ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือ SACICT ลุยจัดงาน“SACICT Craft Fair 2020”The Mall นครราชสีมา 21-25 ส.ค.นี้ นำผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยร่วมสมัยเจาะหัวเมืองภาคอีสานตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง
พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้เดินหน้าจัดงาน “SACICT Craft Fair 2020” อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 2 แห่งระหว่างวันที่ 6–18 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมาซึ่งพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้ซื้อเข้าร่วมชมและซื้อสินค้าภายในงานเกิดเงินสะพัดแก่กลุ่มหัตถกรรมไทยร่วมสมัยอันทรงคุณค่าอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการหัตถกรรมไทยร่วมสมัยจากครูศิลป์ฯครูช่างฯทายาทช่างฯและสมาชิกผู้ผลิตงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่า SACICT จึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วนและได้รับความร่วมมืออย่างดีจากบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ในการเพิ่มช่องทางการตลาด และขยายโอกาสทางการค้าร่วมจัดงาน “SACICT Craft Fair 2020” ต่อเนื่องที่ The Mall นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค.นี้
ภายในงาน “SACICT Craft Fair 2020” จะมีผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันรวมกว่า 30 คูหา อาทิ งานเครื่องประดับไทยเบญจรงค์จากแบรนด์ HATSAYA (ทายาทศิลปหัตกรรม 2560) ร้านระฆังทอง ครูช่างสุภัจนา เขาเหิน (ครูช่างศิลปหัตถกรรม 2554) รวมไปถึงร้านเครื่องถมรูปแบบร่วมสมัยของครูอุทัย เจียรศิริ (ครูศิลป์ของแผ่นดิน 2562) สินค้าเสื้อผ้าร่วมสมัยจากแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยอย่าง MUNZAA และกิจกรรมความบันเทิงจากศิลปินมากมาย
อรุณลักษณ์ สูทสภา เจ้าของแบรนด์ MUNZAA เปิดเผยว่า ทางแบรนด์เข้าร่วมงาน SACICT Craft Fair ที่จังหวัดนครราชสีมาปีนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งตลอด 2 ปีที่เข้าร่วมออกบูธได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าโดยแบรนด์มองว่าการเข้าร่วมงานที่จัดในพื้นที่ต่างจังหวัดนับเป็นโอกาสของการเปิดตลาดใหม่ ได้นำสินค้างานคราฟต์ตามไลฟ์สไตล์คนเมืองไปสู่อีกพื้นที่ที่มีไลฟ์สไตล์และมีความต้องการเช่นเดียวกัน คาดหวังว่าครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอีกเช่นเคย
“ตอนนี้เชื่อว่าคนกรุงเทพฯก็โหยหาความเป็นต่างจังหวัดส่วนคนต่างจังหวัดก็โหยหาวิถีชีวิตในแบบของคนกรุงเทพฯดังนั้นงานคราฟต์โมเดิร์นที่ทางแบรนด์ออกแบบให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์คนเมืองและสามารถใส่ได้ทุกโอกาสเป็นเสมือนการนำสินค้าในอีกพื้นที่ไปตอบโจทย์ความต้องการเป็นเสื้อผ้าในแบบของคนกรุงเทพฯที่นำไปขายในพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยากได้ความโมเดิร์น”
ทั้งนี้ทางแบรนด์ยังมองว่าสินค้างานคราฟต์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่องแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19แต่งานคราฟต์ก็ยังเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้า อีกทั้งหากผู้ประกอบการปรับตัวให้เท่าทันต่อกระแสความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเชื่อว่าหัตถกรรมไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นนี้ยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
คุณหัสยา ปรีชารัตน์ เจ้าของแบรด์ HATSAYA เผยว่า แบรนด์ HATSAYA ยังไม่เคยร่วมออกบูธในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาการเข้าร่วมงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกถือเป็นโอกาสในการเปิดตลาดขยายฐานลูกค้าใหม่ๆและหวังว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าไลฟ์สไตล์โมเดิร์นที่ชื่นชอบงานเครื่องประดับดีไซน์ไม่เหมือนใครเป็นงานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์