สคบ.จัดหนัก 3 ประเด็นร้อน หนุนทำมาตรฐานวิชาชีพขายตรง สร้างความเชื่อมั่นกลับคืน

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สคบ.จัดหนัก 3 ประเด็นร้อน หนุนทำมาตรฐานวิชาชีพขายตรง สร้างความเชื่อมั่นกลับคืน


สคบ. เอาจริง ! เกาะติด 3 ประเด็นร้อน “โฆษณาเกินจริงและเป็นเท็จ–ธุรกิจกลายพันธุ์เป็นแชร์ลูกโซ่ และ อี-วอลเล็ต” หวังภาคธุรกิจเดินตามกฎหมายถูกต้อง มีความรับผิดชอบต่อสังคม หนุนจัดทำมาตรฐานวิชาชีพธุรกิจขายตรง สร้างความเชื่อมั่นกลับคืน ด้าน นายก ส.พัฒนาการขายตรงไทย หนุนจัดทำมาตรฐานวิชาชีพ ยกระดับอาชีพขายตรงไทยสู่สากล มีความน่าเชื่อถือ ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจขายตรงไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท มีผู้ประกอบอาชีพขายตรงกว่า 1.2 ล้านคน คาดจัดทำมาตรฐานวิชาชีพแล้วเสร็จต้นปี 2562 นี้

พลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง สมรรถนะขายตรงไทย ยุคใหม่ ภายใต้โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง ว่าปัญหาในธุรกิจขายตรงและการตลาดแบบตรงที่ สคบ. กำลังเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดมี 3 ประเด็น คือ การสื่อสารและการโฆษณาที่เกินจริงและเป็นเท็จ ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งพบมาก โดย สคบ.จะเร่งตรวจสอบโฆษณาทุกชิ้น หากเรื่องใดอยู่ในความรับผิดชอบก็จะเรียกผู้ประกอบการรายนั้นมาชี้แจง แต่หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) ก็จะส่งต่อเพื่อให้ดำเนินการต่อไป

อีกเรื่องคือธุรกิจขายตรง ซึ่งมีการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามแผน ลักษณะนี้อาจกลายพันธุ์ไปสู่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้ หรืออาจมีเจตนาที่จะกลายพันธุ์เป็นแชร์ลูกโซ่ เบื้องต้นพิจารณาได้จากว่าธุรกิจนั้นไม่มีสินค้ามาจำหน่ายจริง หรือการเรียกเก็บค่าสมาชิก คล้ายกับการระดมทุน โดยหากตรวจสอบพบว่ามีประเด็นที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ สคบ. ก็จะเร่งส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดตามต่อไป

สุดท้ายคือเรื่อง อี-วอลเล็ต (E-Wallet) หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจขายตรงด้วย จะต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เสียก่อน จากนั้น สคบ.จึงจะรับจดทะเบียนธุรกิจขายตรง ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ประกอบการอี-วอลเล็ต ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.เพียงกว่า 10 รายเท่านั้น อย่างไรก็ดี มองว่าในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจขายตรง และอี-วอลเล็ต ก็เข้าข่ายคล้ายกับการระดมทุน หากไม่มี ธปท.เข้ามาดูแล ก็มีโอกาสกลายพันธุ์ไปสู่แชร์ลูกโซ่ได้เช่นกัน

ทั้ง 3 เรื่องนี้ เป็นประเด็นที่สคบ.เฝ้าระวังและติดตาม โดยอยากเห็นธุรกิจขายตรงมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และสังคม ไม่อยากเห็นธุรกิจขายตรงแปรเปลี่ยนไปเป็นแชร์ลูกโซ่ ในเบื้องต้นหากมีเรื่องร้องเรียนใดเข้ามา สคบ.ก็จะเร่งส่งคนเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้ง เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับธุรกิจขายตรงปัจจุบันก็มีน้อยลง ปีที่ผ่านมาเป็นหลัก 200 กว่าราย และน้อยกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาไม่เป็นธรรมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงมองว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจ พลตำรวจตรีประสิทธิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพบว่า มีกระแสข่าวที่สร้างภาพลบต่อธุรกิจขายตรง และการตลาดแบบตรง ทำให้ธุรกิจเสื่อมเสีย ดังนั้นหากมีมาตรฐานวิชาชีพธุรกิจขายตรงเกิดขึ้น ก็จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกัน ทางสคบ.เอง อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำตราสัญลักษณ์รับรองผู้ประกอบการที่มาจดทะเบียนถูกต้อง ก็จะเป็นการแสดงถึงความน่าเชื่อถือของธุรกิจนั้นๆ โดยคาดว่าภายในเดือนนี้น่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) ปี 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วนั้น เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจได้สะดวกมาขึ้น แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้ผู้ที่จะเข้ามาจดทะเบียนกับ สคบ. จะต้องวางหลักประกัน โดยจะมีกฎกระทรวงเรื่องการวางหลักประกันตามมา อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่กฎกระทรวงยังไม่ออกมา ทางกฤษฎีกาเห็นว่า สคบ.สามารถรับจดทะเบียนได้ก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการจะต้องมาวางหลักประกันในภายหลังเมื่อกฎกระทรวงการวางหลักประกันมีผลบังคับใช้ ซึ่งการวางหลักประกันนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญมาก หากไม่มีการวางหลักประกันก็อาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตได้

นอกจากนี้ ยังจะมีกฎหมายลูกออกมารองรับในเรื่องการตลาดแบบตรง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นลักษณะใดบ้างที่เข้าข่ายจะต้องมาจดทะเบียนกับ สคบ. แต่กฎหมายดังกล่าวจะไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจะยกเว้นธุรกิจเอสเอ็มอี ตามกฎหมายเอสเอ็มอีที่มีอยู่ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์

ด้าน ดร.สมชาย หัชลีฬหา นายกสมาคมพัฒนาการขายตรงไทย กล่าวในงานสัมมนาว่า สมาคมฯ ได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการจัดทำโครงการมาตรฐานอาชีพ และคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง เพื่อยกระดับอาชีพขายตรงให้มีความเป็นสากล มีระดับคุณวุฒิตามสมรรถนะในการทำงานที่ชัดเจน และแบ่งระดับอาชีพได้อย่างเป็นสากล อีกทั้ง ยังจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่วงการอาชีพขายตรง และสร้างความเชื่อถือแก่ผู้บริโภคในวงกว้าง

ผู้ให้บริการ ซึ่งหมายถึงเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือนักธุรกิจอิสระที่เข้ามาเป็นแม่ข่ายและมีลูกข่ายเป็นของตัวเองนั้น หรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโค้ช ให้ข้อมูลแก่สินค้านั้นๆ ควรจะมีความรับผิดชอบในระดับที่ต่างกันออกไป การมีมาตรฐานวิชาชีพก็จะเข้ามาช่วยกำหนดในเรื่องจรรยาบรรณ ทักษะ ความรู้ด้านต่างๆ ตามระดับที่พวกเขาเหล่านี้พึงจะมี ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าในอาชีพ สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้ว่าเขาจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ดร.สมชาย กล่าว

รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้จัดการและที่ปรึกษาโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพฯ สาขาธุรกิจขายตรง กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจขายตรงไทย มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของไทยไม่น้อย โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 75,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบอาชีพขายตรง 1.2 ล้านคน แต่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคนมาหกว่า 10 ล้านคน   

สำหรับการจัดทำมาตรฐานวิชาชีพขายตรงนี้ ก็เพื่อยกระดับผู้ประกอบอาชีพขายตรงให้มีมาตรฐานอาชีพที่น่าเชื่อถือได้ เป็นสากล มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ มีกฎระเบียบ กติกา เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางการขายตรงหลอกลวงผู้บริโภค และสามารถทำให้ผู้บริโภคแยกแยะได้สิ่งใดเรื่องจริง หรือหลอก อย่างไรก็ดี การจัดทำมาตรฐานอาชีพขายตรงนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จราวต้นปี 2562 และจะประกาศในพระราชกฤษฎีกา เพื่อถือปฏิบัติต่อไป

​​



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ