ถนนทุกสายมุ่งสุ่ตัวเมืองแพร่ ยิ่งใหญ่สมการรอคอยกับการปิดเมืองจัดงานเฟสติวัลระดับประเทศเฉลิมฉลองเทศกาลมหาสงกรานต์ ผู้คนแตะหลักแสนออกมาสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน สืบสานวัฒนธรรมประเพณี อวดโชว์ความแข็งแกร่งซอฟท์พาวเวอร์ ตื่นตาตื่นใจไปกับชบวนแห่คาร์นิวัล กรี๊ดสนั่นคอนเสิร์ตศิลปินระดับชาติ ตอกย้ำความเป็นเมืองสร้างสรรค์ประตูล้านนา สู่เป้าหมายการยกระดับเป็นเมืองหลักทางการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้าคึกคัก ผู้ประกอบการนักธุรกิจตลอดจนพ่อค้าแม่ขายรายย่อยชื่นมื่น คาดสร้างรายได้ให้กับจังหวัดไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
งานสงกรานต์ปี๋ใหม่เมืองพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 2568 โดยผู้คนทั้งที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองและที่เดินทางมาจากต่างอำเภอ ตลอดจนนักท่องเที่ยวเข้าร่วมละเล่นสงกรานต์ สาดน้ำตามท้องถนนทุกสายในตัวเมือง ขณะที่ไฮไลต์อยู่ที่งานเฟสติวัล Indigo Blue City : Phrae Splash Festival 2025’ ภายใต้รูปแบบการจัดงานเฟสติวัลปิดเมืองเล่นน้ำ บริเวณถนนเจริญเมือง ย่านเศรษฐกิจหลักใจกลางเมืองแพร่ สาดความสุข ตระการตาไปกับขบวนแห่สะท้อนเสน่ห์ไทย คาร์นิวัลโชว์พลังแห่งผ้าไทย แฟชั่น และ Indigo fabric ร่วมสมัย สีสันวัฒนธรรมเมืองแพร่ ขบวนแห่ของกลุ่ม LGBTQ สะท้อนสีสันคัลเลอร์ฟูลเฉลิมฉลองปีแห่งการสมรสเท่าเทียม พร้อมด้วยปาร์ตี้ฟรีคอนเสิร์ตแสง สีเสียงและระบบน้ำแบบจัดเต็ม เรียกคลื่นมหาชนมาร่วมสนุกสนานไปกับศิลปินดัง URBOYTJ , MILLI Fellow Fellow , MEAN เอม วิทวัส และ ยีนส์ The Voice พร้อมวงดนตรีท้องถิ่น ประชันกันถึง 2 เวทีใหญ่ ยาวสุดถนนตั้งแต่บริเวณข่วงน้ำคือ จนถึงวงเวียนประตูชัยตลอดเที่ยงวันยันตีสอง
สำหรับการเปิดงานในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดการเฉลิมฉลองสงกรานต์เฟสติวัล พร้อมด้วย นายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ นายไพรัชช์ ทุมเสน ผู้อำนวยการกองสร้างสรรค์กิจกรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายภูวษา สินธุวงค์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และนายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.แพร่ นลฯ
ขณะที่ นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.แพร่ กล่าวถึงความสำเร็จของการจัดกิจกรรมเฟสติวัลสงกรานต์ ภายใต้กิจกรรมโครงการ Indigo Blue City : Phrae Splash Festival 2025 ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ว่า เป็นหนึ่งในกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดแพร่ ซึ่งมุ่งเน้นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองแพร่ ไปพร้อมการนำเสนอเรื่องราวความหลากหลายของกิจกรรม ที่เกี่ยวเนื่องไปกับพลังแห่ง Soft Power ไม่ว่าจะเป็น Food, Fashion, Festival เพื่อสร้างภาพลักษณ์อันดีของเมืองแพร่ ในฐานะเมืองน่าเที่ยวที่มีศักยภาพความพร้อมสู่การยกระดับขึ้นเป็นเมืองหลัก
"การจัดงานได้ปิดฉากลงอย่างงดงาม สร้างความสุข ความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่มาร่วมเฉลิมฉลองปี๋ใหม่เมืองแพร่ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เกิดความคึกคัก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยปริมาณห้องหัก ทั้งโรงแรม รีสอร์ท และโฮมสเตย์ จำนวนเกือบ 3,000 ห้องเต็มตั้งแต่ก่อนเทศกาลสงกรานต์แล้ว โดยเฉพาะช่วงวันที่ 16-17 เมษายน 2568 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของการจัดงานสงกรานต์ในพื้นที่ภาคเหนือ สร้างปรากฎการณ์ความคึกคักทางเศรษฐกิจ เกิดเม็ดเงินไหลเวียนในจังหวัดเป็นอย่างดี เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และผู้ประกอบการในด้านท่องเที่ยวต่างยืนยันถึงความสำเร็จของการจัดกิจกรรมสงกรานต์ปี 2568 เป็นอย่างดีว่า กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้กลับมาคึกคักได้เกินความคาดหมาย โดยคาดการณ์ว่า ภาพรวมของรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท"