พระเครื่องรุ่นแรกของเมืองไทย (2)

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระเครื่องรุ่นแรกของเมืองไทย (2)


พระกริ่งคลองตะเคียน นอกจากจะเป็นพระเครื่ององค์แรกของเมืองไทยเราแล้ว รูปลักษณ์ก็ยังโดดเด่น ไม่มีพระเครื่องรุ่นใหนเทียบเคียงได้ เป็นพระกริ่งเนื้อดินที่มีพุทธลักษณะเร้าใจ เพียงแค่ได้เห็น ก็รู้ว่าเป็นพระดี ตลอดทั้งรูปร่าง เนื้อหา อักขระเลขยันต์และเม็ดกริ่งที่อยู่ภายใน มีทั้งที่ปลายแหลมและปลายไม่แหลม พระกริ่งคลองตะเคียนองค์ที่มีปลายแหลมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของพระกริ่งคลองตะเคียน เห็นที่ไหนก็รู้ทันที สมัยก่อนเรียกว่า "พิมพ์เล็บครุฑ" มาสมัยนี้คนไม่เรียกกันอย่างนี้แล้ว เรียกกันง่ายๆ แค่ว่า "พิมพ์ปลายแหลม" ซึ่งขลังสู้ของเก่าไม่ได้ ส่วนพิมพ์ที่ปลายไม่แหลมสมัยก่อนเรียกกันว่า "พิมพ์เล็บมือ" มาสมัยนี้เรียกว่า "พิมพ์ปลายมน" ในแต่ละพิมพ์ก็ยังแยกไปอีก เป็นพิมพ์หน้าใหญ่ หน้ากลาง หน้าเล็ก และพิมพ์สองหน้า ทุกพิมพ์ทุกขนาดจะมีการลงอักขระเลขยันต์ทั่วทั้งองค์ด้วยลายมือจาร ด้านหน้าเป็นพระพุทธ มีผนังโพธิ์ด้านหลัง ในพระพิมพ์หน้าใหญ่ ไหล่ยก องค์ที่โพธิ์ติดชัด จะนับใบโพธิ์ได้ 9 ใบ ทางด้านขวาขององค์พระ และนับได้ 8 ใบ ทางด้านซ้ายขององค์พระ
ในเรื่องสีของพระ ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นสีดำเงา แสดงถึงความเก่าของรักที่ลงไว้ ซึ่งยิ่งเก่าก็ยิ่งดำเป็นเงา บางองค์สีดำจางลงสาเหตุจากอะไรก็แล้วแต่ ก็จะเห็นผิวชั้นในเป็นสีน้ำตาลของเนื้อดิน อาจจะเป็นสีเหลืองปนเขียว หรือสีอื่น ก็คือสีของ ดินที่เคยถูกรักที่ลงไว้ปกคลุมอยู่ทั้งนั้น เหมือนกับสีดินของพระรอด พระคง พระผงสุพรรณที่ไม่ได้ลงรัก ตามที่มีผู้เข้าใจว่าเนื้อพระกริ่งคลองตะเคียนมีผงใบลานเผาผสมอยู่ เนื้อพระจึงเป็นสีดำนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ผงใบลานเผาเป็นสีดำ ดินเป็นสีน้ำตาล ผสมกันแล้วก็ต้องเป็นสีน้ำตาลแก่ หรือสีดำอ่อน จะเป็นสีดำเข้มแบบสีของพระกริ่งคลองตะเคียนได้อย่างไร
ในเรื่องรูปลักษณ์ของพระกริ่งคลองตะเคียน โดยเฉพาะองค์ที่เป็นเรือธง หรือองค์ทีเป็นสัญลักษณ์ของพระกริ่งคลองตะเคียน ซึ่งได้แก่ พิมพ์หน้าใหญ่ ไหล่ ยก ปลายแหลมนี้ นับว่าพระอาจารย์ผู้สร้าง ในยุคสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อน สามารถ รังสรรค์พระเครื่องเยี่ยงนี้ขึ้นมาได้ น่าจะบ่งบอกได้ว่า ท่านต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ความไม่ธรรมดาที่เห็นได้อีกประการหนึ่ง ของพระกริ่งคลองตะเคียน ก็คือเรื่องของ "กระบวนการสร้าง" พระที่สำเร็จออกมา ทั้งพิมพ์ ทั้งเนื้อ ทั้งกริ่ง และยันต์ที่จารด้วยมือทั้งองค์ ซึ่งไม่เคยพบเห็นการสร้างแบบนี้มาก่อน ก็ต้องนึกถึงกระบวนการสร้างว่าจะยุ่งยากสลับซับซ้อนถึงปานใด
เริ่มจากการเอาดินที่ละเอียดมาก (เป็นดินตะกอนสีน้ำตาลซึ่งหาได้ไม่ยากในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง น่าจะเป็นดินที่เรียกว่า "ดินเหนียว" ที่ว่าต้องละเอียดมากนี้ ก็เพราะว่าผู้เขียนเคยเห็นพระกริ่งคลองตะเคียนบิ่นอยู่องค์หนึ่ง เนื้อในจะเป็นสีน้ำตาลและละเอียดมาก) นำมาปั้นเป็นก้อนขนาดเท่ากับพระแต่ละองค์ กดลงบนแม่พิมพ์แล้วแต่งด้านหลังให้สวยงาม การใส่เม็ดกริ่งก็สันนิษฐานว่า ขณะที่กดมวลสาร ลงพิมพ์นั้น ก็ต้องเสียบแท่งไม้ปลายมนขนาดเท่าหลอดกาแฟคาไว้ด้วย เมื่อแต่งด้าน หลังแล้ว ก็ดึงไม้ออก จึงมีที่ว่างกลวงภายในองค์พระ นำเม็ดกริ่งสองเม็ดที่แห้งสนิท บรรจุเข้าไปแล้วปิดรู (บรรจุสองเม็ดเพื่อให้กระทบกันเองจะมีเสียงดัง) นำพระที่ได้ ไปผึ่งจนแห้งสนิท (ถ้าเผาหรือถูกแดดแก่ พระจะแตกเพราะน้ำจะเร่งระเหยดันออก มา) เมื่อแห้งสนิทแล้วก็นำไปลงรัก รักแห้งดีแล้วก็เอามาจารเป็นเลขยันต์ทั้งองค์ตาม ที่เห็น เป็นอันเสร็จกระบวนการสร้างพระก่อนการปุลกเสก
อดุลย์ ฉายอรุณ : โทร.08-8696-5994


บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ