อ.ส.ค.จับมือ ปศุสัตว์ ปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโรค FMD ระบาดหนัก

วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

อ.ส.ค.จับมือ ปศุสัตว์ ปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโรค FMD ระบาดหนัก


อ.ส.ค. เร่งหารือ"กรมปศุสัตว์" ร่วมปูพรมระบบโคนมพร้อมกันทั่วประเทศ หลังสถานการณ์โรคปากและเท้าเปื่อย FRD ระบาดในฟาร์มโคนม  ส่งกระทบผลผลิตน้ำนมดิบเข้าโรงงานแปรรูปลดลงเหลือวันละ 550 ตัน ขณะผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คในสต็อกแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง  เบื้องต้น ระบุ จะใช้วิธีฉีดวัคซีนโคนมในระบบทั่วไประเทศไปก่อน เชื่อช่วยบรรเทาโรค FMDระบาดและลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบได้ระดับหนึ่ง พร้อมเตรียมหามาตราการยกระดับต่อไป

           ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า ปกติในช่วงฤดูหนาวและช่วงที่สภาพอากาศเย็นแม่โคนมจะให้ผลผลิตสูงและมีปริมาณน้ำนมดิบออกสู่ตลาดค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากเกิดปัญหา โรคปากและเท้าเปื่อย หรือ Foot and Mouth Disease (FMD) ระบาดในฟาร์มโคนมหลายพื้นที่ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ผลผลิตน้ำนมดิบโดยรวมทั้งประเทศ ซึ่ง อ.ส.ค.ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรค FMD ด้วยเช่นกัน โดยฟาร์มเกษตรกรสมาชิกที่ประสบปัญหาเรื่องโรคดังกล่าวไม่สามารถรีดนมส่งขายได้ ทำให้มีน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานนม อ.ส.ค. 5 แห่ง ลดลงเหลือประมาณ 550 ตัน/วัน จากเป้าหมายที่คาดว่าจะมีวันละกว่า600 ตัน ทำให้ส่งผลต่อสต็อกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด

            "ผลกระทบจากโรค FMD นอกจากทำให้สุขภาพโคนมทรุดโทรมลงแล้ว ยังทำให้ผลผลิตลดลง เกษตรกรรีดนมส่งขายไม่ได้จนกว่าจะรักษาโคนมให้หายขาด ส่งผลให้สูญเสียรายได้ นอกจากนั้น ยังทำให้ปริมาณน้ำนมดิบลดลงและอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งควบคุมและป้องกันโรคโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ"ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว

              อย่างไรก็ตาม อ.ส.ค.ได้เร่งหารือกับกรมปศุสัตว์เพื่อวางแนวทางควบคุมและป้องกันโรค FMD ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นอาจใช้วิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรค FMD  ปูพรมพร้อมกันทั้งในโคนม  โคเนื้อ กระบือ สุกร และสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ โดยต้องฉีดวัคซีนตามโปรแกรมปีละ 2 ครั้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประกอบกับบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายสัตว์ข้ามพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เคลื่อนย้ายสัตว์ต้องทำอย่างมีวินัยและรัดกุมมากยิ่งขึ้นเป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย  เป็นแนวทางที่จะสามารถช่วยป้องกันและควบคุมโรค FMD ได้อีกทางหนึ่ง โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง คาดว่า  จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้

            “อ.ส.ค.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและสัตวแพทย์ประสานสหกรณ์โคนม ในเขตพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. 56 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรค FMD ในฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกอย่างใกล้ชิด พร้อมให้บริการรักษาสัตว์ป่วยให้หายโดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือฟาร์มเลี้ยงโคนมที่ประสบปัญหาโรค FMD ให้สามารถรีดนมส่งขายได้และกำชับให้เกษตรกรทำวัคซีนโคนมตามโปรแกรมและระยะเวลาที่กำหนดด้วย แล้วก็เตรียมหามาตราการยกระดับในการช่วยเหลือต่อไปด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ