ลมหายใจเหม็น กลิ่นปากเรื้อรัง สัญญาณเตือนของโรคทางเดินอาหาร

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ลมหายใจเหม็น กลิ่นปากเรื้อรัง สัญญาณเตือนของโรคทางเดินอาหาร


กลิ่นปาก เป็นปัญหาสุขอนามัยในช่องปากที่หลายคนต้องพบเจอ พร้อมกับความรู้สึกไม่ดี ที่ทำให้ขาดความมั่นใจเวลาออกไปพบเจอใคร แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า กลิ่นปาก ไม่ได้เกิดจากปัญหาในช่องปากเพียงอย่างเดียว อาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ที่ควรรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงและคืนความมั่นใจให้กับตัวเอง

นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า กลิ่นปาก (Halitosis) หรือการที่ลมหายใจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก หากมีเศษอาหารตกค้างอยู่ในช่องปาก แบคทีเรียจะทำให้เกิดการเน่าบูด ส่งผลให้เกิดกลิ่นปากได้ แต่ถ้ากลิ่นนั้นคงอยู่นานหรือเป็นอยู่อย่างเรื้อรัง แสดงว่าอาจมีโรคหรือความผิดปกติอื่นเกิดขึ้นซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ในการเกิดกลิ่นปากประมาณ 90 % มาจากภายในช่องปาก เช่น แผลในช่องปาก ฟันผุ เหงือกอักเสบ ส่วนอีก 10 % มีสาเหตุมาจากภายนอกช่องปาก คือ ระบบทางเดินหายใจ ไซนัส โพรงจมูกที่ทำให้มีการอักเสบ หรือระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น และมีกลิ่นปาก

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการตรวจปัญหากลิ่นปากจากระบบทางเดินอาหารด้วยเครื่องตรวจลมหายใจ (Hydrogen Breath Test) ที่สามารถช่วยวินิจฉัยสาเหตุของกลิ่นปากที่เกิดจากปัญหาในระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้
 การตรวจด้วยเครื่องตรวจลมหายใจ (Hydrogen Breath Test) จะใช้หลักการตรวจหาก๊าซที่ผลิตจากแบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งจะซึมผ่านเข้ากระแสเลือดและปล่อยออกทางลมหายใจ โดยก๊าซที่ตรวจนั้น ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน และก๊าซมีเทน
ขั้นตอนการตรวจเริ่มด้วยงดอาหารและน้ำก่อน 12 ชั่วโมง จากนั้นให้รับประทานสารที่ใช้ในการตรวจแยกโรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แพทย์สงสัย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสงสัยภาวะแบคทีเรียในลำไส้มากเกิน ก็จะให้รับประทานน้ำตาลกลูโคสหรือสารแลคตูโลส จากนั้นจะให้ผู้ป่วยเป่าลมหายใจใส่ในถุงตรวจ ทุกๆ 15 นาที จนครบ 120 นาที แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ต่อไป
หลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง แพทย์ก็จะได้ทำการรักษาอย่างตรงจุด เช่น เกิดปัญหากลิ่นปากจากภาวะแบคทีเรียเกินในลำไส้ก็สามารถรักษาให้หายได้ 

โดยการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดปริมาณเชื้อในลำไส้ ร่วมกับการให้ยาปรับการเคลื่อนไหวลำไส้และแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ส่งเสริมให้เกิดแบคทีเรียในลำไส้เติบโต (FODMAPS) ได้แก่ อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตที่ดูดซึมได้น้อยในลำไส้เล็กและผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่จนกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย เช่น กระเทียม หอม ถั่ว กะหล่ำ น้ำเชื่อมเข้มข้น แอปเปิ้ล มะม่วง พรุน และน้ำตาลเทียม เป็นต้น  ข้อดีของการตรวจด้วยเครื่องตรวจลมหายใจ (Hydrogen Breath Test) เป็นการตรวจที่ไม่ต้องเจ็บตัว เพราะไม่ต้องเจาะเลือดหรือส่องกล้อง เพียงใช้แค่การเป่าลมหายใจ ใช้เวลาไม่นาน มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคได้ดี  

อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตอาการตัวเองว่าเริ่มมีกลิ่นปากหรือมีกลิ่นลมหายใจแปลกๆ เรื้อรังจนอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา เพราะการมีกลิ่นปากอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายได้
 




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ