สนข.เล็งอัพเกรดทางหลวงเป็นมอเตอร์เวย์ นำร่อง “กทม.-สระแก้ว” และ “นครสวรรค์-พิษณุโลก”

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สนข.เล็งอัพเกรดทางหลวงเป็นมอเตอร์เวย์ นำร่อง “กทม.-สระแก้ว” และ “นครสวรรค์-พิษณุโลก”


สืบเนื่องจากแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง ประกอบด้วยโครงการทั้งหมดจำนวน 21 สายทาง 56 ตอน ระยะทางรวม 6,612 กิโลเมตร ซึ่งการลงทุนตามแผนแม่บทดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณมากถึง 2.14 ล้านล้านบาท การลงทุนตามแผนแม่บทแนวเส้นทางส่วนใหญ่เป็นการตัดแนวเส้นทางใหม่ต้องมีการเวนคืนที่ดินค่อนข้างมาก รัฐต้องใช้งบประมาณการลงทุนสูงอาจจะทำให้เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐในการลงทุนก่อสร้างและอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข. จัดสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดย สนข. ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงสายหลักเดิมให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม การเงิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และออกแบบเบื้องต้นของโครงการนำร่อง โดยใช้แนวคิดที่จะผลักดันการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนแม่บทฯ ได้ คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางหลวงสายหลักที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันที่มีแนวเส้นทางอยู่ใกล้เคียงกับแนวเส้นทางของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามแผนแม่บท และมีศักยภาพเพียงพอโดยเฉพาะการมีพื้นที่เขตทางไม่น้อยกว่า 50 -60 เมตร มีสภาพกายภาพที่เหมาะสมในการพัฒนาและก่อสร้างให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งมีเป้าประสงค์หลัก คือ การวิเคราะห์และเปรียบเทียบต้นทุนของโครงการตามแผนแม่บทฯ ของกรมทางหลวง กับต้นทุนจากการศึกษาการใช้เส้นทางบางส่วนของทางหลวงสายหลักที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทั้งนี้ เพื่อลดภาระด้านงบประมาณของรัฐในการลงทุนก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการศึกษาอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินงาน    

จากการศึกษาพบว่า แนวเส้นทางของทางหลวงสายหลักในปัจจุบันที่มีแนวเส้นทางตามแนวเส้นทางของแผนแม่บทและมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาให้เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้ มีจำนวน 7 สายทาง 17 ตอน ระยะทางรวม 2796 กิโลเมตร รวมทั้งผลจากการออกแบบเบื้องต้นของการพัฒนาทางหลวงสายหลักเดิมให้สามารถรองรับการขนส่งรูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย M71 Section 1 ตอน กรุงเทพฯ-สระแก้ว โดยจะใช้ทางหลวงหมายเลข 304 และหมายเลข 359 ระยะทาง 156 กม. วงเงินลงทุน 9.3 หมื่นล้านบาท และ M5 Section 3 ตอน นครสวรรค์-พิษณุโลก โดยจะใช้ทางหลวงหมายเลข 117 ระยะทาง 110 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์และประมาณมูลค่าของโครงการจากต้นทุนค่าเวนคืนที่ดินที่ลดลงซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักสำคัญของโครงการที่ทำให้ค่าลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีสัดส่วนมากถึง ร้อยละ 51.9 โดยสรุป การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าจะสามารถลดงบประมาณการลงทุนของโครงการตามแผนแม่บทลงได้ ประมาณร้อยละ 8.4 หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากแผนแม่บท 20 ปี (2560-2579) ของโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทาง 6,422 กม. วงเงิน 2.14 ล้านล้านบาท

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ