นายทาคาชิ นิอิโนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการ บริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอร์เรชั่น กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ในการก้าวไปสู่ประเทศ 4.0 ทำให้เป็นโอกาสอันดีที่บริษัทจะนำเสนอโซลูชันในการช่วยประเทศไทยเปลี่ยนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดงาน NEC Innovation Solution Fair 2018 ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่สังคมอันชาญฉลาด (Digital Transformation to Build a Smart Society)” ด้วยการจัดแสดงนวัตกรรมความก้าวหน้า การเชื่อมโยงระบบอินเทอร์เน็ต (Internet of Things: IoT) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ผ่านการแสดงผลงานมากกว่า 30 บูท โซลูชันที่นำมาจัดแสดงสามารถนำไปใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐในด้านความปลอดภัยสาธารณะ (Public City) และสมาร์ทซิตี (Smart City) หรือภาคเอกชนในด้านการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม (Manufacturing) การให้บริการ (Hospitality) มัลติมีเดีย การค้าปลีก สุขภาพ และอื่น ๆ
“เอ็นอีซี ถือได้ว่ามีภาพรวมผลงานที่ดีในประเทศไทย เพราะเป็นผู้วางระบบไอที และ การเชื่อมโยงระบบเครือข่าย (Network Solutions) ที่ทันสมัยให้กับภาครัฐและเอกชนมามากว่า 50 ปีจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เรามั่นใจว่าเราสามารถจัดหาเทคโนโลยีและโซลูชั่นที่ก้าวล้ำนำสมัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมสร้างสรรสังคมที่ชาญฉลาดและปลอดภัยมากขึ้นให้กับภาครัฐและภาคเอกชนได้ ”
ด้านนายทาคายูกิ คาโน ประธานกรรมการ บริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา บริษัทมีการทดลองใช้เทคโนโลยี IoT ในโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทแล้ว เพื่อมอนิเตอร์การทำงานของโรงงานในแต่ละพื้นที่แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ในโครงการสมาร์ทซิตี บริษัทก็ได้ร่วมมือกับรัฐบาลในการวางระบบความปลอดภัยสาธารณะในการจับใบหน้าผู้คน เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัย ซึ่งบริษัทเห็นโอกาสในการทำโซลูชันให้กับประเทศ เนื่องจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เกิดโครงการสมาร์ทซิตี โครงการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี
ทั้งนี้ บริษัทได้ทำโครงการร่วมกับรัฐบาลสิงคโปร์ในการวางระบบความปลอดภัย ทั้งการจดจำใบหน้า น้ำเสียง และการวิเคราะห์พฤติกรรม ในรถไฟใต้ดินสถานีออชาร์ด ทำให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสื่อสาร สามารถรู้ข้อมูลด้านความปลอดภัยได้แบบเรียลไทม์ เพราะบริษัทส่งข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานพร้อมกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่กระทรวงคมนาคมจะเป็นผู้ได้รับข้อมูลเพียงหน่วยงานเดียว ซึ่งรูปแบบนี้บริษัทจะนำมาเสนอให้กับรัฐบาลไทยเป็นตัวอย่างเพื่อให้บริการต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา บริษัทได้นำโซลูชั่น IoT และ AI ให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยใช้บริการแล้ว อาทิ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนธุรกิจโรงแรม ขณะที่ภาครัฐกำลังมีโครงการร่วมกันเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะในสมาร์ทซิตี