นายชูวิทย์ วัยศิริโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด เปิดเผยว่า “ร้านยากรุงเทพ” ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 โดยเปิดให้บริการสาขาแรกที่สุขุมวิท 71 เพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลและเป็นที่พึ่งให้ประชาชนดูแลสุขภาพและรักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอคิวที่โรงพยาบาลรัฐในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยชูแนวคิด “เพราะเราห่วงใยคุณ” นับเป็นร้านยาอันดับต้น ๆ ที่เปิดจำหน่ายยา พร้อมให้คำปรึกษาโดยเภสัชกร 24 ชั่วโมง และในปี 2564 ได้พัฒนาและเปิดให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ผ่านแอปพลิเคชัน “ร้านยากรุงเทพ” เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ที่กักตัวสามารถลดความเสี่ยงในการออกจากบ้านมาซื้อยา
สำหรับปี 2565 ร้านยากรุงเทพได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 กับบทบาทการเป็นร้านขายยามาตรฐานสำหรับชุมชนที่ช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ในการดูแลกลุ่มอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ปัจจุบันมีสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 80 สาขา เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง มีเภสัชกรมากกว่า 200 คน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพกว่า 3,000 รายการ แอปพลิเคชันมีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 200,000 ราย โดยแอปพลิเคชัน “ร้านยากรุงเทพ” จะเชื่อมต่อเภสัชกรทุกสาขาของร้านยากรุงเทพ เพื่อให้คำปรึกษาและบริการตามหลักเภสัชกรรมคลินิค ผ่านการแชท โทรหรือวิดีโอคอล ซึ่งทุกรายที่จะจำเป็นต้องใช้ยาจะต้องพูดคุยกับเภสัชกรเพื่อให้คำปรึกษา บันทึกประวัติ และติดตามให้คำแนะนำเพิ่มเติมด้วยระบบยืนยันการรับสินค้า
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับพันธมิตรที่แพลตฟอร์มมีระบบบริการสุขภาพด้านต่าง ๆ อาทิ ระบบ Telemedicine จาก Skin X, Mordee และ Hibro เพื่อรับใบสั่งแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือปรึกษาแพทย์จากที่สาขาร้านยากรุงเทพ, Ai ที่ช่วยคัดกรองอาการ จาก AGNOS, อุปกรณ์ดิจิทัลวัดค่าสุขภาพจาก Touch Good Health, ตู้จำหน่ายยาสามัญอัตโนมัติ Medis, และแอปพลิชันพันธมิตรที่ต้องการเพิ่มบริการด้านสุขภาพให้กับลูกค้า ที่เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชัน “ร้านยากรุงเทพ” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพให้ครอบคลุมมากขึ้น
ในโอกาสครบรอบ 24 ปี “ร้านยากรุงเทพ” ได้จัดงานเสวนา “The Next Normal Pharmacy 24 ปี ร้านยากรุงเทพ” เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านการดูแลสุขภาพ ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ เทคโนโลยีกับการเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมบทบาทเภสัชกร ร้านขายยาประตูสู่การเชื่อมต่อแพทย์ทางไกล และบริการสุขภาพ 360 องศา ขยายการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมเปิดวิสัยทัศน์ด้านระบบบริการสุขภาพไทยยุคใหม่ โดยนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย “ร้านยากรุงเทพในความทรงจำ” การร่วมออกบูธของพันธมิตรธุรกิจด้านการบริการสุขภาพ ณ ห้องประชุมสยามมกุฎราชกุมาร ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ นายชูวิทย์ ยังกล่าวถึงเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนไทยด้วยว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 รวมถึงโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้บริโภคกว่า 30-40% เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับยา และคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดยาปี 2565 จะอยู่ที่ 2.33-2.38 แสนล้านบาท เติบโต 3-5% เนื่องจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความซับซ้อนของโรคและเทคโนโลยี ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และความต้องการยารักษาโรคที่เพิ่มขึ้นตามความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มีมากขึ้น ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการสุขภาพแบบครบวงจร โดยเฉพาะบริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) และแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ร้านยากรุงเทพ ดำเนินธุรกิจด้วยเป้าหมายการเป็นร้านขายยามาตรฐานที่ดูแลสุขภาพเบื้องต้นของผู้คนในชุมชนให้สามารถเข้าถึงยารักษาโรคได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเปิดบริการร้านยากรุงเทพสาขาแรกในปี 2541 และดูแลลูกค้า 24 ชั่วโมง มาตลอด 24 ปี ปัจจุบันร้านยากรุงเทพสามารถดูแลคนในชุมชนได้เดือนละประมาณ 700,000 คน และเติบโตบนพื้นฐานสำคัญคือ การช่วยให้ลูกค้าดูแลสุขภาพเบื้องต้นอย่างปลอดภัยและทั่วถึง พร้อมบริการที่มากกว่าการเป็นเพียงร้านขายยา ด้วยการพัฒนาระบบในร้านอย่างต่อเนื่อง เช่น ระบบประวัติลูกค้าเชื่อมต่อข้อมูลทุกสาขา ระบบป้องกันการแพ้ยา หรือ Drug Smart Alert จนถึงระบบ Telepharmacy กับแอปพลิเคชัน ร้านยากรุงเทพ ในปัจจุบัน”
“ร้านยากรุงเทพมีแผนจะเพิ่มบริการด้านสุขภาพใหม่ ๆ มาให้บริการเพิ่มมากขึ้น และจะปรับสัดส่วนสินค้าและบริการของร้านยากรุงเทพ จากการรักษาไปสู่การป้องกันมากขึ้น ซึ่งเป็นภาพของร้านขายยายุคใหม่ในการเป็นศูนย์บริการสุขภาพเบื้องต้นสำหรับชุมชน โดยมีเทคโนโลยีเป็นบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพ และเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งร้านขายยาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศด้านสาธารณสุข (Healthcare Ecosystem) ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐาน และบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย ไม่จำกัดขอบเขตพื้นที่และเวลา ได้มากยิ่งขึ้น”