แนะผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารใช้วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

แนะผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารใช้วิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า


สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย แนะผู้ประกอบการปรับตัวใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนายกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหาร ด้านสมาคมฯ เผยพร้อมเป็นศูนย์กลางทางวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้ของทั้งนักวิชาการและผู้ประกอบตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ล่าสุดเชิญนักวิชาการระดับโลกร่วมให้ความรู้ การประชุมด้านนวัตกรรมอาหารแห่งเอเชีย 2018 (The Food Innovation Asia Conference 2018) ในงานโพรแพ็ค เอเชีย 2018 แลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “"อาหารสร้างสรรค์สำหรับอนาคต และ ความยั่งยืน (Creative Food for Future and Sustainability)”

ผศ.ดร.อาณดี นิติธรรมยง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) กล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารของไทยว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในด้านคุณภาพ มูลค่า และมาตรฐานให้มากขึ้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยได้รับการยอมรับและเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศ โดยสมาคมฯ มีหน้าที่หลักในการเป็นศูนย์กลางทางวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และให้คำแนะนำแก่ทั้งนักวิชาการและผู้ประกอบการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งด้านของการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต การจัดการประชุม อบรม สัมมนาให้ความรู้ให้แก่สมาชิกปีละกว่า 50 กิจกรรม ซึ่งการสนับสนุนความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการสร้างเครือข่ายซึ่งช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ หรือ First S-Curve ในกลุ่มของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 

โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีมูลค่านั้น ถือว่าไทยมีความได้เปรียบด้านความหลากหลายของทรัพยากรที่นำมาพัฒนาต่อยอด สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) และ การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health Claim) บนผลิตภัณฑ์ ดังนั้นสมาคมฯ จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดตั้ง Food Innovation & Regulation Network (FIRN) ขึ้น เพื่อให้ระบบการดำเนินการขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องรวดเร็ว ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดอบรมและสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การขออนุญาตอาหาร รวมถึงเป็นศูนย์กลางเครือข่ายนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ Functional Food ในการให้คำปรึกษาการขออนุญาตแสดงคุณสมบัติทางสุขภาพบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารให้ถูกต้องและสะดวกมากขึ้น

ด้าน ศ.ดร.ภาวิณี ชินะโชติ ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาระกิจของสมาคมฯ ในการจัดกิจกรรมการประชุมและสัมมนาให้ความรู้แก่นักวิชาการและผู้ประกอบการว่า สมาคมฯ ได้มีการจัดการประชุมใหญ่ด้านอาหารเอเชียขึ้นภายในงานโพรแพ็ค เอเชีย ทุกปี เนื่องจากงานโพรแพ็ค เอเชีย เป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านการผลิตและบรรจุภัณฑ์ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค มีผู้เข้าร่วมจัดแสดงงานและผู้เข้าร่วมชมงานจากทั่วโลกถึงปีละกว่า 4 หมื่นคน ทำให้การจัดประชุมฯ เป็นที่สนใจของนักวิชาการและผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งในและต่างประเทศ โดยการประชุมด้านนวัตกรรมอาหารแห่งเอเชีย 2018 (Food Innovation Asia Conference 2018) เป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารโดยผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มล่าสุดของนวัตกรรมอาหารโลก พร้อมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคกับผู้เข้าร่วมประชุม โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “อาหารสร้างสรรค์สำหรับอนาคต และ ความยั่งยืน (Creative Food for Future and Sustainability)” ซึ่งจะมีเนื้อหาจะครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตอาหาร การวิเคราะห์วิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ ความปลอดภัย การบริหารจัดการ ฯลฯ พร้อมรับฟังปาฐกถาพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตเลีย และ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ส่วนอีกกิจกรรมที่น่าสนใจนคือ การประกวดนวัตกรรมอาหาร 2018 (Food Innovation Contest 2018) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้นักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องด้านอาหารนำความรู้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง โดยแนวคิดการแข่งขันในปีนี้คือ การนำผลผลิตท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ (From Local to Global / Local Identity to Health Product) ซึ่งหากผู้ประกอบการสนใจผลิตภัณฑ์ของผู้เข้าประกวดก็สามารถติดต่อเจ้าของผลงานได้โดยตรง นอกจากทั้งสองกิจกรรมแล้วยังมีการจัดการแข่งขัน FoSTAT - Nestlé Quiz Bowl 2018 ซึ่งเป็นการแข่งขันตอบปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์อาหารรายการใหญ่ที่สุดของประเทศไทยมีผู้ร่วมเข้าแข่งขันกว่า 80 ทีมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยผู้ชนะนอกจากจะได้รับเงินรางวัลแล้ว ยังมีโอกาสได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาคของเนสท์เล่ที่ประเทศสิงคโปร์อีกด้วย

ในส่วนของผู้ประกอบการและผู้สนใจในการเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารนั้น สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคลินิกที่ปรึกษาด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจในการประกอบธุรกิจ

การประชุมด้านอาหารเอเชีย 2018 นั้นจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดการจัดงานเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT)  โทร 02-942-8528 อีเมลล์ manager@fostat.org



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ