จากหัวข้อด้านบนหลายคนอาจสงสัย ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น เพราะทั้งไข้หวัดใหญ่รุ่นพี่ และเพื่อนรุ่นน้องอย่างโควิด-19 เป็นโรคติดต่อจากระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันตรงไวรัสที่เป็นสาเหตุการติดเชื้อมาจากไวรัสคนละชนิดกัน สำหรับไข้หวัดใหญ่เกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่วนโควิด-19 เกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่พบในปี 2019 และเป็นที่ทราบกันดีอีกว่าโรคโควิด-19 นั้น สามารถแพร่กระจายและติดต่อได้ง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่
ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วภาษีความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยบางส่วนจะมากกว่าเยอะ และแน่นอนว่าการจะวินิจฉัยแยกโรคการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดออกจากกัน ลำพังการดูจากประวัติ และอาการ หากการแสดงอาการไม่เพียงพอที่บอกได้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมจะต้องทำการตรวจ การทดสอบโรคทุกครั้งหากมีอาการที่ชวนสงสัย โดยในวันนี้จะกล่าวถึงข้อมูลพื้นฐานของโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อนรุ่นพี่ซึ่งอินเทรนด์ในช่วงหน้าฝนที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย
โดย นพ.ณฐนัท ช่างเงินชญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล โดยรวบรวมไว้ในบทความให้ความรู้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการติดต่อ สาเหตุ อาการ กลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่รู้จักกันดี และเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากสำหรับคนไทย เมื่อเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้อีก สามารถติดต่อได้ง่าย จึงทำให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น ถึงแม้ไข้หวัดใหญ่จะไม่มีความรุนแรงสำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง แต่ก็มีผลทำให้ไม่สบาย ไม่สามารถไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้ อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือภูมิต้านทานต่ำ โรคอาจจะเกิดความรุนแรงได้
สำหรับประเทศไทยสามารถพบไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งจะตรงกับกับระยะเวลาการเปิดภาคเรียนแรก ส่งผลให้มีการระบาดมากในสถานศึกษา หลังจากนั้นจะพบมากอีกครั้งในช่วงฤดูหนาวหลังปีใหม่จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่การระบาดในช่วงนี้มักจะไม่สูงเท่ากับกับการระบาดในช่วงฤดูฝน
โดยในช่วง 2 ปีที่มีระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ทำให้พบว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และโรคไวรัสก่อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ลดลงอย่างมาก ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะมีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น การเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การดูแลทำความสะอาดมือ และการเว้นระยะห่างมากขึ้น
สำหรับการติดต่อโรคของไข้หวัดใหญ่ จะเป็นการติดต่อจากละลองฝอยขนาดใหญ่ หรือขนาดเล็กจากผู้ที่ติดเชื้อแล้ว และมีการไปสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ แล้วไปสัมผัสโดนเนื้อเยื่อบุตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ตา จมูก ปาก หรือการหายใจเข้าไป โดยระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อไวรัสอยู่ที่ 1-4 วัน หลังจากสัมผัสโรค (โดยเฉลี่ยประมาณ 2 วัน) เชื้ออาจจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ตั้งแต่วันแรกก่อนมีอาการ จนถึงช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังการติดเชื้อ หลังจากนั้นประมาณ 5-10 วัน ปริมาณเชื้อจะลดลงจนไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้ แต่ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่อ้วน หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจตรวจพบเชื้อได้นานเป็นหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน
ส่วนสาเหตุไวรัสไข้หวัดใหญ่ก่อนที่จะกลายมาเป็นโรคในคน มีสาเหตุมาจากเชื้อ Human Influenza Virus A, B, C โดยชนิด C พบได้น้อยจึงไม่ได้กล่าวถึง เริ่มต้นจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะพบอยู่ 2 ชนิดย่อยที่สำคัญคือ ชนิด H1N1 และอีกชนิดคือ H2N3 ที่ยังวนเวียนก่อโรคไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์มาตลอด ส่วนที่เหลือมากกว่า 130 สายพันธุ์ จะก่อโรคในสัตว์ เช่น นก หมู และอื่น ๆ ในอนาคตยังพยากรณ์ไม่ได้ว่าจะมีการติดต่อมาแพร่ระบาดสู่คนได้เมื่อไหร่ โดยจากประวัติการระบาดในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้น ได้มีการระบาดใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 2009 เป็นที่รู้จักกันดีคือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009 ซึ่งสายพันธุ์นี้ยังคงมีการระบาดมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สามารถกลายพันธุ์ได้ทีละเล็กทีละน้อย จึงทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่มีอยู่ได้ เป็นที่มาของการทำให้ติดเชื้อซ้ำ ส่วนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่ในคนเท่านั้น และยังไม่พบการระบาดใหญ่ โดยมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ Victoria และสายพันธุ์ Yamagata
ส่วนอาการผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการจับไข้เฉียบพลัน วัดไข้ได้ตั้งแต่ 37.8 จนสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอแห้ง ๆ และอาจพบอาการร่วมอื่น ๆ เพิ่ม เช่น อาการอ่อนเพลีย คัดจมูก เจ็บคอ ปวดศีรษะ ในผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ค่อยพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยอาการและความรุนแรงของโรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยกอย่างเช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือ ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจจะตามมาด้วยอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกโคลงเคลง โดยมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเล็กน้อย ไม่มีไข้ แต่จะมีอาการเซื่องซึมลงได้
กลุ่มเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่
• เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
• ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
• สตรีตั้งครรภ์
• ผู้ที่มีภาวะอ้วน ดัชนีมวลกายมากกว่า 30 kg/m2
• ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหืด โรคถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน
• ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น กินยากดภูมิต้านทาน เคมีบำบัด รังสีบำบัด หรือโรคที่ทำให้ระบบภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคมะเร็ง และ โรคติดเชื้อเอชไอวี
หากสงสัยว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจ swab เข้าทางจมูก หรือโพรงจมูกด้านหลัง เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หลังจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา โดยทั่วไปถ้าเป็นผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงดี แพทย์จะให้รักษาตามอาการ ประคับประคองรอเวลาให้ร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสให้หมด ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น การดูแลจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ หากมีความจำเป็นในกรณีที่เข้าสู่วันที่ 2-3 แล้วอาการไม่ดีขึ้น ไข้ ไอหอบ ที่จะบ่งบอกถึงอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ในบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพื่อลดจำนวนของไวรัสในการที่จะเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจภายใน 48 ชั่วโมงแรก
สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่แตกต่างไปจากการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่เราทราบกันเป็นอย่างดี คือผู้ป่วยควรพักอยู่ที่บ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น หมั่นล้างมือ ใช้แอลกอฮอล์เจล เวลาไอ หรือจาม ต้องปิดปากและจมูกเสมอ
สำหรับการป้องกัน
• ในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่จะต้องดูแลสุขอนามัย และทำร่างกายให้แข็งแรง หมั่นล้างมือก่อนสัมผัสใบหน้า รับประทานอาหารที่สะอาด หรือที่เรียกว่า กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ โดยล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ในกรณีที่ไม่มีน้ำ เพราะแอลกอฮอล์สามารถทำลายเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
• ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องให้ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง สำหรับประเทศไทยควรให้วัคซีนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ประมาณช่วงปลายเดือนเมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยสายพันธุ์ของไวรัสที่อยู่ในวัคซีนจะใช้สายพันธุ์ของวัคซีนซีกโลกใต้เป็นหลัก
ท่านผู้อ่านคงจะได้ทราบข้อมูลพื้นฐานของโรคไข้หวัดใหญ่กันแล้ว และสามารถมองภาพไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากในสังคมปัจจุบันเราคงหลีกเลี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 แทบไม่ได้ เพราะทั้งคู่เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวท่านผู้อ่านทุกคนมาก ดังนั้น การป้องกันความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด นอกจากเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย และการรักษาระยะห่างทางสังคมแล้ว อย่าลืมรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปีกันด้วยนะครับ เพราะการรับวัคซีนจะช่วยบรรเทาอาการป่วยได้มาก หากท่านมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือในบางรายที่ติดเชื้อไม่มากอาจจะไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคงไม่มีท่านผู้อ่านคนไหน อยากติดเชื้อไวรัสของทั้งสองโรคพร้อม ๆ กัน เพราะนั่นอาจจะเป็นหายนะทางด้านสุขภาพของท่านได้ ฉะนั้น ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ครับ