ภารกิจ “กรมทางหลวงชนบท”
สร้าง “ความสุข-เจริญ-ปลอดภัย-เพิ่มรายได้” สู่ท้องถิ่น

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

ภารกิจ “กรมทางหลวงชนบท” <br> สร้าง “ความสุข-เจริญ-ปลอดภัย-เพิ่มรายได้” สู่ท้องถิ่น


เป็นที่ทราบกันดีว่า “ถนน” คือเส้นเลือดใหญ่ในการพัฒนาประเทศ เป็นเป็นระบบที่สูบฉีดความสะดวก สบายลงไปสู่การคมนาคมขนส่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าหากมีการตัดถนนผ่านไป ณ แห่งหนใด ก็จะดึงความเจริญลงไป ณ แห่งหนนั้นด้วย

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เปรียบเสมือนนักพัฒนาชาวบ้านท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และนำพาความเจริญลงไปให้ด้วย เพราะแน่นอนว่า ถ้าเมื่อใดที่ ทช. มีการตัดถนนลงไปยังพื้นที่ชนบทต่างๆ ให้มีการเดินทางที่สะดวก สบายมากยิ่งขึ้น ชาวบ้าน ชาวเกษตรกร ก็สามารถขนสินค้าออกมาขายให้มีรายได้ที่ดีจนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมฯ มีพันธกิจที่จะพัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบท เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง การสัญจร การท่องเที่ยว การพัฒนาชายแดน การพัฒนาเมือง การแก้ไขปัญหาจราจรด้วยการ สร้างทางต่อเชื่อม (Missing Link) ทางเลี่ยง (By Pass) และทางลัด (Shortcut) และพัฒนาเส้นทางให้สนองตอบระบบโลจิสติกส์ รวมทั้งบำรุงรักษาและอำนวยความปลอดภัยให้โครงข่ายทางหลวงชนบทอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและได้มาตรฐาน ทั้งนี้ ยังส่งเสริมและพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีระบบจัดการทางหลวงท้องถิ่นที่ถูกต้อง ได้มาตรฐาน และบุคลากรมีความรู้ด้านงานทาง สามารถจัดการวางแผน สำรวจออกแบบและซ่อมบำรุงได้

อย่างไรก็ตาม ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทุ่มงบปรับปรุงความปลอดภัยบนถนนทางหลวงชนบทมากกว่า 10,000 ล้านบาทหรือเฉลี่ยปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเดิม 40-60% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีไฮเทคมาใช้ตรวจจับจุดเสี่ยงอุบัติเหตุทั่วประเทศโดยประมวลผลจากจำนวนอุบัติเหตุ ลักษณะอุบัติเหตุและกายภาพของจุดนั้นๆ เป็นต้น โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปดำเนินการแล้วหลายจุดสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำได้ 80%

สำหรับกับภารกิจรีแบรนด์ดิ้งถนนท้องถิ่นไปสู่ถนนเลียบชายฝั่งระดับโลกความยาวไม่ต่ำกว่า 1,200 กม. ภายใต้ชื่อว่า ไทยแลนด์ริเวียร่า เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกลากยาว ตั้งแต่จ.สมุทรสงคราม-จ.สงขลา เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางเลียบชายฝั่งที่ยาวมากที่สุดในภูมิภาอาเซียนและอาจมีความยาวติดอันดับโลก รัฐบาลจึงหวัง ยกระดับให้เป็นเมืองท่องเที่ยวชายทะเลเพื่อการพักผ่อนระดับโลกส่งเสริมการท่อวเที่ยวเมืองรองไปพร้อมกับรูปแบบท่องเที่ยวเชื่อมโยงชุมชน เกษตร วัฒนธรรมตลอดจนสนับสนุนแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)

โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น เฟส 1 ช่วงสมุทรสงคราม-ชุมพร ระยะทาง 658 กม. วงเงินลงทุน 5.1 พันล้านบาทขณะนี้ยังเหลืองานก่อสร้างอีก 176 กม. คาดว่าจะพร้อมเปิดวิ่งตลอดเส้นทางในปี 2565 ส่วนด้านเฟส 2 ช่วง ชุมพร-สงขลา ระยะทาง 600 กม.นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดการก่อสร้างและเม็ดเงินลงทุน จะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค. 2562 ก่อนของบประมาณดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสถานีริมทาง หรือ road side station ที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำ จุดพักรถ จุดจอดรถที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม เลนส์จักรยานไปจนถึง ร้านค้าปลีกส่งเสริมการขายสินค้าโอท็อปและเอสเอ็มอีท้องถิ่น ขณะที่จุดพักรถขนาดใหญ่จะมี 2 แห่ง ที่ จ.ชุมพร และจุดใหญ่อยู่ที่ถนนพระราม 2 บริเวณ กม.ที่ 73 พื้นที่ 3 ไร่ ก่อสร้างเป็นรูปประภาคารเพื่อเป็นสัญลักษณ์จุดเริ่มต้นถนนเลียบชายฝั่งทะเล

อย่างไรก็ดี ล่าสุด ทช.ได้เปิดสะพานข้ามทางรถไฟและอุโมงค์ลอดทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟ กับถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.1021 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 – บ้านหน้าป้อม อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อย่างเป็นทางการ โดยสะพานข้ามทางรถไฟ และทางลอดแห่งนี้เป็นโครงสร้างพิเศษ ความยาว 340 เมตร พร้อมทางกลับรถใต้สะพานและถนนต่อเชื่อมสองฝั่ง ความยาวรวม 985 เมตร พร้อมก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางรถไฟ ความยาว 126.11 เมตร สำหรับพาหนะขนาดเล็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ และได้ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 175.370 ล้านบาท หลังจากนี้ ทช. จะเร่งดำเนินก่อสร้างให้ครบทั้ง 31 แห่ง จากปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้การแล้ว 28 แห่ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถและการสัญจรของประชาชน และช่วยให้ขบวนรถไฟวิ่งด้วยความเร็วเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง และช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุและจราจรติดขัดสะสม



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ