บทสรุป...รถไฟฟ้าสีน้ำตาล สร้างคู่ทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ N2

วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

บทสรุป...รถไฟฟ้าสีน้ำตาล สร้างคู่ทางด่วนขั้น 3 สายเหนือ N2


ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบคมนาคมในระยะยาว เพื่อดำเนินโครงการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์เสาตอม่อ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ หรือถนนเกษตร - นวมินทร์ แต่เดิมได้กำหนดให้เป็นเส้นทางเชื่อมกับระบบทางพิเศษระหว่างเมืองด้านตะวันออก - ตะวันตก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 กระทรวงคมนาคม มีแนวคิดที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยใช้เสาตอม่อโครงการระบบทางด่วนดังกล่าว ให้เกิดประโยชน์ และในปี 2560 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยพิจารณาโครงข่ายการขนส่งและจราจรในภาพรวมและเชื่อมต่อต่างๆ เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนการออกแบบเบื้องต้นและประมาณราคาค่าก่อสร้าง ระยะเวลาในการศึกษารวม 14 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2560-9 มิถุนายน 2561

ล่าสุด นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมสัมมนา
รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (การสรุปผลการพิจารณารูปแบบทางเลือกของโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย - ลำสาลี (บึงกุ่ม) เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชัยงัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมสัมมนาฯ ดังกล่าว

นายไพรินทร์ เปิดเผยว่า การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อดังกล่าว 4 รูปแบบ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) 2. การพัฒนาด้วยระบบทางพิเศษ (ทางด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor (โครงข่ายเชื่อมต่อจาก N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9) 3.การพัฒนาด้วยระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน และ 4.การพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน

และจากผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่า รูปแบบที่ 4 ซึ่งเป็นการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชน และระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกัน มีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุด อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชน ขณะที่ระบบทางด่วนจะเชื่อมโยงโครงข่ายทางด่วนระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ

ด้าน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เบื้องต้นผลศึกษาสรุปรูปแบบทางเลือกที่ 4 โดยมีความเหมาะสมพัฒนาด้วยระบบรถไฟฟ้า และระบบทางด่วนบนแนวสายทางเดียวกัน จะรองรับการเดินทางได้ดีที่สุด โดยทางด่วนจะใช้เงินลงทุน ประมาณ 25,000 ล้านบาท และรถไฟฟ้า ประมาณ 50,000 ล้านบาท

โดยแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) จะเริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน จุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ เลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ สิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จำนวนสถานีเบื้องต้น 21 สถานี

ในส่วนของระบบทางด่วนจะเป็นการต่อขยายแนวระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช-ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตก ส่วนต่อขยายที่ทางแยกต่างระดับรัชวิภา โดยแนวเส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1.ช่วงแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร และ 2.ช่วงทดแทน ตอน N1 แนวคลองบางบัว คลองบางเขน และเลียบขนานดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ทั้งนี้ สนข. จะได้นำเสนอ คจร. เพื่อพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการ ก่อนมอบหมาย สนข. พิจารณาระยะเวลาการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่เหมาะสม และมอบหมาย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายระบบทางด่วนทดแทน ตอน N1 ไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 และ E-W Corridor เพื่อลดผลกระทบการจราจรบริเวณแยกเกษตร 

อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลาของการศึกษาความเหมาะสม สนข. ได้มีการลงพื้นที่เพื่อพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.brownline-fs2560.com ทั้งนี้ การประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงข้อมูลผลการศึกษารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ ผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ผ่านมา รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับผลการศึกษารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม รวมทั้งประเด็นปัญหาสำคัญที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดย สนข. จะได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับนำไปประกอบการศึกษาต่อไป

 

                                                                                                



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ