สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ร่วมกับ ไอคอนสยาม แลนด์มาร์กระดับโลกริมแม่น้ำเจ้าพระยา ชวนยกระดับความคิดสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม ผ่านการจัดเทศกาลศิลปะแห่งกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Art Festival (BAF) ครั้งที่ 9 ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 6 - 10 มีนาคม 2567 เวลา 16.00 – 22.00 น. ณ ริเวอร์ พาร์ค ไอคอนสยาม
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับ ไอคอนสยาม จัดงานเทศกาลศิลปะกรุงเทพ ครั้งที่ 9 หรือ Bangkok Art Festival (BAF) สำหรับความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ศิลปะร่วมสมัย ให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคนไทยให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิต ต่อยอดธุรกิจและสร้างอาชีพจากผลิตผลทางวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งส่งเสริมให้นำมิติทางวัฒนธรรมสร้างรายได้เชื่อมโยงการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปะร่วมสมัยให้แก่ประชาชนและผู้ซื้อโดยตรง เพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงงานศิลปะร่วมสมัยได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการเสริมทัพความแข็งแกร่งและยกระดับงานศิลปะร่วมสมัย ศิลปินและนักออกแบบไทย อาทิ ศิลปินศิลปาธร นักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นความยั่งยืน เครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทั่วประเทศ ฯลฯ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสร้างสรรค์มีพื้นที่ในการเผยแพร่ จัดแสดง และจำหน่ายผลงานของตนเอง เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยและความเป็นไทย พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้คนไทยสามารถนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างรายได้ และต่อยอดสู่เวทีโลกต่อไปได้
ภายในงานดังกล่าว ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย อาทิ การสาธิตงานศิลปะร่วม
สมัย (Workshop) (เข้าร่วมฟรี) รับชมการแสดงดนตรีร่วมสมัยจากศิลปินเครือข่าย ตลอดจนร้านค้าจำหน่ายสินค้ากว่า 40 แบรนด์ในกิจกรรมตลาดนัดศิลปะ (Art Market) เช่น
แบรนด์ House of Upa-In โดยอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ บัณฑิตหญิงคนแรกของคณะจิตรกรรมและประติมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินแห่งชาติหญิง สาขาทัศนศิลป์ คนแรกของประเทศไทย พร้อมด้วยคุณอิศร์ อุปอินทร์ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ นำเสื้อผ้าลวดลายผลงานภาพวาดของศิลปินมาจำหน่ายภายในงาน
Tanee Siam (ตานีสยาม) กระเป๋าหนังกาบกล้วย แบรนด์ของกอล์ฟ-ธนกร สดใส นักออกแบบจากจังหวัดราชบุรี โดยตั้งใจนำคุณสมบัติของวัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง กล้วยตานีหรือกล้วยที่ได้รับฉายาว่า ‘ราชินีกล้วย’ มาอนุรักษ์และต่อยอดพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ อย่างกระเป๋า หมวกหรือผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ โดยมีคุณภาพทัดเทียมกับหนังในอุตสาหกรรม ซึ่งมีอายุการใช้งานราว 5-10 ปี โดยตานี 1 ต้น ต่อกระเป๋า 1 ใบ คือลวดลายแต่ละใบจะไม่เหมือนกันเลย เป็นลวดลายที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการผลิตถึง 16 ขั้นตอนโดยมีคีย์หลักคือการ “กรีด ตาก รีด ต่อ” ที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะตัว เพราะแต่ละขั้นตอน ผลิตผ่านสองมือช่างที่นอกจากทักษะฝีมือต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติอยู่ด้วย
Yano แบรนด์ของคุณนครินทร์ ยาโน ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ ผู้นำงานออกแบบ เสื้อผ้าเพื่อสร้างรายได้ช่วยเหลือชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้าน คนว่างงานและผู้สูงอายุในชุมชนต่างๆ ภายใน จ.เชียงใหม่และใกล้เคียงโดยดึงเอกลักษณ์ของเครื่องนุ่งห่มแห่งล้านนามาประยุกต์ให้ร่วมสมัย อย่างเตี่ยวสะดอหรือกางเกงขายาวสามส่วนย้อมสีน้ำเงินหรือดำ เสื้อผ้าฝ้ายทอคอกลมผ่าครึ่งอก ผ้าถุง เสื้อคอกลมแขนกระบอกผ่ากลางตลอด ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ ปรับรูปแบบให้ทันตามเทรนด์เสมอ อย่างเสื้อคลุมขนาดใหญ่ (โอเวอร์ไซซ์-Over Size) ที่กำลังได้รับความนิยมเนื่องจากสวมใส่ได้โดยไม่จำกัดเพศ (ยูนิเซ็กซ์-Unisex) ยาโนฯ ก็ผลิตโดยเพิ่มสเน่ห์กลิ่นอายอัตลักษณ์ภาคเหนือ Alexgust ศิลปินสาขาทัศนศิลป์ จำหน่ายผลงานภาพวาดที่มีรูปแบบและสไตล์ของตนเอง โดยเน้นการวาดภาพเหมือน นอกจากนี้ยังมีบูธจำหน่ายสินค้างานศิลปะ งานคราฟท์อีกมากมายให้เลือก