สนข.เร่งดันรถไฟฟ้า LRT ผุดตามเมืองภูมิภาค แก้ปัญหาจราจรยั่งยืน

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

สนข.เร่งดันรถไฟฟ้า LRT  ผุดตามเมืองภูมิภาค แก้ปัญหาจราจรยั่งยืน


จากนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค ซึ่งเป็นภารกิจหลักภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทไปแล้วใน 5 เมืองหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา พิษณุโลก และภูเก็ต

ล่าสุด สนข.นำสื่อมวลชนศึกษาและสำรวจเส้นทางโครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Light Rail Transit System (LRT)  จ.เชียงใหม่ พร้อมจัดกิจกรรม “Ready Together with OTP” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในจังหวัด รวมทั้งเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว เพื่อลดการใช้พลังงานในภาคการขนส่ง ลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และสามารถแก้ไขปัญหาจราจรของจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่ ที่มติที่ประชุม คจร.ได้มอบหมายให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปดำเนินโครงการนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.) พร้อมทั้งศึกษารูปแบบการลงทุน โดยจะเดินหน้าสายสีแดง (ศูนย์ราชการฯ-สนามบิน-แม่เหียะ) ระยะทาง 12 กม. วงเงิน 24,000 ล้านบาท เส้นทางเริ่มต้นจากแยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซีหางดง)-สนามบินเชียงใหม่-เซ็นทรัลแอร์พอร์ต-ม.เชียงใหม่ (สวนดอก)-รพ.มหาราชฯ-วัฒโนทัยพายัพ-สถานีขนส่งช้างเผือก-ม.ราชภัฎเชียงใหม่-สนามกีฬาสมโภช 700 ปี-ศูนย์ประชุมฯนานาชาติ-รพ.นครพิงค์ ถือเป็นเส้นทางที่เชื่อมกิจกรรมหลักของคนในเมือง เช่น สนามบิน มหาวิทยาลัย โรงเรียน และโรงพยาบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ การเสนอรูปแบบการลงทุนเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) นั้น ต้องการให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมกับเอกชนในพื้นที่ โดยรัฐบาลจะลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ท้องถิ่นอาจจะจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาเดินรถ หรือร่วมกับเอกชนที่มีเทคโนโลยีด้านการเดินรถเข้ามาบริหารจัดการเดินรถ ทั้งนี้ การลงทุนสร้างโครงการดังกล่าว ต้องดึงเอกชนต่างชาติเข้ามา เพื่อเรียนรู้ระบบการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และอาศัยประสบการณ์ของชาวต่างชาติที่มีความสนใจมาก ทั้งสเปน ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สนข. เคยศึกษาระบบขนส่งสาธารณะในเชียงใหม่แล้วเมื่อปี 2552 ผลการศึกษาเป็นระบบ BRT และตอนนั้นปัญหาการจราจรยังไม่มาก ทำให้ประชาชนต่อต้านจำนวนมากและโครงการไปต่อไม่ได้นั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้มีข้อสั่งการ พร้อมให้แนวคิดการนำระบบขนส่งสาธารณะพัฒนาเมืองภูมิภาคว่า จะต้องให้ประชาชนในพื้นที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วมของโครงการนั้น สนข.จึงเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่

สำหรับรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่นั้น สนข. เสนอให้ก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 3 สาย รวมระยะทาง 35 กม. วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.สายสีแดง (ศูนย์ราชการฯ-สนามบิน-แม่เหียะ) ระยะทาง 12 กม. 2.สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่-ท่าแพ-ดอนจั่น) 11 กม. และ 3.สายสีเขียว (แม่โจ้-กาดหลวง-สนามบิน) 12 กม. แต่ประชาชนเชียงใหม่อยากได้ระบบใต้ดินทำให้โครงการรถไฟฟ้ารางเบามีต้นทุนก่อสร้างสูงถึง 3 เท่า แต่ถ้าวิ่งบนดินทำให้ต้นทุนก่อสร้างถูกกว่า 3 เท่า เลยนำร่องสายสีแดงก่อน อย่างไรก็ดี จะเร่งรัดให้ทาง รฟม. เริ่มต้นก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2562 หรือต้นปี 2563 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดภูมิภาค ว่า โครงการรถไฟฟ้ารางเบาในต่างจังหวัดที่ คจร. เห็นชอบแล้ว ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ซึ่งได้โอนให้ รฟม. ดำเนินการต่อทั้งหมด โดยจ.ภูเก็ต ทางภาคเอกชนและท้องถิ่นเริ่มตั้งบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง เข้าร่วมพัฒนา ส่วนโคราชและเชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมรูปแบบการให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบพีพีพี

ส่วนจ.ขอนแก่นและพิษณุโลก ทางสนข.เตรียมเสนอโครงการศึกษาฯ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม รถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่น และเมืองพิษณุโลก เข้าที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ย. 2561 นี้ จากนั้นจะมอบให้ท้องถิ่นดำเนินการต่อไป โดยจะต้องดำเนินการก่อสร้างตามกฎหมายท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ