"ปักหมุด​ ชักธงรบ" เต็มกำลัง​ สู้ศึกตลาดเอ็นนาจี้ดริ้ง ​เวียดนาม​ ... ความท้าทายอีกหนึ่งก้าวของกลุ่มธุรกิจ​ "TCP"

วันศุกร์ที่ 07 ธันวาคม พ.ศ. 2561



เวียดนาม” ถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองมากที่สุด เนื่องจากประชากรกว่า 90 ล้านคน ซึ่งกว่า 60% อยู่ในวัยทำงาน ทั้งนี้  เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศและกลุ่มคนที่อพยพไปอยู่ประเทศอื่นช่วงสงคราม เมื่อในสมัยอดีตที่ปัจจุบันนี้พวกเขาเหล่านั้นได้กลับมาประเทศบ้านเกิดพร้อมกับการนำ “ความรู้”,“ความหวัง” และที่สำคัญ คือ ความมุ่งมั่น” ที่จะกลับมาพัฒนาประเทศของตน เพราะพวกเขาเคยผ่านช่วงเวลาของการโดนกดขี่ และความยากลำบากมาอย่างยาวกว่าทศวรรษ ด้วยเหตุนี้  จึงส่งผลให้ประชาชน คนรุ่นใหม่” ของประเทศเวียตนามจึงมีความหวังและมุ่งหมายจะช่วยกันสร้างและพัฒนาชีวิตของพวกเค้าพร้อมกับประเทศให้ดียิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ เวียตนาม จึงถูกคาดหมายว่าน่าจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จากจุดนี้เองส่งผลให้ยิ่งได้รับโอกาสจากบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะเล็งเห็นแล้วการจะเข้าลองมาเปิดตลาดในเวียดนามนั้นมีโอกาสทางการตลาดและแนวโน้มมีทิศทางที่ดี 

จากข้อมูล ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันสินค้าไทยได้รับความนิยมในตลาดเวียดนามอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีหลายสินค้าที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูงถึง 2 หลักในปี 2560 อาทิ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสิ่งปรุงรส เป็นต้น

สำหรับวันนี้เราจะมาเจาะลึกในกลุ่มของ เครื่องดื่ม” ในตลาดเวียตนาม ซึ่งการวิจัยโดย Nielsen รายงานว่า ในปัจจุบัน ตลาดเครื่องดื่มของเวียดนามมีผู้ดําเนินธุรกิจด้านเครื่องดื่มมากกว่า 1,800 ราย บริษัทท้องถิ่นเวียดนามมีสัดส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารร้อยละ 69 และเครื่องดื่มร้อยละ 45 ทั้งนี้ BMI (กลุ่มสํารวจตลาดของสหราชอาณาจักร) คาดการณ์ว่า มูลค่าการค้าเครื่องดื่มจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เช่นเดียวกับสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เวียดนามที่ระบุว่า การบริโภคเครื่องดื่มของคนเวียดนาม โดยเฉลี่ยมากกว่า 23 ลิตรต่อปีต่อคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงเป็นเหตุให้ตลาดเครื่องดื่มในเวียดนามมีการแข่งขันสูง 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นตลาดการลงทุนสาขาการผลิตเครื่องดื่มที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโต เนื่องจากมีประชากรสูงและส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีความต้องการซื้อสูง ต้องการบริโภคสินค้าที่แปลกใหม่และหลากหลาย ซึ่งสำนัก BMI ประมาณการณ์ว่า ในช่วงปี 2560 – 2562 อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10.9 ต่อปี ขณะที่ สำนัก งานสถิติแห่งชาติเวียดนามรายงานว่า ในปี 2560 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มเวียดนามเติบโตร้อยละ 5  

ด้วยจากโอกาสทางธุรกิจของกลุ่มเครื่องดื่มในประเทศเวียตนามที่ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจและคาดว่าจะมีการเติบโตที่สดใส ในอนาคต ทาง “กลุ่มธุรกิจ TCP” ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส    สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ ซันสแนค และวอริเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ก็มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เล็งเห็นโอกาสการเติบโตในกลุ่มเครื่องดื่มตลาดเวียตนาม โดยเฉพาะในกลุ่มแอนนีจี้ดริง จึงได้นำร่องสินค้าอย่าง “กระทิงแดง” เข้ามาทดลองทำการค้าขายในตลาดเวียตนามเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปี และปัจจุบันเป็นแบรนด์เบอร์ 1 ของกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังในตลาดเวียตนามที่มีมูลค่าแชร์ในตลาด 40 กว่า% ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP มีรากฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในตลาดเวียตนามอย่างมาก 

ล่าสุด นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เปิด บริษัท TCPVN โดยมีสำนักงานของบริษัท TCP ในต่างประเทศแห่งแรก ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และกลุ่มธุรกิจ TCP ถือหุ้น 100% ผู้บริหารได้ กล่าวว่า การเปิดบริษัทดังกล่าวที่เวียดนามครั้งนี้ เป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ต้องการเป็นองค์กรธุรกิจที่สามารถนำความภาคภูมิใจมาสู่ประเทศไทยในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มที่เป็นแบรนด์ไทย โดยเราได้วางแผนธุรกิจ 3 ปีของ TCP ในเวียดนาม หรือ (บริษัท TCPVN จำกัด) ด้วยการลงทุนเพิ่ม 4,000 ล้านบาท ในปี 2562-2564 ซึ่งถือเป็นการลงทุนมากสุดในรอบ 3 ปี เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ TCPVN ใน 3 ส่วนหลัก คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถของทีมงานวิจัยตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การบริหารจัดการด้านการตลาดและการขายด้วยทีมงานมืออาชีพระดับโลก และการบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมและทันสมัย

เราจะมุ่งมั่นพัฒนาบุคลากร และเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพของทีมงาน TCPVN ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่เชี่ยวชาญข้อมูลเชิงลึก ที่มีความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภค ไลฟ์สไตล์ และวิถีชุมชนของคนเวียดนามอย่างดีที่สุด เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ปรับปรุง หรือพัฒนาให้แบรนด์ของเราที่มีจำหน่ายอยู่แล้วในท้องตลาดมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้ง จะทำการคิดค้น พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตลาดเวียตนาม เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจ TCP เป็น “เฮาส์ออฟแบรนด์” โดยตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปี เราจะมีสินค้าใหม่อย่างน้อย 1 แบรนด์วางจำหน่ายในตลาดเวียดนาม”

โดย เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราพบว่ายังมีผู้บริโภคชาวเวียดนามที่ต้องการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังที่ยังคงให้ความรู้สึกเหมือนดื่มน้ำอัดลม เราจึงได้วิจัยและพัฒนาจนออกมาเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอัดลม “แบรนด์วอริเออร์” (Warrior) สร้างขึ้นมาเพื่อตลาดเวียดนาม และได้นำออกมาวางจำหน่ายในปี 2558 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี มียอดขายเติบโตต่อเนื่อง 100% ทุกปี และติดอันดับเป็นแบรนด์ที่มีแชร์เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มเครื่องดืมชูกำลังในเวียตนาม โดยคาดว่ายอดขายสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงเท่าตัว ทั้งนี้ จากการเปิดสำนักงานที่เวียดนามนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจ 5 ปี ของทั้งกลุ่มธุรกิจในบริษัท ที่ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2560 ที่มุ่งสร้างยอดขายของกลุ่มทั้งหมดโตขึ้น 3 เท่าหรือมียอดเป็น 100,000 ล้าน แต่ปีนี้คาดว่ารายได้ทั้งกลุ่มธุรกิจจะปิดอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท

ด้าน นายวัสนัย กฤษอร่ามเรือง ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจต่างประเทศ กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวปิดท้ายว่า การที่เราเลือกมาเปิดสำนักงานที่เวียดนาม เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่ มีศักยภาพสูง และมีโอกาสที่ตลาดเครื่องดื่มพร้อมดื่มจะเติบโตอีกมาก เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนเวียดนามจะนิยมบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อใช้ในการดับกระหาย รวมถึงใช้บริโภคควบคู่ไปพร้อมกับมื้ออาหาร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของคนที่ทำงานหนัก และต้องการพลังงานจากเครื่องดื่มชูกำลังมาช่วยเสริม สำหรับตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของเวียดนาม มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจุบันในภูมิภาคเอเชีย เวียดนามเป็นที่สองรองจากประเทศจีนเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มีจำหน่ายอยู่แล้วมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องกว่า 25% ซึ่งเป็นการเติบโตที่มากกว่าตลาดรวม สำหรับยอดขายสินค้าของกลุ่มธุรกิจ TCP ในตลาดเวียดนาม คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมียอดขายรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดรวมทุกแบรนด์ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังราว 42%



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ