แบงก์แห่หั่นเป้าเศรษฐกิจไทย ... หวั่นพิษสงครามการค้ากระหน่ำ

วันศุกร์ที่ 05 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

แบงก์แห่หั่นเป้าเศรษฐกิจไทย ... หวั่นพิษสงครามการค้ากระหน่ำ


ศูนย์วิจัยแห่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ผลจากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลก หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนมีโอกาสยืดเยื้อ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่นลงมาอยู่ที่ 3.1% จากเดิมที่ 3.7% ขณะที่วิจัยกรุงศรีปรับลดเหลือ 3.2% จากเดิมคาดโต 3.8% ด้าน กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% พร้อมปรับลดคาดการณ์ GDP และส่งออก ธปท.จับตาค่าเงินบาทใกล้ชิด หลังแข็งค่าไม่สอดล้องพื้นฐาน เล็งศึกษามาตรการใหม่ดูแล

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า “ทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้ อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุมG20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้งสองประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท แต่ทั้งนี้หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลขจีดีพีเอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% ได้”

แม้ตัวเลขจีดีพีทั้งปีอาจลดภาพบวกลงจากเดิม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอด-คล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย แรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น การประชุม กนง.น่าจะยังคงนโยบายไว้ที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพ คู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่คาดว่าเฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง

ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น นางสาวณัฐพรมองว่าตัวเลขทั้งปีนี้น่าจะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะที่เอ็นพีแอลนั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว (Re-Entry) แต่ปิดปีก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง

ขณะที่ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “วิจัยกรุงศรีปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้ลงเหลือ 3.2%

จากเดิมคาด 3.8% ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ผ่านมาชะลอตัวกว่าคาด กอปรกับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ชัดเจนและรุนแรงขึ้นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะกลับมาหดตัวที่ -1.5% จากเดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 40.2 ล้านคน ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 41.1 ล้านคน อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี หากปัจจัยภายในประเทศปรับไปในทิศทางเป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะการมีรัฐบาลชุดใหม่ที่สร้างความชัดเจนด้านนโยบายเศรษฐกิจและโครงการสำคัญๆ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และช่วยหนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้ต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่า อัตราเงิน เฟ้อทั่วไปจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของทางการที่ 1-4% ในช่วงที่เหลือของปี โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยัง เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปีวงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท วิจัยกรุงศรีจึงยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1%

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปีหลังมองเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากผลกระทบของการส่งออกสินค้าและบริการที่สำคัญ พร้อมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือโต 3.3% จากเดิมคาด 3.8% ส่วนส่งออกคาดโต 0% จากก่อนหน้าคาดโต 3.0% ขณะที่นำเข้าคาด -0.3% จากเดิมคาดโต 3.1%

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หลัง กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ซึ่งเป็นการ โหวตอย่างเป็นเอกฉันท์ติดกันเป็นครั้งที่ 3 ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าและซื้อขาย แถวระดับ 30.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยก่อนหน้านี้ตลาดกังวลว่าอาจจะมีเสียง แตก เนื่องจากกรรมการบางท่านต้องการให้ลดดอกเบี้ย หลังจากเงินบาทแข็งค่า เร็วเกินไป นับตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่ามากกว่า 5% และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ในการประชุมรอบนี้ กนง.ส่งสัญญาณชัดเจนว่ามีความกังวลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าค่อนข้างเร็ว และไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน โดยมอบหมายให้ ธปท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ธปท.มีกลไกการบริหารจัดการผ่านเครื่องมือหรือมาตรการในมืออยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เข้าไปดูแลในระดับหนึ่ง ส่วนระยะข้างหน้า ธปท.จะมีการศึกษามาตรการใหม่ๆ เตรียมไว้ด้วย เพื่อนำมาใช้ดูแลให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคต

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ภาพประกอบ โดย https://www.moneycrashers.com/



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ