เลื่อนเลือกตั้ง.. สะท้อน 'ยื้ออำนาจ-อยากอยู่ยาว..!'

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562

เลื่อนเลือกตั้ง.. สะท้อน 'ยื้ออำนาจ-อยากอยู่ยาว..!'


แม้นาทีนี้ ยังไม่มีใครคอนเฟิร์มว่า โปรแกรมเลือกตั้งจะต้อง “เลื่อน” อีกครั้ง จากกำหนดเดิมคือวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ขยับออกไปอีก ทั้งๆ กรอบเวลาได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อกลางเดือนกันยายน 2561 และมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2561

ตามโปรแกรม เมื่อมีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ “พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ” ให้ประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 2 ฉบับสุดท้าย คือ “พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561” กับ “พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิก (ส.ว.) พ.ศ.2561”

โดย “พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน นับแต่วันประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม 2561 การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน

“ปฏิทินเลือกตั้ง ส.ส.” จะลงตัวตามกรอบในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยสูตร “จัดสรรปันส่วนผสม”

โดยให้ประชาชนเลือก ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง 350 เขต และนำคะแนนผู้สมัคร ส.ส.ทั่วประเทศของพรรคนั้นๆ ไปคำนวณสัดส่วนจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ แล้วประกาศให้ประชาชนรับทราบเป็นการทั่วไป

ขณะที่ “พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.” กำหนดให้ ส.ว. มีทั้งสิ้น 200 คน แต่เฉพาะกาลในวาระเริ่มแรก 5 ปี กำหนดให้มี ส.ว. 250 คน มาจากการสรรหาของ คสช.จำนวน 194 คน มาจาก ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน และมาจากการเลือกตั้งโดยกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง 3 ระดับ และส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกขั้นสุดท้ายเหลือ 50 คน

แต่เนื่องจาก “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.)  เจออุปสรรคมากมาย ตั้งแต่ถูกร้องเรียนการแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งถูกคัดค้านจากพรรคการเมืองว่าไม่ใส่โลโก้พรรคในบัตรใช้สิทธิลงคะแนน ทำให้เกิดความสับสนทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง

กกต. จึงต้องเป็น “ห้องเครื่อง” ให้โปรแกรมเลือกตั้ง ที่กำหนดไว้แต่เดิม 24 กุมภาพันธ์ ต้องเลื่อนออกไปอีกระยะ โดย กกต. มีความเห็นสมควรกำหนดให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 10 มี.ค. อันน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะไม่ห่างจากกรอบเวลาเลือกตั้งเดิมที่เคยกำหนดไว้วันที่ 24 ก.พ. อันจะทำให้ทุกฝ่ายน่าจะพอรับได้หรือเกิดแรงกระเพื่อมน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ถือเป็นการเลื่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 4-6 พ.ค. ซึ่งทาง กกต. ประเมินแล้วว่าหากเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค. ก็จะสามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งได้ภายในกรอบเวลา 60 วัน ซึ่งวันสุดท้ายตรงกับวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งเลยพระราชพิธีไปแล้ว

อีกด้านหนึ่งย่อมทำให้ลดประเด็นความสุ่มเสี่ยงกรณีกรอบเวลา 150 วันที่ต้องจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ดังนั้นกรอบวันสุดท้ายจึงต้องไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. 2562

อย่างไรก็ดี ณ เวลานี้มี “ความเห็นที่แตกต่าง” กัน ด้านหนึ่งเห็นว่าการดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จนั้นต้องรวมถึงขั้นตอนการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย แต่อีกฝ่ายเห็นว่ากรอบ 150 วันนั้นไม่รวมกับเวลาประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งจะเปิดช่องให้สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้เกินกรอบวันที่ 10 มี.ค. 

แต่เพื่อความไม่ประมาทและตัดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดปัญหาในภายหลังจนอาจถึงขั้นทำให้การเลือกตั้งต้องเป็นโมฆะ ดังนั้นกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 10 มี.ค. จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่มีอยู่เวลานี้

โดยเฉพาะในฐานะที่ กกต. มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการกำหนดวันเลือกตั้ง การจะเปลี่ยนแปลงวันเลือกตั้งเป็นวันใด ช้าหรือเร็วจากกรอบเวลาเดิมมากแค่ไหน กกต. ย่อมต้องเป็นคนที่ออกมาอธิบายรวมถึงรับเสียงสะท้อนจากการตัดสินใจที่ดำเนินไป 

แม้จะมีความเห็นจากบางฝ่ายว่าควรจะส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต แต่นั่นย่อมอาจทำให้กระบวนการต้องล่าช้าออกไประหว่างรอการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

ทว่าอีกด้านหนึ่งฝั่ง คสช.กลับมีความเห็นว่าต้องการให้ เลื่อนเลือกตั้ง ออกไปเป็นวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งว่ากันว่าเป็นการ “ชิงจังหวะ” และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้มากที่สุด หลังจากที่รัฐบาล คสช.กำลังเผชิญกับแรงเสียดทานที่รุมเร้าจนฉุดให้คะแนนนิยมที่สั่งสมมาต้องลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ ขณะที่นโยบายลดแลกแจกแถมที่อัดฉีดลงพื้นที่หวังซื้อใจรากหญ้าก็ยังไม่เห็นผลอย่างที่คาดหวัง จึงหวังยื้อเวลาออกไปให้หลายนโยบายเริ่มเห็นผลมากขึ้น

แต่อีกด้านหนึ่งในแง่ การจัดวางตัวผู้สมัคร ซึ่งยังไม่เข้าเป้าในหลายพื้นที่จนประเมินแล้วมีความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถผนึกกำลังกับ 250 ส.ว.เฉพาะกาล ผลักดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัยอย่างที่ต้องการ

การต้องปรับเปลี่ยนวางแผนใหม่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับบรรดาพรรคต่างๆ ได้ในพื้นที่จึงอาจต้องยืดเวลาออกไปเพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ได้มากขึ้นจึงอาจเป็นทางเลือกที่รัฐบาล คสช. ต้องยอมเสี่ยงกับกระแสตีกลับ โดยเฉพาะบรรดา “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่ออกมาเคลื่อนไหวหนักขึ้นเรื่อยๆ

แต่ปัญหาทั้งหมดอยู่ตรงที่ความไม่ชัดเจนว่าการเลื่อนเลือกตั้งที่เคยกำหนดไว้วันที่ 24 ก.พ.นี้ นั้นสุดท้ายและจะเลื่อนไปเป็นเวลาใดกันแน่ ซึ่งจะกัดเซาะความเชื่อมั่นในภาพรวมของประเทศและพานกระทบไปถึงความเชื่อมั่นในการค้า การลงทุน และความร่วมมือจากต่างประเทศ

สอดรับกับล่าสุดสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้เผยแพร่หนังสือที่แจ้งไปยังนายทะเบียนจังหวัดทุกจังหวัดและนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ว่าได้รับการประสานจาก กกต. ว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงขอระงับการดำเนินงานตามแผนงานเตรียมการเลือกตั้งที่ได้แจ้งไว้

เหล่านี้ “สะท้อนภาพ” ความไม่ชัดเจน และจะย้อนกลับมาเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ซ้ำเติมการเลื่อนเลือกตั้ง จนไม่อาจสร้างความมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด

ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ จึงอยู่ที่การเร่งหาข้อสรุปและสร้างความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งให้ ได้เร็วที่สุดและเดินหน้าไปตามนั้น อย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะหากยิ่งยื้อเวลาออกไปนานเท่าไร

กกต. และ คสช. ก็จะกลายเป็นเป้าที่ถูกโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆว่า ต้อง “ยื้ออำนาจ-เขาอยากอยู่นาน” อย่างที่ประชา ชนทั่วไปตั้งข้อสงสัย..!?!



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ