‘ภูเก็ต’ จับมือแน่น สร้าง ‘กฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชื่อมโลก

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

‘ภูเก็ต’ จับมือแน่น สร้าง ‘กฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชื่อมโลก


เทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และสมาคมการผังเมืองไทย ร่วมลงนามกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง เพื่อพัฒนาเมืองป่าตองสู่การเป็นศูนย์เศรษฐกิจไมซ์ที่ยั่งยืน นอกจากนี้ต้องการยกระดับเมืองป่าตองให้เป็นเมืองไมซ์มาตรฐานระดับเอเชีย ด้วยการตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคโรงแรม ภาคการประชุม ภาคการค้า ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคที่อยู่อาศัย และภาคชุมชนชาวเมืองป่าตอง

คุณเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต เปิดเผยว่า ใจความสำคัญของ “กฎบัตรไมซ์เมืองป่าตอง” คือ การเป็นเครื่องชี้ทิศทางและกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของเมืองป่าตอง (New Platform for Patong Sustainability) เป็นทางเลือกรูปแบบการพัฒนาใหม่ (New Urban Development Platform) ในด้านนโยบายสาธารณะในการออกแบบยุทธศาสตร์เมืองป่าตอง ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนร่วมกันลงนามในการนำแผนสู่การปฏิบัติ โดยปรับเกณฑ์ Smart Growth ให้เป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านกายภาพเพื่อยกระดับเมืองป่าตองให้เป็นเมืองสีเขียว ส่งเสริมความสามารถในการเชื่อมต่อทางอากาศ ถนน ราง และทะเล เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงด้วยการเดิน และระบบขนส่งมวลชน ส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในการนำกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตองมาใช้คือ การเป็นหัวจักรขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมต่อโลก เชื่อมต่อผู้ที่เยี่ยมเยือนทั่วทุกภูมิภาค กระตุ้นและกระจายเศรษฐกิจด้วยพลังของการลงทุนท้องถิ่น สร้างความคุ้มค่าในการใช้ที่ดิน สงวนรักษาแหล่งน้ำ โครงข่ายธรรมชาติ พื้นที่ชายหาด พื้นที่ธรรมชาติป่าเขา และยกระดับฐานภาษีให้กับรัฐบาลในระยะยาว โดยค่าเป้าหมายของกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตองแบ่งออกเป็น 6 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนาเครือข่ายไมซ์ (MICE Industry): โดยจะเพิ่มศูนย์ประชุม 4 แห่ง ขนาด 75,000 ตร.ม. รับผู้มาเยือนได้ 5,000 คน/แห่ง รวม 30,000 คน/วัน เพิ่มกิจกรรมการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลร้อยละ 15 ต่อปี มีอัตราการจ้างงานของกลุ่มกิจการบริหารจัดการไมซ์ และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของกิจการขนส่ง การเดินทาง และการประกันภัย

2.การยกระดับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy): เพิ่มการลงทุนในพื้นที่บริการ ศูนย์การค้า และพื้นที่ค้าปลีกไม่น้อยกว่า 2 เท่า เพิ่มอัตราการจ้างงานขึ้น 2 เท่า และเพิ่มความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีขึ้นร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ต้องเพิ่มศักยภาพในการลงทุน การวิจัย การพัฒนา การฝึกอบรม นวัตกรรม และเทคโนโลยี

3.การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชน (Housing): เพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนทุกระดับรายได้ โดยเพิ่มการลงทุนไม่น้อยกว่า 20,000 ยูนิต ในช่วง 5 ปีแรก และจำนวนไม่น้อยกว่า 40,000 ยูนิต ในช่วงแผน 10 ปี อีกทั้งยังจะจัดตั้งหน่วยงานในเทศบาลป่าตอง และรับผิดชอบด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย

4.การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง (Green Transportation): จะมีโครงข่ายทางเดินที่สามารถเชื่อมต่อทั่วทั้งเทศบาลให้ถนนริมชายหาดเป็นถนนแห่งการเดิน ในระยะ 5 ปี มีทางเดินเท้าครอบคลุมทั้งเขตเมือง ร้อยละ 100 ภายใน 5 ปี มีระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ถนนสาย 1 และสาย 2 ภายใน 5 ปี อีกทั้งยังเพิ่มความถี่ของรถขนส่งสาธารณะ 1 เท่าตัว จำนวน 4 เส้นทาง และเพิ่มคุณภาพของรถขนส่งสาธารณะในถนนสายสำคัญภายใน 5 ปี

5.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure): มีการออกแบบแผนแม่บทการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว  ออกแบบปรับปรุงลักษณะทางกายภาพคลองปากบาง ส่งเสริมการพัฒนาย่านเศรษฐกิจด้วยกิจการของชุมชนเพื่อเพิ่มพื้นที่นันทนาการ และกิจกรรมทางน้ำ อีกทั้งยังมีแผนแม่บทพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานรองรับภัยพิบัติ

และ 6.การปรับปรุง ฟื้นฟูเมือง PATONG MSD สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว Urban Revitalization: มีการออกแบบพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1.5 ตารางกิโลเมตรให้เป็น PATONG MICE Special Districts มีการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูที่ว่างสาธารณะที่ได้มาตรฐาน ปรับปรุงแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์จากที่ดินและอาคารให้เอื้อต่อการพัฒนาศูนย์กลางไมซ์ นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์ชุมชนกะหลินให้เป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต และมีการจัดการขยะให้หายไปจากชายหาดป่าตองภายใน 5 ปี

นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวด้วยว่า จากการจัดลำดับเมืองเศรษฐกิจของจอนแลงค์ลาซาน 20 ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยมีเมืองขนาดใหญ่ จำนวน 8 แห่งได้รับการจัดอันดับ ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ทั้งเมืองทั้ง 8 มีพลวัตรทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าอากาศยาน ซึ่งในปี 2562 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รายงานเพิ่มเติมว่า จีนมีท่าอากาศยาน จำนวน 254 แห่ง หากพิจารณาจากเป้าหมายการพัฒนา พบว่า ในปี 2035 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า จีนตั้งเป้าลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานให้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 450 แห่ง ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น จีนจะมีจำนวนท่าอากาศยานมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก หรือมีปริมาณของท่าอากาศยานมาก 1 ใน 4 ของโลก 

เหตุที่จีนมุ่งมั่นในการพัฒนาท่าอากาศยาน เนื่องด้วยนโยบายการให้คนจีนเดินทางด้วยทางอากาศมีจำนวนไม่น้อยกว่าวันละ 1 ล้านคน โดยมีผู้เยี่ยมเยือนจากต่างประเทศ เดินทางเข้าท่องเที่ยวและรับบริการธุรกิจไมซ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซึ่งนั่นก็หมายถึง จีนประสงค์ที่จะเพิ่มขีดความสามารถของประตูหลีกของประเทศเพื่อรองรับการท่องเที่ยวและธุรกิจไมซ์ในจำนวนไม่น้อยกว่า 5 แสนคนต่อวัน

สำหรับประเทศไทย จอนแลงค์ลาซานได้จัดให้กรุงเทพมหานครอยู่ในอันดับที่ 15 โดยปัจจัยกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะของจำนวนผู้เยี่ยมเยือน ทั้งนี้ หากลงลึกไปดูลำดับเมืองที่เติบโตด้านการท่องเที่ยว  จอนแลงค์ลาซาน รายงานว่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่ได้รับการจัดลำดับที่ 35 แน่นอนที่สุดว่า ปัจจัยการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูเก็ตนั้น มาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากการท่องเที่ยว 

แม้ปริมาณการเดินทางของผู้เยี่ยมเยือนของภูเก็ตจะเติบโตมาโดยตลอด หากนำมาเทียบเคียงกับประเทศจีนแล้ว คงจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ทั้งด้วยขนาดของพื้นที่ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ แนวนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยาน ที่เป็นประตูเชื่อมโลก ซึ่งจีนได้กำหนดเป้าหมายอย่างเด่นชัดไว้ นอกจากนั้น ตัวผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวและกิจกรรมไมซ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ทำให้จีนสามารถรักษาอัตราการบรรทุกของเครื่องบิน อัตราการเข้าพักของโรงแรม ปริมาณการเข้าชมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว และอัตราการใช้ของศูนย์การประชุมให้อยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม หากนำยุทธศาสตร์การพัฒนาประตูหลักการเดินทางของจีนมาประยุกต์ใช้ จะพบว่า จังหวัดภูเก็ตสามารถนำเอาวิธีปฏิบัติที่ดีหลายประการนำมาใช้ โดยภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับขีดความสามารถของท่าอากาศยานและการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและกิจการไมซ์ ด้วยความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้ง ความสามารถในการเชื่อมโยงทางอากาศ พร้อมด้วย ความงดงามของพื้นที่ทางธรรมชาติ เพียงแต่ภูเก็ตจะต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยมุ่งไปที่หัวจักรและกลไกที่มีสมรรถนะในการขับเคลื่อนการเพิ่มขึ้นของปริมาณผู้เดินทางเข้ามายังพื้นที่ การสร้างเสถียรภาพของผู้เยี่ยมเยือนให้ปริมาณเหมาะสมได้ตลอดทั้งปี โดยนำศักยภาพของภาคเอกชน และสมรรถนะด้านต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐ นำจุดแข็งด้านชื่อเสียงและโครงสร้างทางกายภาพที่มีอยู่ โดยบูรณาการเข้าด้วยกัน สร้างข้อตกลงร่วมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

เทศบาลเมืองป่าตองได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า เป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างเทศบาลกับเครือข่ายพันธมิตร โดยการสร้างป้าหมายร่วมหรือ หรือสร้างcommon goal ร่วมกัน  สร้างมิติใหม่ ด้วยการเปิดประตูจังหวัดภูเก็ตสำหรับการเยี่ยมเยือน นำป่าตองสู่ความเป็นเมืองไมซ์นานาชาติ เช่นเดียวกับประเทศจีน  สร้างเครือข่ายธุรกิจไมซ์และการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง พร้อมกับการปรับปรุงมาตรฐานทางกายภาพ เพิ่มความพึงพอใจแก่ผู้อยู่อาศัย พร้อมสร้างเมืองให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการลงทุนการประชุม การท่องเที่ยว การนันทนาการ การทำงาน และการอยู่อาศัย

เทศบาลเมืองป่าตองจึงได้ร่วมกับโครงการพัฒนากลไกเชิงพื้นที่การออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม หรือ SG-ABC โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. จัดทำกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตองขึ้น โดยมีเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ ในการยกระดับเมืองป่าตองสู่เมืองไมซ์นานาชาติ เป็นเมืองไมซ์มาตรฐานระดับเอเชีย ด้วยการตกลงร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาคการโรงแรม ภาคการประชุม ภาคการค้า ภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคที่อยู่อาศัย และภาคชุมชนชาวเมืองป่าตองทั้งหมด

“เทศบาลป่าตองขอประกาศเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวป่าตองและผู้เยี่ยมเยือน ยกระดับเศรษฐกิจเมืองป่าตองโดยใช้ไมซ์และการท่องเที่ยวเป็นตัวนำ ยกระดับมาตรฐานเป็นเมืองแห่งการเดินและเมืองสุขภาพ ยกระดับที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชนทุกคน ยกระดับมาตรฐานสถานที่สาธารณะ สวนสาธารณะเพื่อประชาชนทุกคน ยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ยกระดับมาตรฐานระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะ ยกระดับมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีกฎบัตรไมซ์เมืองป่าตองเป็นกรอบและยุทธศาสตร์ในการพัฒนา”

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ