เปิดตัว “ดิจิทัลเพทซีที” ตรวจวินิจฉัยมะเร็ง ระบบประสาทและหัวใจ

วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2562

เปิดตัว “ดิจิทัลเพทซีที” ตรวจวินิจฉัยมะเร็ง ระบบประสาทและหัวใจ


ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ เป็นปีที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการเปิดดำเนินงาน โดยในปีนี้ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ก็จะมีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ที่จะนำมาใช้ให้บริการประชาชนที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตลอดจนนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการการแพทย์ การสาธารณสุข และการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบรับความต้องการของประเทศไทยอย่างครบวงจร และเพื่อให้สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติสู่ประเทศไทย 4.0 ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ จึงได้เปิดตัวเครื่อง “ดิจิทัลเพทซีที” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เปิดตัวให้บริการเป็นแห่งแรกในเอเชีย เพื่อรองรับการให้บริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหัวใจ ของประเทศไทย

ด้าน รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เผยว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีการสร้างภาพทางด้านการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างภาพในระดับโมเลกุลของเวชศาสตร์นิวเคลียร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจด้วย Positron Emission Tomography (PET) ก็มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการผลิตสารเภสัชรังสีที่มีการพัฒนาอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลที่ทันสมัยและมีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น ดิจิทัลเพทซีที (Digital PET/CT) Biograph Vision เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดที่มีคุณสมบัติสามารถทำการเก็บข้อมูลแบบ dynamic whole body แบบ real time ได้ เพื่อนำมาสร้างภาพและสามารถบ่งชี้ถึงระดับเมตตาบอลิซึมของสารเภสัชรังสีออกมาเป็นค่าเชิงตัวเลขได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำให้สามารถประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสูงสุด 

โดยคุณสมบัติของเครื่อง มีการตอบสนองที่ดีต่อรังสีความแรงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้กับสารรังสีหลายชนิดมากขึ้น มีขนาดคริสตัลที่ใช้ในการทำหัวนับวัดรังสีเล็กที่สุดในปัจจุบัน ทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงมาก สามารถสร้างภาพได้อย่างชัดเจนแม้มีรอยโรคขนาดเล็กทำให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น สามารถเก็บค่านับวัดได้ในเวลาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการสแกนลงถึง 3 เท่า มีค่า Time of flight ที่สั้นที่สุดในปัจจุบัน สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียด และความชัดเจนสูง เพื่อลดการใช้รังสีกับผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีลดลง และลดระยะเวลาในการตรวจให้สั้นที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ความแตกต่างของเครื่องเพทซีที (PET/CT) ในอดีตจะรายงานผลค่าของ SUV ซึ่งเป็นเพียงค่าการสะสมของน้ำตาล แต่ในเครื่องดิจิทัลเพทซีที สามารถวิเคราะห์การใช้น้ำตาล (Ki) ในรอยโรคนั้นๆได้ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลการรักษา มีระบบ Software ซึ่งสามารถลด Metal Artifact ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายบริเวณในการเก็บภาพออกไปเพื่อครอบคลุมบริเวณรอยโรคทั้งหมด มีระบบ AI ช่วยในการระบุตำแหน่งของอวัยวะหรือรอยโรคในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพื่อทำการคำนวณได้โดยอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีเทคนิคใหม่ในการถ่ายภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหน้าอก และช่องท้องจากการหายใจ และหัวใจที่มีการเต้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการแก้ไขการสั่นไหวของภาพโดยไม่เพิ่มเวลาในการถ่ายภาพ ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดโดยผู้ป่วยไม่ต้องกลั้นหายใจ นอกจากนี้ บริเวณช่องรับตัวผู้ป่วยมีความกว้างมากถึง 78 เซนติเมตร และขนาดอุโมงค์ที่สั้น ทำให้ลดความอึดอัด และเพิ่มความสบายให้กับผู้ป่วยระหว่างการตรวจวินิจฉัย ซึ่งคุณสมบัติของดิจิทัลเพทซีทีนี้นับเป็นมิติใหม่ของการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของทีมแพทย์ผู้วางแผนการรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจด้วยการสแกนที่มีความรวดเร็วและได้ภาพคมชัดสูง




บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ