กรุงไทยชี้อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน เป็นธุรกิจแห่งอนาคตและโอกาสทองของ SME

วันจันทร์ที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2562

กรุงไทยชี้อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน เป็นธุรกิจแห่งอนาคตและโอกาสทองของ SME


ธนาคารกรุงไทยแนะอาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน (Functional Foods) เป็นเทรนด์อาหารแห่งอนาคต โดยมีขนาดประมาณ 68,000 ล้านบาท และคาดจะโตเฉลี่ยปีละ 4% สามารถสร้างผลกำไรสูงกว่าอาหารทั่วไปเกือบ 3 เท่า และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ที่ภาครัฐส่งเสริม ที่สำคัญยังไม่มีผู้นำตลาดอย่างชัดเจน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ในการเจาะตลาด  โดยควรร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญช่วยทำวิจัย เพื่อประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า จากการทำบทวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ของอาหารทั่วไป หรือ  Functional Foods  ซึ่งเป็นอาหารสำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้ออกกำลังกาย กลุ่มผู้ใส่ใจความงาม พบว่ามีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประเมินมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 68,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% ซึ่งในต่างประเทศอัตรากำไรของบริษัทที่ทำ Functional Foods จะสูงกว่าอาหารทั่วไปถึงเกือบ 3 เท่า โดยมีอัตรากำไรเฉลี่ยสูงถึง 7.3% ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารทั่วไปอยู่ที่ 2.8 % อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน

นอกจากนี้ Functional Foods ยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น  และมีแนวคิดว่าการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค รวมทั้งต้องการทางเลือกที่ไม่ใช่ยา จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ในการเจาะตลาดนี้ ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเข้าไม่ถึง และยังไม่มีผู้นำตลาดอย่างชัดเจน ที่สำคัญผู้บริโภคในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคุณค่าและประโยชน์ของสารอาหารมากกว่าราคา ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา โดยกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มอาหารที่ให้พลังงานสูง กลุ่มควบคุมน้ำหนัก และกลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน

ทางด้าน นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strategy กล่าวเสริมว่า ในการเตรียมตัวเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาด Functional Foods ผู้ประกอบการควรสำรวจความต้องการของตลาด ศึกษาสารอาหารที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และควรเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อช่วยทำวิจัย เช่น  ผู้ผลิตสารอาหารเฉพาะด้าน (Functional Ingredients) และหน่วยงานวิจัยจากภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา เพื่อลดความเสี่ยงในการทำวิจัยเอง และช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาดได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องของรสชาติที่อร่อย การรักษาคุณสมบัติของสารอาหารให้คงเดิม และได้มาตรฐานการผลิต ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ผู้ประกอบการต้องเข้าใจเรื่องการรักษาคุณค่าของสารอาหารที่เติมลงไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษาคุณค่าของสารอาหารก้าวหน้าไปมาก เช่น เทคโนโลยี Encapsulation ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างชั้นป้องกันสารสำคัญจากปฏิกิริยาหรือสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีในการรักษารสชาติ สี กลิ่น ให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์อาหารเดิม ทั้งนี้ เป็นที่แน่นอนว่า ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์ Functional Foods ใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และหากเป็นไปตามที่ภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ ในปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการอาหารที่มีนวัตกรรมอาหารประมาณ 9,000 ราย”



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ