“เกษตรทำเงิน” วันนี้ขอพาท่านผู้อ่านลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อชมแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
จุดแรกที่ห้ามพลาดคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเมล่อนหมู่ใหญ่ร่วมใจพัฒา ต.คู้สลอด อ.ลาดบัวหลวง ที่นี้เป็นกลุ่มวิสาหกิจน้องใหม่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เริ่มรวมตัวกันหลังปี 2554 หลังจากที่ราคาข้าวตกต่ำไม่ได้ราคาเหมือนสมัยก่อน ชาวบ้านที่นี้เลยต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ด้วยการหันมาปลูกเมล่อน
“เดิมชาวบ้านแถวนี้มีอาชีพทำนาและปลูกผักบุ้งจีนขาย แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วม และน้ำแล้งต่อเนื่องหลายปี ทำให้อาชีพทำนา และปลูกผักบุ้งจีนไม่สามารถทำรายได้ให้ชาวบ้านได้ ทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงนำเกษตรกรไปศึกษาดูงานผู้ปลูกเมล่อนที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยยนพืชที่ปลูกและเริ่มให้ความสนใจเมล่อนมากขึ้น” นายสวาท สุขนุ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้น
เมล่อนที่นี้จะปลูกภายในโรงเรือน เนื่องจากป้องกันโรคและแมลงได้ดีกว่าปลูกกลางแจ้ง ที่สำคัญลดการใช้สารเคมีได้ด้วย ทำให้ผลผลิตปลอดภัยจนได้รับมาตรฐาน GAP ผลผลิตของกลุ่มส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งจำหน่ายให้กับโมเดิร์นเทรด ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายให้กับพ่อค้ารายย่อย
“รายได้จากการปลูกเมล่อนถือว่าดีกว่า ทำนา สมาชิกกลุ่มอยู่ได้ ไม่ต้องเผชิญกับสารเคมีเหมือนแต่ก่อน” เกษตรกรสมาชิกกลุ่มรายหนึ่ง กล่าว
“หากมีการแผนการท่องเที่ยวสวนเมล่อนเข้ากับแผนการท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรได้มากขึ้นจึงขอเชิญชวนให้มาท่องเที่ยวกันเยอะ” ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ กล่าว
จากกลุ่มเมล่อน ไม่ไกลกันมาก เราได้พบกับกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษตำบลสิงหนาท ที่ผลิตผักสวนครัว ส่งออกไปยังยูโรป หรือ EU มานานตั้งแต่ปี 2543 ทุกวันจะมีรถจากบริษัทส่งออกมารับผักภายในหมู่บ้าน ที่นี้รวมกลุ่มกันปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ
“ที่บอกว่าผักปลอดภัยจากสารพิษ เพราะพื้นที่ไม่สามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ จะมีการใช้สารเคมีบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่ใช้สารเคมี จึงกลายเป็นปลูกผักปลอดภัยจากสารเคมี ไม่ใช้ปลอดสาร” นายบัญชา พวงสวัสดิ์ กำนันตำบลสิงหนาท กล่าว