เจาะลึกวิสัยทัศน์ “ประภัสสร์ มาลากาญจน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้คอนเซปต์เก๋ “คิดไม่ออก บอกผู้ว่าฯประภัสสร์”

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เจาะลึกวิสัยทัศน์ “ประภัสสร์ มาลากาญจน์” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ภายใต้คอนเซปต์เก๋ “คิดไม่ออก บอกผู้ว่าฯประภัสสร์”


ด้วยบุคลิกอ่อนโยน เป็นกันเอง และติดดิน ทำให้ ประภัสสร์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กลายเป็นที่รักของคนสุรินทร์แม้จะเข้าไปดำรงตำแหน่งไม่กี่เดือน กับวิสัยทัศน์จังหวัดสุรินทร์ (พ.ศ.2561 -2564) “เมืองเกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยววิถีชุมชน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดี

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ให้สัมภาษณ์ “สยามธุรกิจ” ในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรม 25 ปีหนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉลองก้าว  สู่ปีที่ 4 โครงการช่วยเหลือสังคม ทดแทนคุณแผ่นดิน ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมี” ณ สวนป่ารีสอร์ท จ.สุรินทร์ โดยกล่าวว่า พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ประมาณ 5 ล้านตารางกิโลเมตร 90% เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีผลผลิตสำคัญขึ้นชื่อระดับโลกคือ  ข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 พระราชทาน ถือเป็นตำนานของชาวจังหวัดสุรินทร์ ใครก็ตามหากได้ลิ้มลองจะสัมผัสได้ถึงความหอม นุ่ม ข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 จึงมีความผูกพันอย่างยิ่งกับชาวจังหวัดสุรินทร์

สินค้าโดดเด่นอีกอย่างของสุรินทร์คือ ‘ผ้าไหม’ เป็นรายได้หลักหลังเสร็จหน้านา ชาวบ้านจะเลี้ยงไหม ทำผ้าไหมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผ้าไหมบ้านทอสว่าง ซึ่งมีความเป็นมาเก่าแก่ขึ้นชื่อ ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานของจังหวัด และที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ‘ช้าง’ สัญลักษณ์ของจังหวัดที่คนทั่วไปรู้จักและยอมรับว่าที่นี่คือ ‘เมืองช้าง’

ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อจังหวัด แห่งนี้ว่า “ความประทับใจที่ผมอยากจะเรียนพี่น้องคือ ความรู้สึกอบอุ่นที่ได้เข้ามาอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่หลากหลายของเชื้อชาติพันธุ์ที่ประกอบด้วยชนชาติลาว เขมร และส่วย ที่อยู่กันอย่างผสมผสานร่มรื่นมีวัฒนธรรมของความเอื้ออาทรร่วมกัน”

ในด้านการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ท่านผู้ว่าฯกล่าวว่าทางจังหวัดมีแปลงสาธิตจัดตั้งเป็นโรงเรียนชาวนา แนะนำการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นสำคัญ โดยได้เชิญชวนให้พี่น้องในจังหวัดสุรินทร์ไปศึกษาการปลูกพืช ปลูกข้าวให้ได้ผลต้องทำอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมถึงส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ เยาวชนสุรินทร์รุ่น ใหม่ให้มีวัฒนธรรมการทำเกษตรกรรมแบบใหม่ พันธุ์ใหม่ รู้จักผสมผสานเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ไม่ทิ้งไร่ทิ้งนาทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ในเมืองใหญ่ ด้วยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

>>ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

ส่งเสริมการปลูกพืชหลังการเก็บเกี่ยว โดยปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว ผักสด และสร้างอาชีพเสริมจาก     การทำนา เช่น การปศุสัตว์ ประมง การทอผ้าไหมพื้นเมือง เป็นต้น   

ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น อ้อย ยาง พารา และนาเกษตรอินทรีย์มาใช้ใน การทำการเกษตรซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุน มีความปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผล เชิญชวนให้เกษตรกรศึกษาแนว ทางการดำเนินงานได้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ทั้ง 17 แห่ง ในจังหวัดสุรินทร์   

>>สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

ใช้หลักการตลาดนำการผลิต และวิธีการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร เช่น การแปรรูป การออกแบบผลิตภัณฑ์และ การหาตลาดจำหน่ายส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ช้าง ผ้าไหมสุรินทร์ เครื่องเงิน หรือประคำ ข้าวหอมมะลิ เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการออกแบบหีบห่อผลิตภัณฑ์ (Packaging) ให้มีความน่าสนใจดึงดูดผู้บริโภค สร้างแบรนด์ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ รวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นของดีเมืองสุรินทร์ เป็นต้น

>>ยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียงสร้างภูมิคุ้มกัน

การประยุกต์ใช้หลักของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างแนวคิด “พอเพียงที่สุรินทร์” และนำหลักของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในทุกอาชีพ โดยยึดหลักความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ คุณ- ธรรมและความรู้ นำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์

>>สร้างความปรองดองสมานฉันท์

น้อมนำแนวทางการพัฒนาประเทศชาติพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯโครงการ “จิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ” ในการสร้างความสมัครสมานสามัคคีปรองดองในประชาชนทุกหมู่เหล่า นับเป็นการยกระดับความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดสุรินทร์ที่ครอบคลุมทุกบริบท สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อให้คนสุรินทร์อยู่ได้อย่างมั่นคงและมีความสุข ตามคอนเซปต์ คิดไม่ออก บอกผู้ว่าฯ ประภัสสร์

 

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ