กัญชา‘อนุทิน’พลิกเศรษฐกิจ ปั้น อสม. 1 ล้านคน ปลุก ‘เกษตรกรพันธุ์ใหม่’

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กัญชา‘อนุทิน’พลิกเศรษฐกิจ ปั้น อสม. 1 ล้านคน ปลุก ‘เกษตรกรพันธุ์ใหม่’


‘อนุทิน’ โชว์กัญชาการแพทย์บรรจุในนโยบายรัฐบาล มุ่งประโยชน์รักษาโรคถูกกฎหมาย ประชาชนเข้าถึงได้ เพิ่มรายได้อย่างเข้มแข็ง ชูกลยุทธ์ขับเคลื่อนผ่าน อสม. ทั่วประเทศ 1 ล้านคน จัดอบรมให้มีความรู้รอบด้าน ก่อนนำไปขยายผลถ่ายทอดสู่ประชาชนปลูกในบ้าน ด้าน กสอ. จัด ‘ศูนย์ไอทีซี’ ผลิตสารสกัดขายตรงโรงพยาบาล ปั้นเกษตรกรเป็นนักรบพันธุ์ใหม่ นำร่อง 3 จังหวัด ‘เชียงใหม่-อุดรฯ’สุราษฎร์ฯ’

ขณะที่กรมแพทย์แผนไทยฯเอ็มโอยู 3 หน่วยงานปลูกกัญชา 4 ภาค ส่งผลผลิตปรุง 16 ตำรับยาไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติเดินสายหนุนรวมกลุ่มปลูกแบบสหกรณ์ นักวิชาการชี้ตลาดโลกเงินสะพัดเฉียด 2 ล้านล้าน แนะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น

*** ‘อนุทิน’ เผย ‘กัญชา’บรรจุในนโยบายรัฐบาลแล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “กัญชาเสรีเพื่อการแพทย์” จัดโดยพรรคภูมิใจไทยว่า จากการหารือเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลในเร็วๆ นี้

ต้องขอขอบคุณท่านนายกฯที่กรุณาบรรจุนโยบายกัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและทางการแพทย์เป็นนโยบายรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคตั้งแต่แรกเริ่มของการคิดนโยบายกัญชาเสรี มุ่งเน้นประโยชน์เสรีทางการแพทย์และรักษาโรคเท่านั้น ซึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายนี้มีเป้าหมาย คือ 1.กัญชาต้องเป็นยารักษาโรคที่ถูกกฎหมาย 2.กัญชาเป็นยารักษาโรคที่ประชาชนเข้าถึงได้ และบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นยาที่ผู้ป่วยในทุกสิทธิประกันสุขภาพรัฐทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคมหรือสวัสดิการข้าราชการสามารถ นำมาใช้รักษาได้ และ 3.กัญชาเป็นยารักษาโรคที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทย อย่างเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการอ้างสิทธิบัตรของใครเหนือพืชกัญชา ด้วยการจดสิทธิบัตรกัญชาสายพันธุ์ต่างๆ หากทำได้สำเร็จทั้ง 3 ข้อนี้ กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจให้คนไทยมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีความมั่นคง แข็งแรง

“ตอนที่พรรคคิดนโยบายนี้คือ เอากัญชามารักษาโรคความเจ็บไข้ของประชาชน เพราะเชื่อว่าสายพันธุ์กัญชาที่ทำได้ดี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงได้ เพื่อดูแลสุขภาพคนไทย ไม่ใช่ดูแลสุขภาพบริษัทค้ายาที่สร้างกำไรมากมายมหาศาล และขอย้ำว่าพรรคเน้นเรื่องกัญชาเสรีเพื่อประโยชน์การรักษาโรค และการพัฒนาทางการแพทย์ของประเทศเป็นหลัก” นายอนุทิน กล่าว

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องกัญชาเสรีทางการแพทย์และรักษาโรค ทุกอย่างจะต้องมีขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งจากการประ-สานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก็ชัดเจนว่าพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่7) พ.ศ.2562

มีข้อยกเว้นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการรักษาโรค การวิจัย และการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาในการรักษาโรค ซึ่งตนจะดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการหารือกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่ทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายและพร้อมให้ความร่วมมือ ในเบื้องต้นอาจจะเป็นการขับเคลื่อนผ่านอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ราว 1 ล้านคนก่อน โดยจัดอบรมให้มีความรู้อย่างครอบคลุมรอบด้าน และขยายผลถ่ายทอดต่อไปยังประชาชนในการปลูกในบ้าน โดยจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องการใช้ประโยขน์ทางการแพทย์และรักษาโรค เกี่ยวกับสรรพคุณต่างๆ และการปราศจากการปนเปื้อนโลหะหนักที่กัญชาจะดูดซับ ได้ดี ซึ่งอาจจะใช้เวลา 1-2 ปี จึงจะดำเนินการได้ทั่วถึง จากนั้นจะขับเคลื่อนให้คนไทยปลูกที่บ้านได้เอง 6 ต้น โดยต้องเป็นการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาโรคเท่านั้น คล้ายกับพืชสมุนไพรอื่นๆ ที่คนไทยสามารถปลูกไว้ใช้ได้

*** กสอ.ใช้ศูนย์ไอทีซี ผลิตสารสกัดขายตรงร.พ.

นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะรองประธานคณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพกลุ่มกัญชาและสมุนไพร เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนากลุ่มกัญชาว่า เตรียมพัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมหรือศูนย์ไอทีซี ที่อยู่ในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ของ กสอ.ให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำสารสกัดกัญชา เพื่อให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเข้ามาใช้อุปกรณ์ผลิตสารสกัดกัญชาอย่างถูกกฎหมาย ขายตรงให้กับโรงพยาบาล รวมทั้งจะให้ความรู้หลายๆด้าน อาทิ การทำตลาด การสกัด การทำระบบ การขนย้ายให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นนักธุรกิจพันธุ์ใหม่ รองรับนโยบายการสกัดสารกัญชาใช้ทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมาย

โดยได้เร่งปรับศูนย์ภาคเบื้องต้นนำร่อง 3 แห่ง คือ ศูนย์ไอทีซี ภาค 1 จ.เชียง ใหม่, ศูนย์ไอทีซี ภาค 4 จ.อุดรธานี และศูนย์ไอทีซี ภาค 10 จ.สุราษฎร์ธานี ให้เตรียมเครื่องมือรองรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องเข้ามาใช้ศูนย์ ลักษณะเป็นโรงงานโออี เอ็มผลิตขายตรงให้กับโรงพยาบาลเบื้องต้นมีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี สถาบันโรคผิวหนัง และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สนใจนำสารสกัดจากกัญชาไปใช้เพื่อการแพทย์

นายจารุพันธุ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานให้ถูกกฎ-หมาย อาทิ การขนย้ายวัตถุดิบสดกัญชาจากกลุ่มเกษตรกร การส่งไปแปรรูปในโรงงาน รวมทั้งจะหารือร่วมกับสภาเกษตร กรแห่งชาติทำความเข้าใจการปลูกกัญชาให้ได้ประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมทุกอย่างไว้หมดแล้ว เพื่อรองรับหากกฎหมายผ่านก็จะดำเนินการได้ทันทีตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ โดยแผนใหญ่ที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้

*** กรมแพทย์แผนไทยฯ นำร่อง ‘กัญชา’ 4 ภาค

ก่อนหน้านี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณ สุข (สธ.) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย ระหว่าง น.พ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ว่าที่ ร.ต.สมบูรณ์ทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ รศ.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) และ รศ.สิรี ชัยสิริ รองคณบดีฝ่ายวิจัยมหา วิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตเฉลิมเกียรติ จ.สกลนคร เพื่อร่วมมือด้านการปลูกพืชกัญชาในการส่งผลิตเป็นตำรับยาตามกฎหมาย โดยมีแหล่งปลูกกระจาย 4 ภาค และส่งให้หน่วยผลิตที่กำหนด ดังนี้ 1.ภาคเหนือ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.ลำปาง ปลูกและผลิตกัญชาสดส่งให้โรงพยาบาลสมเด็จยุพราชเด่นชัย 2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.บุรีรัมย์ ปลูกและผลิตส่งมอบให้โรงพยาบาลคูเมือง มทร.อีสาน และ มก. วิทยาเขตเฉลิมเกียรติ จ.สกลนคร ปลูกและผลิตส่งให้โรงพยาบาลอาจารย์ ฝั้น อาจาโร 3.ภาคกลาง สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.กาญจนบุรี ปลูกและผลิตกัญชาสดส่งให้โรงพยาบาลดอนตูม จ.นครปฐม และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ปลูกและผลิตส่งให้กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร และ 4.ภาคใต้ สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ จ.สุราษฎ์ธานี ปลูกและผลิตกัญชาสดส่งให้โรงพยาบาลท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี

*** ปลูกตามมาตรฐานออร์แกนิก

รศ.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดี มทร.อีสาน กล่าวว่า การปลูกกัญชาจะต้องได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติด้าน การเพาะปลูกที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และมาตรฐานการปลูกแบบเมดิคัล เกรด (Medical Grade) หรือมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ที่นานา ชาติให้การยอมรับ รวมทั้งเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ (ออร์แกนิก) เพื่อให้ปราศจากสารเคมีและสารปนเปื้อน ได้มาตรฐานมากที่สุด กระบวนการทุกขั้นตอนจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อที่จะสามารถนำกัญชาสดไปปรุงยาตำรับไทย 16 ตำรับให้ผู้ป่วยที่กำลังรอคอยไปใช้ได้ทันที

“กัญชาเป็นพืชไทยที่ใช้รักษาโรค มานาน โดยครั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อ นำไปศึกษาการปลูก วิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ตามที่ได้รับอนุญาต ในการใช้ปรุงยาและสั่งจ่ายยาที่มีกัญชาผสมอยู่ ซึ่งการปลูกกัญชาต้องปลูกแบบเมดิคัล เกรด เพื่อให้ได้คุณภาพที่ใช้ทาง การแพทย์ได้คือปราศจากสิ่งเจือปนทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ สารปนเปื้อนโลหะหนัก หญ้าฆ่าแมลงอันตราย และจุลชีพพืช เพื่อ การปรุงยาตำรับแพทย์แผนไทยทั้ง 16 ตำรับ” รศ.โฆษิต กล่าว

*** ยันรักษาได้มากกว่า 100 โรค

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้แก้ไขกฎหมายเพื่ออนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทดลองวิจัยรักษาโรค ในคนได้ ต้องขอบคุณรัฐบาลที่พยายามผลักดันเรื่องนี้ เรื่องกัญชารักษาโรคหลายประเทศทั่วโลกได้แก้กฎหมายจนสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกขายมาหลายปีแล้วและมีเอกสารการวิจัยของสถาบันใหญ่ๆทั้งในอเมริกา แคนาดา อิสราเอล วิจัย จนได้รู้ถึงสูตร สรรพคุณ สารออกฤทธิ์ พร้อมยืนยันได้ว่าสามารถที่จะเยียวยาผู้ป่วย ได้ถึง 100 กว่าโรค

*** หนุนตั้งสหกรณ์ปลูกทั่วประเทศ

ว่าที่ร้อยตรีสมพูนทรัพย์ กล้าวิกรณ์ เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่เกษตรกรกำลังให้ความสนใจกันมากอยู่ในขณะนี้ก็คือเรื่องการ ปลูกกัญชา ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งก่อนหน้านี้กัญชายังถือว่าเป็นยาเสพติดที่อยู่ใน การควบคุมของกฎหมาย เกษตรกรไม่สามารถนำไปปลูกเองได้อย่างเสรี ดังนั้นทางสภาเกษตรกรแห่งชาติจึงได้พยายามเสนอขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมาย ออกมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 และประกาศใช้ตั้งแต่ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562

เลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ ก็ได้มีการหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ได้ โดยที่ไม่ตกไปอยู่เฉพาะกับนายทุนเท่านั้น ซึ่งเบื้องต้น ทางสภาเกษตรกรฯได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ขออนุญาตตามกฎหมายนิรโทษกรรม 90 วัน เพื่อนำผู้ป่วยที่ต้อง การนำกัญชาไปรักษาโรคมาดำเนินการรักษาโรคได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อทำการวิจัยกัญชาสำหรับใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเชื่อมโยงกับเกษตรกรในพื้นที่ ในการปลูกกัญชาขายให้ในอนาคต ซึ่งการปลูกกัญชาลักษณะนี้ไม่ใช่การปลูกแบบเสรี แต่ต้องมีใบอนุญาตปลูกเพื่อใช้ในทางการแพทย์อย่างชัดเจนเท่านั้น

โดยเกษตรกรต้องมีการรวมกลุ่มกันเป็นลักษณะสหกรณ์จึงจะสามารถออกใบอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ ซึ่งการเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านี้เกษตรกรทั่วไปทำไม่ได้ ดังนั้น ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการประสานงานเชื่อมโยงให้ ทำ MOU กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อทำการวิจัยเพื่อให้การใช้กัญชาในทางการแพทย์มีความแพร่หลายไปทั่วประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่ต้อง การปลูกกัญชาต่อไปในอนาคต

*** มูลค่าตลาดโลกแตะ 1.9 ล้านล้าน

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการนำกัญชามาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ว่า เป็นเรื่องที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นยารักษาโรค มีงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันถึงประโยชน์ของกัญชา แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันให้หนักแน่นมากยิ่งขึ้น เพราะกัญชามีสารที่มีผลต่อจิตประสาท อันเป็นคุณสมบัติของสารเสพติดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ หากบริโภคหรือเสพเกินขนาด เบื้องต้นจึงควรมีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เป็นยารักษาโรคได้อย่างเต็มที่ สามารถครอบครองกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในการวิจัยทางการแพทย์รัฐบาลสามารถออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้สารสกัดจากกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด และควบคุมให้มีการใช้เฉพาะทางการแพทย์และพิจารณา แก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษเพื่อปลดล็อกให้มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพได้

ส่วนในระยะยาวควรออกกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับกัญชาโดยระบุให้เป็นพืชที่ใช้ทำเป็นยาและสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ภายในปี ค.ศ.2025 อย่างไรก็ตาม ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ดี การกำกับควบคุมไม่ดี อาจนำมาสู่ผลเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่าผลดี



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ