลกหน้าที่ไม่ปลอดภัย และพฤติกรรมออนไลน์ที่เสี่ยงต่อการเสียชื่อเสียง อีกด้านหนึ่งที่ต้องมุ่งเน้นพัฒนาเป็นพิเศษ ได้แก่ ด้าน “Digital Competence” หรือ “ความรู้และทักษะดิจิทัลที่จำเป็นบนโลกออนไลน์” โดยควรให้ความสำคัญกับทักษะเหล่านี้เป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ ทักษะการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองในโลกออนไลน์ (Digital Identity) การรับมือกับการโดนคุกคามบนโลกออนไลน์ การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์

 

ด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราทุกคน สิ่งที่เกิดขึ้นได้บนโลกแห่งความเป็นจริงก็ย่อมเกิดได้บนโลกออนไลน์ โดยอาจส่งผลกระทบทั้งในแง่บวกและแง่ลบ เด็กและเยาวชนก็อาจเผชิญกับปัญหา Cyberbullying หรือ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่โดนแกล้ง ทำให้เกิดภาวะของโรคซึมเศร้า โรคเครียด วิตกกังวล และสมาธิสั้น และอาจจะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา

ดังนั้น กรมสุขภาพจิตจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกับการีนา ในการจัดทำโครงการ Game On: Digitally Safe and Sound เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบจากสังคมออนไลน์ และช่วยให้เข้าใจการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีคุณภาพ พร้อมดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้ดียิ่งขึ้น โดยให้ความรู้กับผู้ปกครองด้วย เพราะครอบครัวคือด่านแรกที่จะปลูกฝังให้เด็กมีความเข็มแข็งทางด้านจิตใจ เพื่อจะช่วยป้องกันและรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนได้”

อย่างไรก็ตาม บอร์ดเกมดังกล่าวสอดแทรกเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Cyberbullying เพื่อให้เยาวชนและครอบครัวเข้าใจและแยกแยะได้ว่าพฤติกรรมรูปแบบใดบ้างที่ถือเป็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ผลกระทบจาก Cyberbullying ต่อสุขภาพจิตในด้านต่างๆ เช่น สูญเสียความมั่นใจ ซึมเศร้า หรือเกิดความเครียด ไปจนถึงวิธีการรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับความคิดตนเอง การแจ้งปัญหากับผู้ดูแล เช่น คุณครู และการพูดคุยและขอความช่วยเหลือจากครอบครัว

อีกทั้งการีนาและกรมสุขภาพจิตยังได้พัฒนาภาพยนตร์สั้นในคอนเซ็ปต์ Be Strong, Be Kind,Be There เพื่อสร้างความตระหนักทั้งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง ถึงความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมพลังบวก และสานสัมพันธ์เยาวชนและครอบครัว ให้พร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง ภาพยนตร์สั้นในคอนเซ็ปต์ Be Strong และ Be Kind เจาะกลุ่มเด็กและเยาวชน โดย Be Strong มุ่งเน้นการแนะนำ 3 เทคนิคการรับมือกับผลกระทบบนโลกออนไลน์และเรียนรู้ที่จะเปิดรับมุมมองในแง่บวกเพื่อสุขภาพจิตที่ดีกว่าที่เคย ด้านภาพยนตร์สั้น Be Kind จะให้ความรู้เกี่ยวกับการเสริมสร้างพลังบวก ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมออนไลน์สีขาว ด้วย 3 บทบาทที่ช่วยให้สังคมออนไลน์ดีขึ้น สำหรับภาพยนตร์สั้นBe There จะเน้นเข้าถึงกลุ่มผู้ปกครองเป็นหลัก เพื่อให้เข้าใจผลกระทบจากโลกออนไลน์และร่วมเคียงข้างสนับสนุนให้บุตรหลานสามารถก้าวข้ามความท้าทายในโลกออนไลน์ได้ ด้วย 3 สเต็ปการเข้าสังคมออนไลน์เวอร์ชั่นคนในครอบครัว

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเสวนาหัวข้อ “สร้างภูมิคุ้มกัน เสริมพลังบวก สานสัมพันธ์ครอบครัว พร้อมรับมือผลกระทบบนโลกออนไลน์ เพื่อสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย (Be Strong, Be Kind, Be There)” โดยมี คุณเบเบ้ - ธันย์ชนก ฤทธินาคา นักร้องและนักแสดงสาวสายเฮลท์ตี้ พร้อมด้วยคุณอาร์ตโตะ - วิศรุตต์ ปองธนพิสิฐ Assistant Manager Game Operation บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) ผู้แทนจากวงการเกมออนไลน์ และ ดร.นพ.วรตม์  โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและโฆษกกรมสุขภาพจิต มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ และแนะนำการรับมือกับผลกระทบต่างๆ บนโลกออนไลน์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถนำไปปรับใช้กับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมบนโลกออนไลน์ให้ปลอดภัย




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ