สนข.ศึกษาแผนอนุรักษ์พลังงานขนส่งทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562

สนข.ศึกษาแผนอนุรักษ์พลังงานขนส่งทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน


จากสภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกิดการเดินทางและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากการขนส่งทางอากาศมีความสะดวก รวดเร็ว ทำให้มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมและการใช้พลังงานจำนวนมากที่ท่าอากาศยาน รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมาการใช้พลังงานภาคการขนส่งทางอากาศ คิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เติมเครื่องอากาศยานแต่เพียงอย่างเดียว (Jet Fuel) โดยมีการใช้พลังงานกว่า 4,200 ktoe/ปี ยังไม่นับรวมการใช้พลังงานจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการการเดินทางทางอากาศและกิจกรรมของท่าอากาศยาน

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดการประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 เพื่อเผยแพร่ รายงานการศึกษาโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางอากาศ ในประเทศ

นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้พลังงานในมิติดังกล่าวและเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการขนส่งทางอากาศให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางอากาศในประเทศ

โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน และมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลศักยภาพการประหยัดพลังงานรวมทั้งแนวทางการขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม และจัดทำค่าเป้าหมายการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งทางอากาศในประเทศ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางอากาศ ซึ่งสอดรับกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2558-2579)

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษา พบว่า ในปี 2560 ท่าอากาศยานทั่วประเทศ ใช้พลังงานรวม 175,630 toe และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,158,025 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า โดยมาจากน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ ร้อยละ 70 และไฟฟ้าร้อยละ 30 เมื่อวิเคราะห์ตามพื้นที่กิจกรรม พบว่าพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) ใช้พลังงานมากที่สุดร้อยละ 62-65 รองลงมา พื้นที่อาคารผู้โดยสาร ใช้พลังงานร้อยละ 30 และในพื้นที่การบิน (Airside) ใช้พลังงานร้อยละ 5-10 ตามลำดับ สำหรับพื้นที่นอกเขตการบิน (Landside) การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ส่วนมากมาจากรถยนต์ส่วนบุคคล และการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานด้วยรถกึ่งสาธารณะ ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้ รถเช่า พื้นที่อาคารผู้โดยสาร การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนมากมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศ ร้านค้าเชิงพาณิชย์ และไฟฟ้าส่องสว่าง และพื้นที่การบิน (Airside) การใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนมากมาจากรถบัสรับ-ส่งผู้โดยสาร และอุปกรณ์ให้บริการภาคพื้นต่างๆ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดๆ คาดว่าอีก 20 ปี ในปี 2580 ท่าอากาศยานทั่วประเทศจะใช้พลังงานรวมถึง 396,518 toe และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,557,523 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

ดังนั้น จึงได้นำมาตรการที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ หรือ Best Practice มาประยุกต์ใช้ ประกอบกับการประชุมระดมความคิดเห็นและการสัมมนาโครงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมเสนอแนวทางมาตรการที่เป็นประโยชน์ และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานการขนส่งทางอากาศ ระยะสั้น 3 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 10 ปี อาทิ การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED ในพื้นที่ต่างๆ ของท่าอากาศยาน, การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพระบบเครื่องปรับอากาศ, การปรับปรุงผนังอาคาร เช่น ติดฟิลม์กันความร้อน, การส่งเสริมการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานโดยระบบขนส่งสาธารณะ และการเปลี่ยนมาใช้รถบัสรับส่งผู้โดยสารพลังงานไฟฟ้ารับ-ส่งผู้โดยสารในพื้นที่การบิน เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการตามแผนงานมาตรการต่างๆ ดังกล่าวในอีก 20 ปี ข้างหน้า หรือในปี 2580 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลช่วยประหยัดการใช้พลังงานประมาณ 61,681 toe และลดก๊าซเรือนกระจก 648,276 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 15 และร้อยละ 25 เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีฐานที่ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ (Business as Usual : BAU) ตามลำดับ

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ