“Tech War” สะเทือนแชร์ เสี่ยวมี่-ซัมซุง ส้มหล่น!

วันเสาร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2562

“Tech War” สะเทือนแชร์  เสี่ยวมี่-ซัมซุง ส้มหล่น!


จากผู้ขายสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดในโลกอันดับ 3 รองจากซัมซุง-แอปเปิล หัวเว่ยตั้งเป้าหมายแรงกล้าที่จะก้าวแซงทั้งซัมซุงและแอปเปิลให้ได้ และประสบความสำเร็จขั้นแรกในปี 2018 เมื่อคว้าตำแหน่งรองแชมป์ยอดขายสมาร์ทโฟนสูงที่สุดในโลกด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 19% โดยเป็นรองแชมป์อย่าง ซัมซุงที่มีส่วนแบ่ง 23% ชนิดหายใจรดต้นคอ ในขณะที่ไอโฟนหรือแอปเปิลหล่นไปอยู่อันดับ 3 แน่นอนว่า เป้าหมายต่อไปของหัวเว่ยก็คือการโค่น ซัมซุงเพื่อเป็นแชมป์โลกรายใหม่ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม!

*** จากสินค้าโนเนมก้าวสู่แบรนด์ระดับโลก

จากข้อมูลยอดขายโทรศัพท์มือถือในตลาดโลกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา อันดับที่ 1 ซัมซุง 40% รองลงมาคือไอโฟน 25% ตามด้วยโนเกีย, เฮททีซี, แบล็กเบอรี่ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณรายละ 6% ที่เหลืออีก 17% เป็นส่วนแบ่งของรายอื่นๆรวมกัน จะเห็นได้ว่าไม่มีชื่อของ ‘หัวเว่ย’ หรือผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือของจีนติดอยู่ในทำเนียบ แต่ในไตรมาส 1 ปี 2019 รายได้ของหัวเว่ยเติบโตถึง 39% อยู่ที่ 179,000 ล้านหยวน หรือ 895,000 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนหน้าคือปี 2018 รายได้บริษัทหัวเว่ยเติบโตถึง 19.5% โดยมีรายได้ของธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2018 ทั้งสิ้น 294,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,470,000 ล้านบาท

น่าสนใจอย่างยิ่งตรงการจัดอันดับยอดขายโทรศัพท์มือถือไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) 2019 อันดับที่ 1 ยังคงแป็นซัมซุงอยู่ที่ 21% อันดับที่ 2 หัวเว่ย 19% อันดับ 3 ไอโฟน 12% แต่อันดับ 4 กลายเป็นแบรนด์น้องใหม่คือเสี่ยวมี่ (Xiaomi) 9% และ อันดับ 5 ออปโป้ 8.5% จะเห็นได้ว่า 3 อันดับในกลุ่มท็อป 5 ของโลกเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือจากจีนถึง 3 อันดับ และน่าสนใจมากขึ้นไปอีกตรงที่อัตราการเติบโตของค่าย ‘เสี่ยวมี่’ สูงถึง 49% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลก สูงกว่าหัวเว่ยที่มีอัตราการเติบโต 39% ขณะที่ผู้นำตลาดอย่างซัมซุงแม้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 แต่กลับมียอดขายลดลงประมาณ 10% ส่วนไอโฟนเติบโตไม่ถึง 1%

*** ‘เสี่ยวมี่ซิวอันดับ 1 ในอินเดีย-จีน

แม้ในตลาดโลกเสี่ยวมี่ยังเป็นรองซัมซุง-หัวเว่ย-ไอโฟน แต่ในอินเดียที่มีประชากรมากกว่าพันล้านคน เป็นตลาดใหญ่ที่ทุกค่ายหมายปอง เสี่ยวมี่กลับประสบความสำเร็จสามารถฮุบส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ไว้ได้ ตลอดช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จากรายงานของ IDC โชว์ตัวเลขเสี่ยวมี่เป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนแดนภารตะและเป็นการครองอันดับ 1 ที่มียอดขายในช่วง 3 เดือนกว่า 10 ล้านเครื่อง คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 29.7% ของตลาดอินเดียทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตถึง 107% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อันดับ 2 ซัมซุง มีส่วนแบ่ง 23.9% มียอดจำหน่ายในช่วงเดียวกัน 8 ล้านเครื่อง และอันดับ 3 วีโว่ 4.2 ล้านเครื่อง มีส่วนแบ่งทางการตลาด 12.6%

คำถามที่ตามมาคือทำไมเสี่ยวมี่จึงกลายเป็น ‘ยักษ์ใหม่’ ในตลาดอินเดีย คำตอบอย่างแรกคือด้วยบอดี้สะดุดตา ลูกเล่นไม่เป็นรองใคร แต่กลับขายในราคาถูกกว่ายี่ห้ออื่น โดยคิดกำไรเพียงแค่ 1-2% ต่อชิ้น ตามนโยบายกำไรเติบโตตามยอดขาย ในขณะที่กำลังซื้อของคนอินเดียส่วนใหญ่ยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในโลก โดยราคาเฉลี่ยของตลาดสมาร์ทโฟนในอินเดียประมาณ 167 เหรียญสหรัฐฯต่อเครื่อง หรือประมาณ 5,344 บาทต่อเครื่อง เสี่ยวมีจึงกลายเป็นแบรนด์ใหม่ในใจผู้บริโภคชาวอินเดียในที่สุดที่สำคัญคือแม้เสี่ยวมีจะมียอดขายสู้หัวเว่ยไม่ได้ในตลาดโลก แต่ในตลาดจีนที่มีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน เสี่ยวมี่คือเบอร์ 1

‘เสี่ยวมี่’ เป็นใคร มาจากไหน เสี่ยวมี่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อเดือนเมษายนปี 2010 หรือไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา โดย Lei Jun อดีตซีอีโอของ Kingsoft (บริษัทซอฟต์แวร์รายหนึ่งของจีนทำพวกแอพออฟฟิศ,แอนตี้ไวรัส ฯลฯ) และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์พอร์ทัลไอทีและดาวน์โหลดโปรแกรม Joyo.com ซึ่งถูก Amazon ซื้อไปเป็น Amazon China ในป 2004 Lei Jun ได้รับฉายาว่า สตีฟ จ๊อบแห่งแดนมังกร ด้วยรางวัล Phone of the Year 2016 จุดเด่นที่น่าสนใจของเสี่ยวมีคือการไม่คิดเทคโนโลยีทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่จะใช้เทคโนโลยีของพาร์ทเนอร์ที่มีความโดดเด่น เช่น ใช้จอของค่ายหนึ่ง ใช้ชิปประมวลผลอีกเจ้าหนึ่ง ทำให้ไม่มีต้นทุนฟิกซ์คอร์สด้านการผลิต ในขณะที่สามารถปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีได้อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถืออันดับต้นๆ ที่ครองใจสาวกแอนดรอยด์ เป็นโทรศัพท์มือถือที่มียอดใช้อันดับหนึ่งของประเทศมหาอำนาจอย่างจีน และเริ่มครองใจคนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

*** เมืองไทยขายเกลี้ยงใน 2 สัปดาห์

หากยังจำกันได้ เมื่อ 2 ปีก่อน บริษัท ไอ-โมบาย ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือไอ-โมบาย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบริษัทคนไทยที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีในรูปของโทรศัพท์มือถือสไตล์เพื่อคนไทยและครองใจคนไทยมานานกว่า 13 ปี ได้ทดลองนำเสี่ยวมี่เข้ามาทำตลาด จำนวน 3รุ่น คือ รุ่น MI Note2 หน้าจอโค้งด้วยเทคโนโลยี OLED รุ่น MI 5s เทคโนโลยีแสกนลายนิ้วมือ แบบ Ultrasonic และ MI 5s Plus กล้องคู่ 13 ล้านพิกเซล (Dual Camera) เจาะกลุ่มผู้ชื่นชอบสมาร์ทโฟนที่โดดเด่นด้วยเรื่องของดีไซน์ที่มาพร้อมเทคโนโลยีระดับสูง กับปรากฎการณ์ขายหมดล็อตแรกภายใน 2 สัปดาห์

*** หุ้นซัมซุงพุ่งรับข่าว ทรัมป์ทุบหัวเว่ย

หันไปมองฝั่งซัมซุง ภายหลังหลังหัวเว่ยประสบปัญหาถูกตัดความสัมพันธ์โดยสหรัฐอเมริกา ผ่านทางคำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นประเด็นร้อนส่งผลกระทบในวงกว้างไปเมื่อกูเกิล (Google) รับลูกตามคำสั่งดังกล่าวระงับความร่วมมือทางธุรกิจกับหัวเว่ย ส่งผลให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ของหัวเว่ยที่จะเปิดตัวต่อจากนี้ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์อย่างเป็นทางการจากกูเกิลได้อีกต่อไป จะใช้ได้แค่เวอร์ชันพื้นฐาน Open Source เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงบริการพิเศษอื่นๆ ของ Google ได้ เช่น Google Play Store, Google Map, Gmail, YouTube, ฯลฯ ส่งผลให้หุ้นของซัมซุงพุ่งขึ้น 4.3% เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2019 แสดงให้เห็นว่าผลกระทบของหัวเว่ยส่งผลให้ซัมซุงได้รับผลประโยชน์เต็มๆ นักวิเคราะห์มองว่าหากสหรัฐอเมริกาแบนหัวเว่ยจะส่งผลให้การขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยประสบปัญหาอย่างหนักในตลาดนอกประเทศจีน และแน่นอนจะทำให้แผนของการขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกของต้องชะงักลงไปด้วย

*** ย้อนรอย ทรัมป์คว่ำบาตร หัวเว่ย

ต้นเหตุรอยร้าวระหว่างสหรัฐกับหัวเว่ย สืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินด้านเทคโนโลยี’ ห้ามการจัดซื้อหรือใช้งานอุปกรณ์ใดๆ จากบริษัทใดที่ ‘ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติซึ่งยอมรับไม่ได้ หรือ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยของบุคคลของสหรัฐอเมริกา’ แม้คำสั่งดังกล่าวของทรัมป์ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นที่ตระหนักกันดีว่า คำสั่งดังกล่าวหมายถึงบริษัทเทคโนโลยีจากจีน ซึ่งก็คือหัวเว่ยนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ในวันถัดมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐจะออกแถลงการณ์อีกครั้ง เรื่องการกำหนดระยะเวลาผ่อนผันการคว่ำบาตรครั้งนี้ออกไปอีก 90 วัน หรือจนถึงวันที่ 19 ส.ค. เพื่อให้เวลาบริษัทคู่ค้าในสหรัฐที่ทำธุรกรรมกับบริษัทหัวเว่ยดำเนินการทางเอกสารให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความตึงเครียดดีขึ้น ขณะที่นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของหัวเว่ย กล่าวว่า ทุกภาคส่วนในหัวเว่ยคาดการณ์ไว้แล้วว่าความขัดแย้งจะต้องบานปลายมาจนถึงจุดนี้ ซึ่งบุคคลที่สมควรถูกตำหนิ ไม่ใช่บรรดาบริษัทของสหรัฐที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แต่คือผู้ออกคำสั่งและทีมงานฝ่ายบริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระยะเวลา 90 วันนั้นแทบไม่มีความหมายอะไรเลย อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบเครือข่าย 5 จีของหัวเว่ยมาไกลเกินกว่าจะสะดุดด้วยนโยบายดังกล่าว

ซึ่งหากนโยบายของ ‘ทรัมป์’ ไม่ลามไปสู่ผู้ผลิตเทคโนโลยีรายอื่นของจีนอย่าง ‘เสี่ยวมี่ หรือ ออปโป้’ เราคงได้เห็นแบรนด์เหล่านี้ยกทัพบุกตลาดโลกเพื่อดึงส่วนแบ่งของ ‘หัวเว่ย’ กลับมา ทั้งในยุโรป อินเดีย แอฟริกา เอเชีย รวมถึงพื้นที่อื่นๆทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ในขณะที่หัวเว่ยก็คงไม่อยู่นิ่งเฉยปล่อยส่วนแบ่งให้หลุดมือไปง่ายๆ แต่จะใช้เทคโนโลยีด้านแอพพลิเคชั่นที่ตัวเองคิดค้นมาก่อนหน้านี้เป็นจุดขาย โดยไม่ต้องยืมจมูกกูเกิลหายใจ แน่นอนว่าถ้า ‘หัวเว่ย’ ทำสำเร็จ ‘วิกฤติ’ ครั้งนี้อาจกลายเป็น ‘โอกาส’ ทำให้ ‘หัวเว่ย’ เติบโตได้แบบไร้ขีดจำกัดก็ได้..ใครจะรู้!!!

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ