กรมการข้าวและGIZสรุปผลสำเร็จโครงการพัฒนาข้าวใน4ปีอบรมเกษตรกรกว่า20,000

วันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

กรมการข้าวและGIZสรุปผลสำเร็จโครงการพัฒนาข้าวใน4ปีอบรมเกษตรกรกว่า20,000


กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมสรุปผลการดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือ “เบรีย” พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางและนโยบายในการดำเนินงานระยะต่อไป เพื่อขยายความร่วมมือไปยังภาคส่วนอื่นๆ หวังมุ่งเป้าสู่การพัฒนาภาคการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ

โครงการเบรีย ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมีองค์กรภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร บริษัทไบเออร์ (ไทย) จำกัด บริษัทบีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด และบริษัทโอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เบรียดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการผลิตข้าวและโภชนาการข้าวด้วยวิธีการแบบองค์รวมห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเสริมสร้างรายได้ของผู้ผลิตและส่งเสริมโภชนาการที่ดีของครอบครัวเกษตรกร

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “กรมการข้าวมีภารกิจรับผิดชอบด้านการศึกษา วิเคราะห์และเสนอแนะเพื่อจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ รวมทั้งศึกษา วิจัย ทดลองและพัฒนาเกี่ยวกับพันธุ์เทคโนโลยีการผลิต การอารักขา วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป และมาตรฐานข้าว รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับความร่วมมือกับต่างประเทศในเรื่องข้าว ตัวอย่างเช่น โครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย ถือเป็นความร่วมมือที่กรมการข้าวได้ดำเนินงานกับ GIZ  ตั้งแต่ปี 2557

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เราได้ผนึกกำลังร่วมกันดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาการผลิตข้าวเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนจนบรรลุเป้าประสงค์ตามที่วางไว้  โดยในประเทศไทย ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ให้กับเกษตรกรรายย่อยในศูนย์ข้าวชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรเกษตรกรที่กรมการข้าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพ ให้สามารถนำองค์ความรู้เทคโนโลยีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนไปสู่การปฏิบัติ เพิ่มผลผลิตและเพิ่มพูนรายได้ อันจะเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสามารถสร้างโมเดลการเชื่อมโยงตลาดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวตามมาตรฐานการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน (SRP) และแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการทำการเกษตร (GAP) ครอบคลุมศูนย์ข้าว 200 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด และโครงการฯ ยังมีการรณรงค์การผลิตข้าวผ่านสื่อโทรทัศน์รายการซีรีย์ Famers Love ที่ช่วยส่งเสริมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ปลอดภัย การจัดการดิน เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และการผลิตข้าวที่ยั่งยืนซึ่งออกอากาศระหว่างปีพ.ศ. 2558 – 2560 ตลอดจนได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยเกษตรกรลดความสูญเสีย และปรับปรุงคุณภาพข้าว นับว่าโครงการเบรียสามารถพัฒนารูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวไปสู่ชาวนาได้อีกทางหนึ่ง”

นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มข้าวที่ดีขึ้นแห่งเอเชียหรือเบรีย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “นอกเหนือจากการดำเนินงานในประเทศไทยแล้ว โครงการฯ ยังได้ส่งเสริมการพัฒนาข้าวในประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดตั้งศูนย์การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนขึ้น  375  แห่งในสองจังหวัด คือ จาวาตะวันออก และสุมาตราเหนือ และมีผู้ประสานงานภาคสนามจำนวน 125 รายที่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ โครงการฯ ได้สนับสนุนเป้าหมายระยะยาวของประเทศที่จะผลิตข้าวเพื่อตอบสนองต่อความมั่นคงด้านอาหารและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และยังฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรในจังหวัดอิโลอิโล เลย์เตใต้และออโรรา ซึ่งจะให้บริการกับเกษตรกรในท้องที่อีกกว่า 8,000 ราย

ในส่วนของประเทศเวียดนาม โครงการฯ ได้ร่วมกับสถาบันนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมและชนบท (IPSARD) และภาคเอกชน ริเริ่มโครงการการปลูกข้าวในนาแปลงใหญ่ที่เป็นมิตรต่อนิเวศวิทยาบนพื้นที่สามจังหวัด คือ ดองทับ เฮาเซียงและเคียนเซียง เพื่อปรับปรุงคุณภาพข้าว เพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่คุณค่า และสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถเข้าถึงตลาดที่มีคุณภาพ

อาจกล่าวได้ว่าใน 4 ประเทศเข้าร่วมทั้งหมด เบรียได้สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรมากกว่า 20,000 ราย และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรถึงร้อยละ10-25 สำหรับประเทศไทยคิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29,111 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นับได้ว่าเบรียประสบความสำเร็จในการผลิตข้าว ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จัดการทรัพยากรการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกร” สุริยัน กล่าว

พิธีปิดโครงการในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นเวทีระดับภูมิภาคในการรับทราบมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และถ่ายทอดความสำเร็จ ตลอดจนได้รวบรวมบทเรียนและข้อเสนอแนะร่วมกันในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับภูมิภาคด้านการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียนต่อไป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม โทร : 0893284192 , ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ