‘สราวุฒิ-ปิยะธิดา’ ผงาดแชมป์ปั่นเลียบน้ำโขง3จังหวัดเงินสะพัด150ล้าน

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

‘สราวุฒิ-ปิยะธิดา’ ผงาดแชมป์ปั่นเลียบน้ำโขง3จังหวัดเงินสะพัด150ล้าน


2 นักปั่นทีมชาติไทย “วุฒิ” สราวุฒิ สิริรณชัย และ “ตาร์” ปิยะธิดา ทิศจันทร์ ผงาดแชมป์ศึกจักรยานทางไกล “THE GREAT MEKONG BIKE RIDE 2018” พร้อมครองถ้วยพระราชทาน ขณะที่ประเภททีม “พลัมไบค์ ลพบุรี” ช่วยกันปั่นคว้าชัย ด้าน “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” เผยยอดเงินสะพัดกว่า 150 ล้านบาท ในพื้นที่ 3 จังหวัด “นครพนม-มุกดาหาร-สกลนคร” พร้อมยกระดับการแข่งขันปีหน้ามุ่งสู่ระดับโลก

การแข่งขันจักรยานทางไกลแห่งประเทศไทย รายการ “THE GREAT MEKONG BIKE RIDE 2018” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า  1 ล้านบาท ได้จัดการแข่งขันขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 18-20 พฤษภาคม โดยแบ่งออกเป็น 3 สเตจ ผ่านเส้นทางใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย นครพนม, มุกดาหาร และสกลนคร

การแข่งขันสเตจที่ 1 : King of Khong วันที่ 18 พฤษภาคม เริ่มออกสตาร์ทจากนครพนม ปั่นบนถนนทางหลวงสายหลัก เลียบฝั่งแม่น้ำโขงถึงมุกดาหาร ระยะทาง 127 กม. จากนั้นเข้าสู่สเตจที่ 2 : King of Endurance วันที่ 19 พฤษภาคม ออกจากมุกดาหาร ปั่นบนถนนทางหลวงสายหลัก ก่อนปั่นขึ้นเขาช่วง 5 กม.สุดท้าย ถึงประตูเมืองสกลนคร ระยะทาง 150 กม.

ปิดท้ายสเตจที่ 3 King of Speed เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยมีนายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เป็นประธานปล่อยตัวนักกีฬา ออกสตาร์ทจากประตูเมืองสกลนคร ปั่นบนถนนทางหลวงสายหลัก มุ่งสู่นครพนม ระยะทาง 95 กม. รวมระยะทาง 3 สเตจ ทั้งหมด 372 กม.

ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า ประเภททั่วไปชาย “วุฒิ” สราวุฒิ สิริรณชัย นักปั่นหนุ่มทีมชาติไทย วัย 26 ปี ปั่นทำเวลารวม 3 สเตจ 8.39.44.550 ชั่วโมง คว้าแชมป์พร้อมถ้วยพระราชทาน และเงินรางวัล 50,000 บาทไปครอง ขณะที่อันดับ 2 อเล็กซ์ เดสทริบัวส์ ลูกครึ่งลาว-ฝรั่งเศส ทำเวลารวม 8.39.48.900 ชั่วโมง และอันดับ 3 คุณากร นนธิจันทร์ นักปั่นไทย เวลารวม 8.40.31.213 ชั่วโมง

ขณะที่ประเภททั่วไปหญิง “ตาร์” ปิยะธิดา ทิศจันทร์ นักปั่นสาวดาวรุ่งทีมชาติไทย วัย 20 ปี ทำเวลารวม 3 สเตจ 9.22.16.937 ชั่วโมง คว้าแชมป์พร้อมถ้วยพระราชทาน และเงินรางวัล 20,000 บาท ส่วนอันดับ 2 จันทร์เพ็ง นนทะสิน น่องเหล็กสาวจอมเก๋า เวลารวม 9.23.58.553 ชั่วโมง และอันดับ 3 ศุภักษร นันตะนะ นักปั่นสาวดีกรีทีมชาติอีกคน เวลารวม 9.27.05.483 ชั่วโมง

ส่วนประเภททีม 4 คน ทีมพลัมไบค์ ลพบุรี ประกอบด้วย พีรพงศ์ ลาดเงิน, ณัฐพล จำชาติ, ณัฐวุฒิ อยู่พันธ์ และปฐมภพ พลอาจทัน ช่วยกันปั่นทำเวลารวม 3 สเตจ 8.18.40.493 ชั่วโมง คว้าแชมป์พร้อมถ้วยพระราชทานเช่นกัน และเงินรางวัล 40,000 บาท ขณะที่อันดับ 2 ทีมภูพานไบค์ ทำเวลารวม 8.28.48.900 ชั่วโมง และอันดับ 3 ทีมซาย ไซคลิ้ง ทำเวลารวม 8.35.47.470 ชั่วโมง

ด้านแชมป์ประเภทกลุ่มอายุ ดังนี้ ชาย 18-29 ปี รัชชานนท์ เยาวรัตน์ 9.05.22.250 ชั่วโมง, ชาย 30-39 ปี ชาติชาย ตีรถะจารุพงศ์ 9.03.39.567 ชั่วโมง, ชาย 40-49 ปี พาวอล ครีซาน (สโลวาเกีย) 9.07.38.870 ชั่วโมง, ชาย 50 ปีขึ้นไป วรพจน์ ฟุ้งสุข 9.13.34.273 ชั่วโมง, เยาวชนชายไม่เกิน 18 ปี นัฏฐชัย มาลัยทอง 9.12.41.710 ชั่วโมง, หญิง 18-39 ปี สุรัตติยา บุบผา 9.31.09.790 ชั่วโมง และหญิง 40 ปีขึ้นไป ปรียาภัทร์ วงศ์วัฒนไพบูรณ์ 10.36.10.697 ชั่วโมง

สำหรับพิธีมอบรางวัลได้มีขบวนอัญเชิญถ้วยพระราชทาน มายังบริเวณลานศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นบริเวณที่ประดิษฐานองค์พญาศรีสัตตนาคราช โดยมีนายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และนางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้อัญเชิญถ้วยพระราชทาน

นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า นครพนมเข้าร่วมจัดการแข่งขันตลอด 3 ปีที่จัดแข่งมา ทุกปีได้ยกระดับการแข่งขัน และเส้นทางให้ดียิ่งขึ้น ในภาพรวมพึงพอใจการแข่งขันที่มีการพัฒนาขึ้น และสร้างความตื่นตัวให้คนในพื้นที่สนใจการปั่นจักรยาน รวมทั้งยังเติมเต็มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจังหวัด ซึ่งยอด 2 ปีหลังสุดมียอดนักท่องเที่ยวกระโดดจากเดิม 8 แสนคนต่อปี เป็นกว่า 1.3 ล้านคนต่อปีอีกด้วย

“รายการนี้ทำให้คนเข้ามาเติมเต็ม โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งนครพนมก็กำลังก่อสร้างเส้นทางปั่นผ่าน 3 ที่สุดคือ สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน), เทศบาลนครพนม และวัดพระธาตุพนม ริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมระยะทาง 75 กม. คาดจะเสร็จปี 2562  โดยเราก็ได้พูดคุยกับทาง ททท. เพื่อให้เข้ามาสำรวจเส้นทางใช้การแข่งขันปีหน้าด้วย” นายสมชายกล่าว

นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ททท.กล่าวว่า ได้มุ่งเน้นยกระดับรายการนี้ไปสู่ระดับโลก ปีนี้จึงได้ปรับมาตรฐาน ทั้งปริมาณผู้เข้าร่วม และเส้นทางการปั่นเชื่อมโยง 3 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งได้ทำการตลาดต่างประเทศ ทั้งอาเซียน และเอเชีย เพื่อดึงนักปั่นต่างชาติระดับโลกมากขึ้น ซึ่งก็ได้ยอดเกือบ 300 คนจาก 21 ประเทศ รวมกับนักปั่นชาวไทย ทำให้มีเข้าร่วมกว่า 2,800 คน ถือว่าประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย

นางสุจิตรา กล่าวอีกว่า ในช่วงแข่งขันได้ประเมินยอดเงินสะพัดใน 3 จังหวัดแล้วรวมกว่า 150 ล้านบาท ถือว่าเป็นการกระจายรายเศรษฐกิจลงสู่ชุมชน ส่วนปีต่อไปจะปรับมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก ทั้งด้านการบริหารจัดการ, การเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศ ทั้งอาเซียน, เอเชีย และยุโรป รวมทั้งเส้นทางที่จะสำรวจเส้นทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ดูความพร้อม เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้รายการนี้เป็นแลนด์มาร์คของลุ่มน้ำโขง เพื่อยกระดับไปสู่ระดับโลกภายใน 3 ปีข้างหน้า.



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ