‘เจ้าสัว’ดวลค้าปลีกสหพัฒน์ ควง ‘ธงฟ้า’ชน 7-11

วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562

‘เจ้าสัว’ดวลค้าปลีกสหพัฒน์ ควง ‘ธงฟ้า’ชน 7-11


กรมการค้าภายใน จับร้านค้าโชห่วยต้นแบบ 1 ร้าน 1 อำเภอ รวม 878 ร้านทั่วประเทศ พัฒนาสู้ร้านสะดวกซื้อ ด้วยการปรับโฉมร้านค้าใหม่ ทั้งหน้าตาของร้าน การจัดวางสินค้า ป้ายไฟเด่นชัด และมีความทันสมัย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาซื้อสินค้า ไฟเขียวเครือสหพัฒน์นำโนว์ฮาวปรับปรุงร้านค้า การบริหารจัดการร้าน การ ทำบัญชี การบริหารจัดการเรื่องภาษี การ นำระบบขายของหน้าร้าน (POS) มาใช้ เพื่อให้รู้ปริมาณสินค้าเข้าออก สต็อกสินค้า วางแผนสั่งซื้อสินค้าได้ถูกต้อง พร้อมเพิ่มจุดรับชำระค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต รวมถึงผลักดันให้เป็นจุดกระจายสินค้าให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐรายอื่นๆ

พร้อมพัฒนาสู่รูปแบบออนไลน์สร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ร้านโชห่วยถือเป็นธุรกิจระดับฐานรากที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ค้าปลีกต่างชาติรุกเข้ามาทำตลาดในไทย ด้วยระบบการบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) แม้ในยุคเริ่มต้นของค้าปลีกกลุ่มนี้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ และหลายรายต้องปิดตัวลง ไม่เว้นแม้กระทั่ง 7-11 ที่ออกอาการไม่สู้ดี แต่ก็กัดฟันทำตลาดจนกระทั่งกลายเป็นร้านค้ายอดฮิตในที่สุด การเติบโตของโมเดิร์นเทรดสวนทางกับระบบการค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional Trade) หรือร้านโชห่วยที่เริ่มล้มหายตายจากอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบบบริหารการจัดการที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่นั่นเอง

ความสำเร็จของ 7-11 กลายเป็นสนามการค้าใหม่ที่กลุ่มทุนรายใหญ่ควักกระเป๋าแย่งชิงส่วนแบ่ง ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จากฝรั่งเศสที่ต่อมาได้ขายกิจการในไทยให้เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ผ่านบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, แม็คโคร ค้าส่งสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ภายหลังขายกิจการให้บมจ.ซีพีออลล์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ รวมถึงร้านสะดวกซื้อ หรือ คอนวีเนี่ยนสโตร์ทั้ง 7-11 แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อจากสหรัฐฯที่ซีพีได้ไลเซ่นส์ดำเนินธุรกิจในไทย, แฟมิลี่มาร์ท แบรนด์ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท เซ็นทรัลรีเทลคอร์เปอเรชั่น (ซีอาร์ซี) เข้ายึดสมรภูมิค้าปลีกไว้ได้เกือบทั้งหมด

*** ผุดร้านค้าประชารัฐต่อลมหายใจ

ความสำเร็จของโมเดิร์นเทรดขจรขจายท่ามกลางความซบเซาของโชห่วยดั้งเดิม โดยเฉพาะรายที่ไม่มีการปรับตัวต้องทยอยปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลจะพยายามหามาตรการช่วยเหลือร้านค้าเหล่านั้น แต่ก็ไม่สัมฤทธิ์ผลในเชิงปฏิบัติ ร้านค้าหลายแห่งอยู่แบบประคองตัววันต่อวัน เดือนต่อเดือน กระทั่งเข้าสู่ยุค ‘ธงฟ้าประชารัฐ’ ในปี 2561 ที่รัฐใช้วิธีดึงโชห่วยทั่วประเทศเข้ามาอยู่ในแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คู่กับบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย โดยรัฐใส่เงินผ่านกลุ่มผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน (ผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย) ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดให้มียอดเงินใช้จ่ายคนละ 200-300 บาทต่อเดือน โดยคาดหมายว่าจะมีผู้ใช้บัตรซื้อสินค้ารวมเดือนละ 3,000 ล้านบาท หรือปีละเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ผ่านร้านสวัสดิการของรัฐเบื้องต้น 2 หมื่นร้าน ทำให้เม็ดเงินกระจายตัวลงสู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับฐานรากอย่างแท้จริง

*** ปรับโฉมสู่ธงฟ้า 4.0

ล่าสุด นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน 60,873 ร้านให้เป็น “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0” โดยจะนำร่องพัฒนาให้เป็นร้านค้าต้นแบบอำเภอละ 1 ร้าน รวม 878 ร้านทั่วประเทศ มีเป้าหมายให้เป็นร้านค้าที่สามารถแข่งขันได้ในยุคการค้าปลีก ค้าส่ง ที่มีการแข่งขันกันรุนแรง และสู้กับร้านสะดวกซื้อได้ เพราะจะมี การปรับโฉมร้านค้าใหม่หมด ทั้งหน้าตาของร้าน การจัดวางสินค้า มีป้ายไฟเด่นชัด และมีความทันสมัย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาซื้อสินค้า

สำหรับแนวทางการพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0 จะร่วมมือกับเครือสหพัฒน์เข้าไปช่วยร้านค้าที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งการปรับปรุงร้านค้า การบริหารจัดการร้าน การทำบัญชี การบริหารจัดการเรื่องภาษี การนำระบบขายของหน้าร้าน (POS) มาใช้ เพื่อให้รู้ปริมาณสินค้าเข้าออก สต็อก สินค้า เพื่อที่จะได้วางแผนสั่งซื้อสินค้าได้ถูกต้อง การเพิ่มจุดรับชำระค่าสาธารณูป-โภค ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต การผลักดันให้เป็นจุดกระจายสินค้าให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐรายอื่นๆ และการพัฒนาไปสู่การค้าขายออนไลน์ มีเว็บ ไซต์เป็นของตัวเอง รวมถึงประสานสถาบันการเงินเข้ามาช่วยปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง ขณะเดียวกันจะหาทางสนับสนุนการติดป้ายไฟขนาดใหญ่ เหมือนป้าย 7-11 โดยกรมฯ จะประสานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอยกเว้นภาษีป้ายให้กับร้านค้า เพราะเป็นร้านที่กรมฯ สนับสนุน

*** จับ 3 หมื่นร้านค้าเวิร์กช็อปสหกรุ๊ปแฟร์

น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับงานสหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 23 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27-30 มิถุนายนที่ไบเทค บางนา ในคอนเซปต์ “ว้าวถูกใจทุก Gen” เพื่อสื่อว่างานนี้จะมีสินค้า บริการ รวมทั้งวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกเจเนอเรชั่น มาจัดแสดงและจำหน่ายมากมาย รวมกว่า 1,000 คูหา ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง อุปกรณ์กีฬา สินค้าแม่และเด็ก อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า สถาบันการศึกษา การขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ พร้อมบริการส่งสินค้าถึงบ้านฟรี

น่าสนใจตรงที่เครือสหพัฒน์ได้สานต่อความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก โดยเชิญร้านค้าธงฟ้าประชารัฐกว่า 30,000 ร้านทั่วประเทศ มาชมร้านค้าตัวอย่าง เพื่อศึกษาการบริหารจัดการร้าน การจัดสินค้า การซื้อขายจริง และจะมีการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจำนวน 300 คน ในหัวข้อการบริหารอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ บริษัทสหพัฒน์ฯ ยังมอบคูปองส่วนลดให้แก่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่เชิญมาร่วมงานเพื่อซื้อชุดสินค้าราคาพิเศษจาก 4,000 บาท เหลือเพียง 2,000 บาท พร้อมบริการจัดส่งสินค้าถึงร้าน รวมทั้งการร่วมมือกับกรมการค้าภายในนำสินค้าโอท็อป 5 ดาว จากผู้ประกอบการ 4 ภาคของประเทศไทย มาจำหน่ายในโซนของดี 4 ภาคด้วย

นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาปีนี้ยังซบเซา ไม่ค่อยดีนัก เพราะด้านส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมีปัจจัยลบในต่างประเทศด้านในประเทศกำลังซื้ออ่อนแอ ครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจจะทรงๆ ตัว อย่างไรก็ตาม หวังว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าด้วยการใช้มาตรการด้านการคลัง ถ้ารากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศได้

*** แนะรัฐหนุนโชห่วยทั้งระบบ 3 แสนราย

หลายคนวิเคราะห์ว่า โครงการบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยที่เปิดมาก่อนหน้านี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับซัพพลาย เออร์กลุ่มใหญ่ๆ ที่ผลิตสินค้าของกินของ ใช้ประจำวันแทบทุกรายการ บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเรื่องนี้กับสื่อมวลชนว่า คนที่วิจารณ์แบบนั้นถือว่าไม่รู้กลไกแท้จริงในระบบค้าปลีก ยกตัวอย่างสหพัฒน์มีรายการสินค้าที่เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแค่แบรนด์ซื่อสัตย์เท่านั้น โดยขายต่ำกว่าท้องตลาด 15-20% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ไม่ได้มีกำไรเหมือนกับการขายผ่านช่องทางปกติทั่วไป ขณะที่สินค้าอื่นก็อยู่ในราคาเท่ากับรายอื่น ซึ่งต้องไปแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ขณะที่เงินก็กระจายตัวไปยังซัพพลายเออร์หลายราย นอกจากนี้ เขายังมองว่าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งและมีกำลังอยู่แล้ว การนำเครื่องรูดบัตรไปติดเพื่อดึงคนมีรายได้น้อยเข้ามาซื้อสินค้า จึงเป็นการดึงเงินไปเข้าร้านขนาดใหญ่ แทนที่จะเป็นร้านค้าเล็กๆ ในชุมชน ถ้าต้องการสร้างเศรษฐกิจฐานรากจริงๆเราต้องช่วยร้านโชห่วยรายเล็กๆ ที่มีมาก กว่า 3 แสนราย

แน่นอนว่าการปรับตัวของร้านโชห่วย 4.0 ครั้งนี้อาจไม่ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มร้านค้าโมเดิร์นเทรด หรือหากกระทบบ้างก็เพียงน้อยนิด แต่อย่างน้อยก็เป็นการกระจายอำนาจการแข่งขัน กระจายการบริโภค ไม่ให้กระจุกตัวอยู่กับยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ราย และการได้เครือสหพัฒน์เข้ามาช่วยสนับสนุน วางกลยุทธ์สมัยใหม่ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องบอกว่า แค่กะพริบตา ส่วนแบ่งโมเดิร์นเทรดก็อาจหายได้เช่นกัน



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ