ผ้าย้อมมูลควาย ชุบชีวิตชาวบ้านนาเชือก จ.สกลนคร

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ผ้าย้อมมูลควาย ชุบชีวิตชาวบ้านนาเชือก จ.สกลนคร


จากผลกระทบของการสร้างเขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ทำให้ชาวบ้านนาเชือก กลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจนต้องอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และจำเป็นต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปเป็นแรงงานในจังหวัดต่างๆ  รวมถึงต่างประเทศในแถบตะวันออกกลาง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ในปี พ.ศ.2540  ชาวบ้านนาเชือกจึงต้องกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดและประกอบอาชีพเสริมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากภาคการเกษตรนั้นได้ผลผลิตต่ำ นางวายสุนีย์ ไชยหงสา และชาวบ้าน จึงเดินทางไปกราบขอคำแนะนำจากพระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ ท่านได้แนะนำให้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ที่มีความแตกต่างและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการใช้เปลือกไม้ก็ต้องทำลายต้นไม้ จนกลายมาเป็นการย้อมมูลควาย ในเวลาต่อมากลุ่มผู้นำบ้านนาเชือกจึงได้เข้ามาพบคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และได้เห็นบรรจุภัณฑ์ไม้ไผ่ของ ดร.เดือนรุ่ง สุวรรณโสภา จึงขอให้ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องของการสร้างอาชีพ โดยเริ่มต้นจากเทคนิคการย้อมสีฝ้ายให้สม่ำเสมอ จากปราชญ์ชาวบ้านที่มาให้คำแนะนำ อบรมให้กลุ่มผ้าย้อมสีธรรมชาติ แล้วพัฒนาเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์ และหมู่บ้านราชมงคล นำไปสู่ 1 ใน 11 หมู่บ้านท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยธรรมชาติ ที่งดงาม และมีวัฒนธรรมชุมชนที่มีความเอื้ออารีย์ต่อกัน

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ สกุลคู อาจารย์ประจำสาขาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เปิดเผยว่าภายหลังวิกฤติฟองสบู่แตก ผู้ใหญ่บ้านนาเชือกและพระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ ได้เข้ามาที่คลินิกเทคโนโลยี มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร และได้พบกับผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ที่เป็นงานต้นแบบจากการวิจัยและพัฒนาของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร พระอาจารย์จึงขอคำแนะนำเรื่องการสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านนาเชือก

แต่เดิมคนในชุมชนประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์และการทอผ้า การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ซึ่งมีการพัฒนามาเป็น “ผ้าย้อมมูลควาย” มีสีสันแปลกตา แต่ลักษณะของสีผ้ายังไม่มีความสม่ำเสมอ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จึงหยิบเอาอัตลักษณ์ของบ้านนาเชือกและขอการสนับสนุนจากสำนักงานปลัด กระทรวงวิทยาศาสตร์ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมมูลควาย จนกลายเป็นหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปี 2553 ที่ผ่านมา และยังมีการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมมูลควาย  โดยกลุ่ม “ก็ฝ้าย” จนมีชื่อเสียงและได้รับคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ Unseen Thailand ในปี พ.ศ.2556

ในส่วนกระบวนการผลิตผ้าย้อมมูลควาย ประกอบด้วย เส้นด้าย หรือเส้นฝ้าย สีย้อมฝ้ายหรือย้อมด้าย ที่มาจากสีธรรมชาติ อาทิเช่น มูลควาย เปลือกไม้ และดิน โดยนำเส้นฝ้ายมาตรวจสอบความเหมาะสมและทำความสะอาด หลังจากนั้นจึงนำเส้นฝ้ายไปย้อมสีตามต้องการ และนำมาทำความสะอาดโดยการซักล้างให้สีที่ตกค้างออกไป แล้วนำไปพึ่งให้แห้ง ขั้นตอนต่อมาคือการนำมาปั่นเข้าหลอดเพื่อนำไปเป็นเส้นพุ่งในการทอ ส่วนที่หนึ่งนำไปเข้าหลักเฝือ ตามขนาดที่ต้องการของความกว้างยาวของเส้นยืน แล้วจึงนำเส้นด้ายไปต่อเข้าฟีมและนำเข้ากี่เพื่อทำการทอต่อไป

                ปัจจุบันผ้าย้อมมูลควายกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับสมาชิก พร้อมการจัดแสดงสินค้าตามหน่วยงานต่างๆ อาทิ งาน OTOP งานนิทรรศการที่จังหวัดจัด ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิเช่น ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ หมวก เสื้อ ที่นอนเพื่อสุขภาพ กระเป๋า รวมถึงตุ๊กตาควายที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือกอีกด้วย

                นอกจากนี้บ้านนาเชือกยังมีการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเชิงท่องเที่ยวและบูรณาการการศึกษาโดยมีส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวร่วมกับ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร โดยมีการบูรณาการโครงการวิจัยร่วมกับโครงการหมู่บ้านราชมงคล ในการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมนการพัฒนาหมู่บ้านนาเชือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อให้พุทธมามกะ เข้ามาปฏิบัติธรรมในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้บ้านนาเชือก ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านนาเชือก เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรื่องกี่ และมีพื้นที่สำหรับตากฝ้ายหลังการย้อมผ้า ผศ.ดร.สุดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ