ซ้องปีบสะดุ้ง! กาสะลองสะอื้น สำเพ็ง..ร้าง?

วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ซ้องปีบสะดุ้ง! กาสะลองสะอื้น สำเพ็ง..ร้าง?


เผือกร้อนรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจหลังสำเพ็งสะเทือนยอดคนซื้อหายกว่า 90% เด็กรุ่นใหม่ชี้คนหันช้อปผ่านเน็ตแทนการเดินตลาด ขณะที่อีกฝั่งมองเพราะยอดขายออนไลน์อืด พ่อค้าแม่ค้าเลยไม่ไปเหมาสินค้าจากสำเพ็งมาขาย จับตาทุนจีนเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสรับเซ้งร้านต่อก่อนหอบสินค้ามาเลหลัง ด้านกระแสละคร กลิ่นกาสะลองแม้จะดังเปรี้ยง แต่ยังไม่ดันตลาดผ้าไหมคึกคักตาม เหตุเศรษฐกิจซบเซา ทำยอดขายหาย 60% กกร.ยอมรับจีดีพีปีนี้ไม่สดใส ปรับประมาณการลงอีก ส.อ.ท.เตรียมพบแบงก์ชาติแก้ปัญหาค่าเงินบาท รมว.คลังคนใหม่ลุยแก้ปัญหาปากท้อง

คำถามที่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา..สำเพ็งร้างจริงหรือ? ตลาดสำเพ็ง จะกลายเป็นตำนานหรือเปล่า? และภาพในสำเพ็งสื่ออะไรกับเศรษฐกิจไทย

กระแสข่าวที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำเพ็งวันนี้ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา หากมองในสายตาคนรุ่นใหม่ต่างวิเคราะห์ว่าสภาพของสำเพ็งไม่ได้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะโลกที่เปลี่ยนไป ไม่มีใครมาเดินสำเพ็งที่ทั้งร้อนและแออัด ต่างหันไปซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ที่ใช้แค่ปลายนิ้ว มีสินค้าให้เลือกมากมาย เปรียบเทียบราคาได้แบบชิ้นต่อชิ้น อยากได้อะไรก็จิ้ม..จิ้ม.. จิ้ม

*** สำเพ็งทรุดเพราะโลกออนไลน์

หากมองในมุมดังกล่าวก็คงจะไม่ผิด เพราะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ก็เคยสำรวจพฤติกรรมช็อปออนไลน์ของ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวไทยในปี 2018 ซึ่งพบหลายประเด็นที่น่าสนใจ คือคนไทยนิยมช็อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มผู้หญิงนิยมช็อปปิ้งออนไลน์มากกว่าผู้ชาย คิดเป็น 59% ต่อ 41% และคนรุ่นใหม่คือกลุ่มที่ ชื่นชอบการช็อปปิ้งออนไลน์มากที่สุด กว่าครึ่งหนึ่งของนักช็อปออนไลน์คือคนในวัย 25-34 ปี ตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 35-44 ปี (21%) และ 18-24 ปี (16%) ส่วนที่เหลืออีก 12% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 45 ปี

*** หรือออนไลน์ซึม ทำสำเพ็งทรุด

แต่หากมองในอีกมุม หลายคนยังประเมินว่าสภาพที่ซบเซาของสำเพ็ง มีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ถึงแม้พฤติกรรมการช็อปปิ้งในปัจจุบันจะหันไปซื้อขายผ่านออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาสินค้าบนโลกออนไลน์จำนวนมากก็มาจากสำเพ็ง ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไปเหมามาขายต่อ ความซบเซาของสำเพ็งจึงเป็นเพราะสินค้าออนไลน์ขายได้น้อยลง คนเลยไม่ไปเหมาสินค้าจากสำเพ็งเหมือนเดิม โดยมีเสียงสะท้อนจากผู้ค้ารายหนึ่งว่าลูกค้าที่เคยมาเดินซื้อของตลาดสำเพ็งหายไปกว่า 90% จากเดิมวันเสาร์-อาทิตย์ที่เบียดกันแน่น และนอกจากคนจะน้อยลงแล้ว ส่วนใหญ่ยังมาเดินดูแต่ไม่ค่อยซื้อสินค้า ซึ่งปีนี้ถือว่าซบเซาหนักมากที่สุด ทำให้ร้านค้าปิดไปเยอะมาก เพราะค่าเช่าแพงและเศรษฐกิจที่ซบเซา

*** ตลาดออนไลน์แข่งเดือด เบียดส่วนแบ่งกันเอง

ต้องยอมรับว่าด้วยกระแสอีคอมเมิร์ซที่มาแรง ทำให้คนจำนวนมากเฮโลเข้าไปขายสินค้าผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า เนื่องจากมองว่าต้นทุนถูก ไม่ต้องมีหน้าร้าน ขายได้ทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ตลาดที่เคยเป็นบลูโอเชี่ยน คนขายน้อย คู่แข่งน้อย แต่คนซื้อมาก กลายเป็นเรดโอเชี่ยน เต็มไปด้วยคนขาย คอร์สสัมมนาผลิตคนขายหน้าใหม่ออกมาทุกนาที ขณะที่เงื่อนไขการโพสต์ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เริ่มเยอะขึ้น มีข้อจำกัดมากขึ้น ยอดขายที่เคยหลั่งไหลก็เริ่มอืด เหมือนถนนที่ครั้งหนึ่งมีรถวิ่งอยู่ไม่กี่คัน พอรถยนต์มากขึ้น แต่พื้นที่ถนนเท่าเดิม การขับเคลื่อนรถก็ช้าลง

*** พ่อค้าแม่ค้าหันเหมาตลาดจีน

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งไม่อาจมองข้ามได้คือการที่พ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากหันไปนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนแทนการซื้อจากตลาดสำเพ็ง เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าสินค้าจากจีนไม่ใช่เรื่องยาก สามารถแสวงหาออเดอร์ได้จากเว็บไซต์ทั่วไป ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสินค้าจากจีนนั้นราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ บวก ลบ คูณ หาร แล้วกำไรดีกว่าการซื้อในตลาดค้าส่งเมืองไทย ในขณะที่การสื่อสารก็ไม่ใช่เรื่องยาก แม้จะพูดภาษาจีนไม่ได้ก็สามารถสื่อสารผ่านแอพแปลภาษาได้เบ็ดเสร็จ ทำให้ พ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่หลายคนเดินทางไปจีนเป็นว่าเล่นเพื่อเจรจาออเดอร์นำมาขายต่อผ่านโลกออนไลน์

*** จับตาทุนจีนรุกฆาต

อย่างไรก็ตาม เมื่อสินค้าจีนกลายเป็นความต้องการของตลาด ทำให้โรงงานค้าส่งของจีนมองเห็นช่องว่างและมองว่าตลาดสำเพ็งยังมีเสน่ห์ดึงดูดเพียงพอ หากมีสินค้าหลากหลายและไม่แพง เพียงแต่อาจเป็นเพราะช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝนซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้ปริมาณคนเดินน้อยลง หากมีการนำสินค้าจากจีนเข้ามาทำตลาดในสำเพ็งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะดึงดูดให้คนกลับไปเดิน เกิดเป็นกระแสข่าวคนจีนเซ้งร้านต่อจากพ่อค้าแม่ค้าคนไทยที่เลิกขาย เป็นการเข้ามาเช่าเพื่อนำสินค้าจากจีนเข้ามาขายในราคาถูก ทั้งหน้าร้านและขายออนไลน์ ยิ่งทำให้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยที่ขายของประเภทเดียวกันอยู่ได้ยากขึ้นไปอีก เพราะสินค้าจีนขายราคาถูกกว่ามาก

*** ‘ซ้องปีบดังแต่ตลาดผ้าไหมยังไม่คึกคัก

อีกหนึ่งกระแสที่กำลังฟีเวอร์ในโลกออนไลน์ตอนนี้คือกระแสฮิตของละคร เรื่อง ‘กลิ่นกาสะลอง’ ทางช่อง 3 นำแสดงโดยพระเอกหนุ่ม เจมส์ มาร์ และนางเอกสาว ญาญ่า อุรัสยา อีกหนึ่งละครที่หลายคนเฝ้ารอ ซึ่งก็ไม่ทำให้แฟนๆ ต้องผิดหวัง เพราะแค่ออนแอร์ตอนแรกเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ก็ได้รับกระแสตอบรับดีเยี่ยม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ซึ่งในอดีตละครย้อนยุค “บุพเพสันนิวาส” เคยทำให้อาหารไทยอย่าง ‘หมูสร่ง’ หรือ ‘หมูกระทะ’ แม้กระทั่ง ‘มะม่วงน้ำปลาหวาน’ ขายดิบขายดีเพราะคนดูอินในเนื้อหาจนต้องหามาลิ้มลอง รวมถึงผ้าไหมที่ออเดอร์พุ่งกระฉูด แต่กระแสละครเรื่อง ‘กลิ่นกาสะลอง’ ยังไม่โหมให้กระแสตลาดผ้าไหมคึกคักมากนัก

ลุงชัยผ้าไหมสุรินทร์ เจาของร้าน ‘จองโฮล’ แหล่งรวมผ้าไหมสุรินทร์ทอยก ดอก มัดหมี่ ลายโบราณ ลายประยุกต์คัดเกรด เปิดเผยว่า แม้กระแสละครเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง” จะมาแรง แต่ไม่ได้หนุนยอดขายผ้าไหมของร้านเหมือนกับละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” หรือ “นาคี” ซึ่งต้องยอมรับว่ากระแสละครทั้งสองเรื่องที่กล่าวมาทำให้ตลาดผ้าไหมคึกคักอย่างมาก แต่ในระยะหลังยอดขายของร้านหายไปประมาณ 6 ส่วนจาก 10 ส่วน คือจากเคยขายได้เดือนละ 10 ผืนก็เหลือประมาณ 4 ผืน ส่วนสำคัญเนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซาทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างในต่างประเทศปัญหาสงครามการค้ายอดขายของตนหายไปเกือบ 100% ขณะที่ตลาดภายในประเทศยังพอประคับประคองได้จากนักท่องเที่ยว

“ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อตลาดผ้าไหมอย่างมาก ส่วนกระแสละครกลิ่นกาสะลองที่ไม่ดันตลาดผ้าไหมได้เหมือนกับบุพเพสันนิวาสและนาคี อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ซื้อไปแล้วตั้งแต่ช่วงนั้น และยังไม่คิดว่าจะเปลี่ยนชุดใหม่” ลุงชัยผ้าไหมสุรินทร์ กล่าว

*** กกร.ชี้จีดีพีปีนี้ไม่สดใส

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีปีนี้คง ไม่สดใสอย่างที่คิด เพราะล่าสุดนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กกร.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.9-3.3% จากเดิม 3.7-4.0% ขณะที่การส่งออกคาด ติดลบ 1-1% ปรับลดลงมาจาก 3.0-5.0% ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง สงครามทางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯและจีน รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดอยู่กรอบเดิมที่ 0.8-1.2%

โดยในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่อ่อนแอจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังขยายตัวแต่ขยายตัวในระดับต่ำ มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากแรงหนุนมาตรการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ แม้ว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็ตาม แต่กกร.มองว่าอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลจากการส่งออกที่ลดลงได้ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความท้าทายและขาดปัจจัยหนุน แม้ว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้างครึ่งปีหลัง แต่ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากความซบเซาของการค้าโลก รวมทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วและอาจจะมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าอีก หากธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันสินค้าส่งออกไทย ทำให้แนวโน้มของส่งออกทั้งปีของ ปีนี้อาจมีความเป็นไปได้ที่จะไม่ขยายตัว

*** ส.อ.ท.เตรียมพบแบงก์ชาติ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส.อ.ท. อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อ ขอเข้าพบ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า การธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือในเรื่องการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท ที่แข็งค่าต่อเนื่องเพราะขณะนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 5.7% ตั้งแต่ต้นปี และแข็งค่ากว่าสกุลอื่น ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบในแง่การแข่งขันและรายได้เมื่อแปลงเป็นเงินบาท โดยทางส.อ.ท. อยากให้ธปท. มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 1 ครั้งที่ 0.25% โดยเร็วที่สุดจากปัจจุบันที่ 1.75% เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และอยากให้ ธปท. ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่น รวมทั้งมีการใช้เครื่องมือที่มีอยู่ออกมาดูแลค่าเงินบาทให้เร็วที่สุด ซึ่ง ส.อ.ท. อยากเข้าพบภายในสัปดาห์หน้าหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งได้เตรียมข้อมูลไว้เรียบร้อยแล้วเพื่อหารือกับธปท.

*** ครม.ใหม่ลุยแก้ปัญหาปากท้อง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง โพสต์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กถึงเรื่องนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนคือสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อปากท้องพี่น้องประชาชน โดยตนเองและคณะผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐเตรียมนัดพรรคร่วมหารือเรื่องการเขียนนโยบายของรัฐบาลในสัปดาห์นี้ ซึ่งขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดได้ส่งนโยบายของแต่ละพรรคมาที่พรรคพลังประชารัฐแล้ว ซึ่งพรรคพลังประชารัฐก็ได้รวบรวมนโยบายทั้งหมดเพื่อเขียนเป็นร่างนโยบายรัฐบาล โดยจะเชิญตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือถึงการร่างนโยบายร่วมกัน สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่คิด ว่าจะสามารถทำได้ทันทีมี 3 นโยบาย ที่เราจะเสนอต่อที่ประชุม ได้แก่

1.นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ขึ้นกับกระทรวงการคลัง ซึ่งตอนนี้ร้านค้าต่างๆ ที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ได้ก็มีสินค้าด้านการเกษตร สินค้าชุมชน ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านขายอยู่ นอกจากนี้ การรูดบัตรไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องรูดบัตรอย่างเดียวแล้ว เนื่องจากนี้มีแอพพลิเคชั่น ของธนาคารกรุงไทย ก็ทำให้ประชาชนมีความสะดวกมากขึ้น

2.นโยบายพักหนี้เกษตรกร คิดว่าหลายพรรคการเมืองคงเห็นด้วยและไม่ต้องใช้งบประมาณมาก จึงสามารถทำได้เลย เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

3.นโยบายมารดาประชารัฐ ถือเป็นนโยบายหลักของพรรค ซึ่งช่วงหาเสียงพบว่ามีช่องโหว่คือการไม่ได้จำกัดอายุผู้ที่จะมีบุตร ซึ่งในรายละเอียดจะต้องมีการ ระบุอายุว่าต้องอายุเท่าไหร่ถึงจะรับเงินตรงนี้ เพื่อป้องกันปัญหา “แม่วัยใส”

ส่วนนโยบายกัญชาเสรีของพรรคภูมิใจไทย คงจะเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะเป็นคนดูแลเป็นหลัก โดยจะประสานกับหน่วยงาน อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐมองว่าเป็นนโยบายที่ควรผลักดันให้มีการขับเคลื่อนต่อไป

นอกจากนี้ มองว่านโยบายเรื่องการเกษตรจะต้องพูดคุยกันอย่างรอบคอบ จากเดิมพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าต้องได้รับเกิน 10,000 บาทต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิต้องได้เกิน 15,000 บาทต่อตัน และเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวจากไร่ละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งเป็นงบที่ผูกพันและต้องคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องมาประสานหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้

---------------------------------------------------------------------------------

photo : https://twitter.com/dk893/status/490351565799428096



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ