โอกาสทอง “นักธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูป” หน้าใหม่

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

โอกาสทอง “นักธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูป” หน้าใหม่


โครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ” ถือเป็นหนึ่งโปรเจกท์ชิ้นโบว์แดงของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนแบบเต็มสูบในปี 2561 นี้ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 เพื่อสร้างและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs เกษตรรายใหม่ทั่วประเทศได้ตั้งตัวและก้าวสู่ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม พร้อมยกระดับขีดความสามารถการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และเป็นหนึ่งใน 9 มาตรการขับเคลื่อนส่งเสริม SMEs สู่ 4.0 ของกระทรวงอุตสาหกรรม

นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย(SMEs เกษตร) ตามแนวทางประชารัฐ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค อุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งจะใช้งบประมาณดำเนินการ จำนวน 47.16 ล้านบาท ตามมติ ครม. เป้าหมาย 55,000 คน 300 กลุ่มทั่วประเทศ

เบื้องต้นได้เร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรแปรรูป วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประชาชน และบุคลากรในห่วงโซ่ ครั้งละ 200-400 คน เพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าถึงโครงการฯดังกล่าวอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ปัจจุบันได้รับสมัครและคัดกรองผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทยฯแล้ว จากนั้นจะเร่งขับเคลื่อนกิจกรรมตามขั้นตอนที่วางไว้ 3 ขั้นตอน คือ 1.สร้างองค์ความรู้การเป็นผู้ประกอบการ 2.ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ที่มิใช่อาหาร และ3.ส่งเสริมการจัดตั้งหน่วยผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้นแบบในพื้นที่ เป็นต้น

ปัจจุบันโครงการฯได้ทยอยจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความใจการเป็นผู้ประกอบการให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ไปแล้วกว่า 30,000 คน อาทิ จังหวัดอุดรธานี กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี นครปฐม อำนาจเจริญ นนทบุรี ราชบุรี เชียงราย นครราชสีมา ปราจีนบุรี และสกลนคร เป็นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่จะเร่งฝึกอบรมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเน้นให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและสนใจที่จะเป็น SMEs เกษตรจำนวนมาก

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมวางแผนการผลิต การแปรรูปและการตลาด ให้กลุ่มเกษตรกร/ผู้ประกอบการเห็นชอบร่วมกันก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมตามแผน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการลงทุนและผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ โดยเน้นผลิตตามความต้องการของตลาด หรือใช้ตลาดนำการผลิต และมีการศึกษาพัฒนาสินค้าให้สอดรับกับเทรนด์ (Trend) ความต้องการของผู้บริโภคด้วย

นายจารุพันธุ์ กล่าวถึงแนวทางการวางแผนการผลิต ว่า ทุกฝ่ายจะมีการกำหนดชนิดและปริมาณผลผลิตที่จะต้องทำการผลิตตามความต้องการ เช่น ชนิดพันธุ์ที่จะปลูก ระยะเวลาเริ่มต้นการปลูก ช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยว รวมถึงกำหนดปริมาณผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวในแต่ละช่วงเพื่อให้มีผลผลิตกระจายสู่การแปรรูปและป้อนตลาดได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาและจัดระบบโลจิสติกส์หรือขนส่งผลผลิตไปยังตลาดและโรงงานแปรรูปควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม โครงการฯเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย เหมาะสมกับความต้องการ เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของเกษตรกรแต่ละราย เช่น จัดแบ่งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ กลุ่มผู้ผลิตพืชแต่ละชนิด และร่วมจัดหาปัจจัยการผลิตโดยใช้เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ร่วมกัน เช่น รถเก็บเกี่ยว เครื่องอบลดความชื้น เครื่องบรรจุภัณฑ์ เครื่องอบแห้ง เครื่องหั่น เป็นหนึ่งช่องทางที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ค่อนข้างมาก

นอกจากนั้น โครงการฯยังจะส่งเสริมสนับสนุนการเข้าสู่แหล่งทุนเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรรายใหม่ใช้ในการลงทุนหรือเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ที่สำคัญโครงการฯยังเตรียมความพร้อมในการส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ประกอบการด้วย เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและเพิ่มโอกาสทางการตลาด เช่น ส่งเสริมการจำหน่ายผ่านระบบตลาดออนไลน์ (Online) การพัฒนาแอพลิเคชั่น “ฟาร์มสุข” เพื่อให้ผู้ประกอบการนำสินค้าไปโพสต์ขายบนสมาร์ทโฟน รวมถึงตลาดออฟไลน์ (Offline) การออกบูทในงานแสดงสินค้าต่างๆ กลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร ตลอดจนประสานเชื่อมโยงกลุ่มตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ภายในปีนี้ตั้งเป้าว่า จะมีผู้ประกอบการ SMEs เกษตรต้นแบบที่มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งไม่น้อยกว่า 50 กลุ่ม และขยายผลเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป อนาคตคาดว่า การส่งเสริมพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จะสามารถช่วยให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ และตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชนของประเทศด้วย” รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ