รองศาสตราจารย์ ดร.บุญชัย วิจิตรเสถียร รองอธิบดีฝ่ายยุทธศาสตร์แผนและงบประมาณ มทส. พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ ทองทา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และนายปัญญา หันตุลา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม มทส. ร่วมแถลงข่าวพร้อมสาธิตผลงานวิจัย “เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์อัตโนมัติโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ”
โดยเป็นการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิตอล ใช้เวลาศึกษาวิจัยและออกแบบเป็นเวลา 4 เดือน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การศึกษาอากาศยานไร้คนขับ(UAV) หรือโดรนที่สามารถบินตามเส้นทางที่กำหนดไว้โดยอัตโนมัติและการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับโปรยเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อติดตั้งบนโดรนใช้งบประมาณ 2 แสนบาทต่อเครื่อง ซึ่งเป็นราคาเทียบเท่ากับโดรนทางเกษตรที่ใช้อยู่ทั่วไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ เปิดเผยว่า การออกแบบอากาศยานไร้คนขับถือเป็นส่วนสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ เนื่อง จากต้องคำนึงถึงลักษณะการนำไปใช้งาน โดยพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เช่น โครงสร้าง, น้ำหนักบรรทุกแลระยะเวลาในการบิน
ส่วนเครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ตัวอากาศยานไร้คนขับเป็นแบบหลายใบพัดหรือ Multirotor UAVs โดยสร้างจากวัสดุคาร์บอนไพเบอร์ทำให้ตัวโดรนมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง 2.อุปกรณ์โปรยเมล็ดพันธุ์เป็นส่วนที่ทีมวิจัยได้ ออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยใช้พลาสติกเป็นโครงสร้างทำให้มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน เมล็ดพันธุ์จะถูกบรรจุอยู่ในกระบะบรรจุติดตั้งอยู่ด้านบนอุปกรณ์โปรยเมล็ดพันธุ์
หลังจากนั้นฟันเฟืองถูกขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์เพื่อตักเมล็ดพันธุ์และโปรยลงไปด้านล่าง ซึ่งสามารถปรับอัตราการโปรยได้ตามที่ต้องการ ตัวโดรนทำหน้าที่บินและนำพาอุปกรณ์ไปตำแหน่งที่ต้องการ ซึ่งมอเตอร์ไฟฟ้าของโดรนทุกตัวจะรับคำสั่งจากอุปกรณ์ควบคุมการบินโดยมีเซนเซอร์วัดระดับทิศทางของแกนหมุนเพื่อปรับการทรงตัวของโดรนในขณะบินอยู่ให้อยู่ในแนวดิ่งและรักษาตำแหน่งทิศทางการบินด้วยระบบ GPS สามารถควบคุมการบิน ความเร็วและความสูงจากรีโมทคอนโทลได้แม่นยำและตั้งโปรแกรมการบินอัตโนมัติผ่านคอมพิวเตอร์ เมื่อโดรนบินครบตามจุดที่กำหนดจะบินกลับมาตำแหน่งเริ่มต้นอย่างอัตโนมัติ
โครงสร้างของโดรนต้นแบบมีขนาดความกว้าง 1.2 เมตร สูงจากพื้นดิน 1 เมตร บรรทุกน้ำหนักสูงสุด 20 กิโลกรัม (รวมน้ำหนักโดรน) สามารถหว่านเมล็ดพันธุ์ได้หลากหลายชนิด เช่น เมล็ดข้าว, เมล็ดถั่วเขียว บรรจุเมล็ดพันธุ์ได้ครั้งละ 5 กิโลกรัม ระยะเวลาบินต่อเนื่อง 15 นาที ความเร็วที่เหมาะสม 1-2 เมตรต่อวินาที ความสูง 2-3 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเมล็ดพันธุ์พืช ใช้เวลาในการโปรยประมาณ 25-30 นาทีต่อไร่
“นับเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรไทย ทั้งประหยัดเวลาและแรงงาน สอดรับกับนโยบายเกษตร 4.0 รวมทั้งต่อยอดให้เหมาะสมกับการใช้งานประเภทอื่น เช่นการหว่านปุ๋ย การโปรยสารเคมีหรือการขนส่งยาเวชภัณฑ์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 5-6 กิโลกรัม เข้าไปในพื้นที่มนุษย์เข้าถึงได้ยากลำบาก รวมทั้งช่วยในการเพาะพันธุ์ขยายพื้นที่ป่าไม้ตามลักษณะภูมิประเทศต่างๆที่มีอุปสรรคในการเดินทาง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ กล่าว