หนึ่งครอบครัวผู้สูญเสียจากกรณี “เหยื่อแพรวา” 9 ศพ ผ่านมา 9 ปี เปิดใจ “ถ้ารับผิดชอบตั้งแต่แรก เรื่องจะไม่ยืดยาวถึงวันนี้”

วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

หนึ่งครอบครัวผู้สูญเสียจากกรณี “เหยื่อแพรวา” 9 ศพ ผ่านมา 9 ปี เปิดใจ  “ถ้ารับผิดชอบตั้งแต่แรก เรื่องจะไม่ยืดยาวถึงวันนี้”


คดีซีวิคข่าว 9 ศพ  คดีสะเทือนขวัญ  ที่เกิดขึ้นเมื่อ 9 ปีก่อน  นำมาซึ่งความสูญเสียของ 9 ครอบครัว  จากวันนั้นถึงวันนี้ ต่อสู้กันมาถึง 3 ชั้นศาล แม้ว่าจะมีคำพิพากษาตัดสินไปเรียบร้อยแล้ว แต่ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 9 ครอบครัวกลับไม่ได้รับการติดต่อ และคำขอโทษจากทางจำเลย แม้แต่ครั้งเดียว  รายการ “ข่าวเช้า Good Morning Thailand” ช่วงเรื่องเด่นประเด็นดัง ผู้ประกาศ “ต๊ะ-พิภู  พุ่มแก้วกล้า” ได้รับเกียรติจาก พ.ต.อ.ศรัญ และ นางชุติมา นิลวรรณ บิดา-มารดาของ น้องนุ่น - สุดาวดี นิลวรรณ  หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น มาเป็นตัวแทนอีก 8 ครอบครัว เปิดใจถึงความรู้สึกถึงความสูญเสียของครอบครัว ว่า..ถ้ามีความรับผิดชอบตั้งแต่แรก เรื่องราวจะไม่ยืดยาวมาจนถึงวันนี้!!!

พิธีกร ในฐานะตัวแทนสื่อ บางทีเราก็จำเป็นต้องนำเสนอข่าว เราอยากให้ทุกคนได้ความยุติธรรมนะ แต่พอมันซ้ำๆ บ่อยๆ มันทำให้ภาพความเจ็บช้ำนั้นเกิดขึ้นมาอีกรึเปล่าครับ มีกระทบจิตใจคุณพ่อคุณแม่รึเปล่า

พ่อ : ความทุกข์ หรือความเศร้าโศกเสียใจ มันก็ยังคงมีอยู่ ยอมรับว่าทุกครั้งที่มีข่าว ความรู้สึกเดิมๆ ก็กลับมาแต่พวกเราก็เข้าใจสื่อ เข้าใจสังคมแหละครับ เป็นธรรมดาเพราะถ้าสื่อไม่นำเสนอข่าว เราก็อาจจะต้องต่อสู้อย่างโดดเดียว         

พิธีกร :  ต่อสู้มา 9 ปีเต็มๆ ตอนนี้ศาลตัดสินเรียบร้อยแล้ว ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา  พอใจกับคำตัดสินทั้งหมดไหมครับ?

พ่อ : การฟ้องร้องในคดีแพ่ง ทางฝ่ายที่กระทำไม่ได้ยื่นเสนอว่าจะเยียวยาเรา ก็เลยต้องฟ้องตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราก็เคารพในการตัดสินของศาล แน่นอนครับเราในฐานะฝ่ายผู้เสียหาย ทางทนายเขาก็บอกไว้ว่าเมื่อศาลตัดสินมา มันก็จะได้น้อยกว่าที่เราฟ้องไปอยู่แล้ว แต่ก็ยอมรับครับ ศาลให้มาเท่าไหร่เราก็เท่านั้น  มีผู้เสียหายทั้งหมด 28 คน รวมๆ กันแล้วประมาณ 26 ล้านบาท แล้วก็มาเฉลี่ยกันแต่ละคนมีครอบครัว มี ผลกระทบที่ได้รับไม่เท่ากัน  แต่จำเลยกลับยื่นอุทธรณ์ว่ามากเกินไป เสียมากไปหรือถ้าเสียก็ต้องให้รถตู้มาเสียด้วย  พอศาลอุทธรณ์ลดจำนวนเงินเราหนึ่งในห้า พวกเราก็ต้องใช้สิทธิ์ฎีกาเพราะเห็นว่าน้อยอยู่  แล้วทำไมต้องลดลงไปอีก ซึ่งศาลฎีกาท่านก็เมตตากลับไปที่ศาลชั้นต้น ก็พอใจ เพราะเราก็ขอแค่นั้นแหละครับไม่ได้ขอมากกว่านั้น   คิดว่าน่าจะจบ แต่ก็ยังไม่จบเพราะว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกา เพราะยังไม่ได้เงิน

พิธีกร :  ระหว่างทาง 9 ปีที่ผ่านมา ทางฝั่งนั้นเขามีความพยายามที่จะให้เรื่องมันจบตั้งแต่ศาลชั้นต้นเลยไหม

แม่ : 9 ปีที่ผ่านมา ทางครอบครัวคุณพ่อกับคุณแม่ไม่เคยได้รับการติดต่อจากเขาเลยแม้สักครั้งเดียว เงินช่วยเหลือไม่เคยได้รับสักบาทเดียว ไม่เคยมางานศพ ก็เคยเจอครั้งหนึ่งที่ศาล ก็ไม่มอง ไม่เข้ามาขอโทษ

พิธีกร :  เป็นไปได้ไหมครับว่าตอนนั้นเค้ายังเด็ก อาจจะทำตัวไม่ถูก หรือทนายความเขาอาจจะแนะนำแบบนี้  ว่าการรีบแสดงความเสียใจ หรือการขอโทษ มันอาจเป็นการยอมรับในชั้นศาลไปโดยปริยาย แล้วอาจจะมีผลต่อรูปคดีรึเปล่า

พ่อ : คือพวกเราเข้าใจว่าเด็ก หรือเยาวชนอายุ 17 ปี ก็มีผู้ปกครอง พ่อแม่หรือทนายความแนะนำให้ปฏิบัติ เขาก็คงตั้งข้อต่อสู้ไว้ว่า ไม่ว่าจะอาญาหรือแพ่ง ก็ปฏิเสธต่อการสอบสวนว่าไม่ได้ทำผิด ตั้งว่าจะสู้คดี จะไม่จ่ายเหมือนแบบว่าถ้าอยากได้ก็ไปฟ้องเอา อย่างที่ทางทนายความได้พูดกับผู้เสียหายบางท่าน  ประมาณว่า “อยากได้ก็เหนื่อยหน่อยนะ” ประมาณนี้แต่มากกว่านี้แหละครับ  ไม่ได้พูดกับผมนะ แต่พูดกับผู้เสียหายท่านอื่น แล้วเขามาเล่าให้ฟังว่า อาจจะแค่เปรยๆ ให้รู้ว่าเราถ้าอยากได้เงินชดใช้ ก็เหนื่อยหน่อย นานหน่อยหรือบางคนอาจจะตายไปก่อนก็ได้

พิธีกร :  ถ้าอย่างนั้นในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ญาติหรือครอบครัวของ 9 ผู้สูญเสีย ทุกคนยังอยู่ครบมั้ยครับ ?

พ่อ : ก็มีพ่อของน้องตรองที่เสียไปจาก หลังจากที่เสียน้องตองไปเขาก็ตรอมใจ คือทุกครั้งที่ไปประชุมผู้เสียหายฟ้องคดี อาญาหรือแพ่ง คุณพ่อก็ไปด้วยแต่พูดไม่ออก ร้องไห้ตลอด  หลังจากนั้น 1 ปีก็เสียชีวิตเหลือแค่คุณแม่สู้ต่อ

พิธีกร :  ตอนนี้มันมีคำสั่งศาลออกมาแล้วแบบนี้ โอเคไหม พอใจไหมครับ?

พ่อ : คือเราญาติๆ ก็ดีใจว่ามันจบสักที เพราว่าทางจำเลยเขาบอกมาในเอกสารว่าถ้าคดีถึงที่สุดแล้ว ทางเขาพร้อมที่จะชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย เขาก็อ้างมานะครับ เราไม่ได้ไปพูดเอง ซึ่งเอกสารก็ยื่นต่อศาลขอทุเลาการบังคับคดี, การจ่ายค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าเสียหายทั้งหมด หลังจากที่ศาลชั้นแรกพิพากษา ว่าถึงที่สุดแล้วยังไงก็ ถ้าเราชนะแล้วเราก็จะได้รับการเยียวยาจากฝ่ายจำเลย

พิธีกร :  หลังเริ่มมีกระแสข่าวออกมาแล้ว ทางราชสกุลก็ออกมาบอกว่าขอให้ผู้ที่กระทำความผิด เมื่อศาลตัดสินแล้ว พยายามชดใช้เยียวยาตามที่ศาลตัดสิน แล้วทางที่ตัวคุณแม่ของน้องเอง ก็บอกว่าขอเวลาอีกหน่อยจะพยายามขายที่ดินให้ได้ แล้วนำเงินมาชดใช้

แม่ : พูดจริงๆ นะคะคุณต๊ะ ในฐานะของคนเป็นแม่ที่สูญเสียลูกสาว แม่พูดด้วยความจริงใจ แม่สงสารคุณแพรวา (รวินภิรมย์)  เมื่อคืนยังคุยกับพ่ออยู่เลยว่า น้องเขาจะอยู่ในสังคมยังไง สงสารพ่อแม่เขา  คือจริงๆ แล้วตั้งแต่เกิดเรื่องมา หากครอบครัวของเขาหรือน้อง กล่าวคำขอโทษสักคำกับญาติ หรือแสดงความรับผิดชอบสักนิดนึง เรื่องราวมันคงจะไม่ลามมาถึงตอนนี้ ตอนนี้ญาติทุกคนที่ร่วมกันต่อสู้ ก็รู้สึกเจ็บปวด ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา สมมุติว่าถ้าครอบครัวหรือน้องแพรวามาขอโทษ หรือแสดงความรับผิดชอบ เราอาจจะได้เป็นญาติพี่น้องที่ช่วยดูแลซึ่งกันและกัน เพราะว่าพอเราเห็นครอบครัวทั้ง 9 ชีวิตที่เสียไปแล้วเนี่ยรู้สึกสงสารกันหมด เราก็เลยไม่ได้ทอดทิ้งกัน เรามีกลุ่มไลน์คุยกันทุกวัน มีข่าวอะไรเราก็จะส่งต่อกัน พูดจริงๆ เลยนะว่าสิ่งที่เกิดขึ้น  เกิดจากพ่อแม่เขา ถ้าเขาแสดงความรับผิดชอบตั้งแต่แรก เรื่องมันก็จะไม่ถึงวันนี้ แล้วที่คุณลัดดาวัลย์ให้ข่าว แม่ก็ไม่ได้ดูนะ แม่มาฟังย้อนหลังเมื่อคืน มันช้าไปไหม 9 ปีแล้ว มีกระแสสังคมออกมากดดัน

พิธีกร :  ถ้าวันนี้ ทางฝั่งครอบครัวแพรวาจะนัดเจอ กราบขอขมา กล่าวขอโทษอย่างจริงใจ ยังพร้อมจะให้อภัยไหม       

แม่ : แม่ให้อภัยค่ะ แต่จะมากราบขอโทษอะไรตอนนี้มันไม่ต้องแล้ว แต่แม่ให้อภัยจริงๆ อโหสิให้ ญาติๆทุกคนก็ไม่ได้ติดอะไร เพียงแต่ สิ่งเดียวที่ญาติติดเลยคือ เขาไม่ได้รับความยุติธรรมค่ะคุณต๊ะ กว่า 9 ปีที่ต่อสู้กันมาบางคนอยู่ไกลถึงภูเก็ต เชียงใหม่ ลำปาง ยังไม่ได้รับสักบาทเดียว มันก็เจ็บปวดนะ คือทุกครั้งที่เราจะต้องขึ้นศาล หรือทุกครั้งที่เราต้องเจอกัน เราสะเทือนใจ ย้อนกลับมาคิดถึงเหตุการณ์เก่า อย่างคุณแม่เอง ลูกเสียวันที่ 27 ธันวาคม มันเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ จริงๆ นะคุณต๊ะ วันตายลูกเราลืมวันนั้นไม่ได้นะ เอาลูกเราไปช่วงปีใหม่ ตัวเรานอนเฝ้าศพลูก แต่คนอื่นมีความสุข  ความรู้สึกเป็นแบบนี้ทุกปี มันเป็นช่วงเทศกาลที่ทรมานที่สุดสำหรับแม่ เวลาใกล้ถึงวันที่ 27 ธันวาในกลุ่มไลน์ทุกคนก็จะถามกันว่า ใครไปทำบุญที่ไหน ใครอยู่วัดไหน มันเป็นแบบนี้ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา (ร้องให้)

พิธีกร :  ให้กำลังใจนะครับ ผมก็ไม่อยากให้เศร้า ขอถามอีกนิด 9 ปีที่ผ่านมาเคยจดอะไรบ้างไหมว่าต้องต่อสู้คดี ไปขึ้นศาลกี่ครั้ง หมดเงินไปเท่าไหร่ ถ้าได้เงินมามันเพียงพอไหมกับหนึ่งชีวิตที่สูญหายไป เพียงพอไหมกับเวลาที่เราเสียไป ?

แม่ : ไม่ได้จดเลยค่ะ คือเราไม่คิดตรงจุดนี้เลย

พ่อ : คือเราเดินทางมา เรื่องคดีไม่ว่าจะประชุมผู้เสียหายที่ธรรมศาสตร์ เดินทางไปศาล เบิกความทั้งอาญาทั้งแพ่งหลายๆ ครั้ง เราไม่ได้จด ส่วนคุ้มไม่คุ้มเนี่ยเราไม่คิดถึงตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อเรารอทั้งๆ ที่อีก ฝ่ายจะเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาเราเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะว่ามันเรื่องที่ทำได้ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา แต่กลับกลายเป็นเขาเลือกที่จะสู้ เลือกที่จะปฏิเสธ หาโอกาสที่จะชนะคดี ต้องให้คดีถึงที่สุดเขาถึงจะจ่าย เราก็หวังแค่ว่าศาลให้เท่าไหร่ พิพากษาเท่าไหร่เราก็ยอมรับครับ ไหนๆ ก็พูดละ เงินห้าแสนบาทที่เขาเสนอให้เราไม่ต้องการ ขอแค่ที่ศาลให้

พิธีกร :  มีโอกาสได้ไปเยี่ยมคุณแม่ด็อกเตอร์เป็ด (ดร.ศาสตรา เช้าเที่ยง)  บ้างไหมครับ?

แม่ : ได้คุยกันค่ะ คุณแม่ ดร.เป็ดน่าสงสารมาก บางวันคุณแม่กลับมาจากขายพวงมาลัย ก็จะโทรหาคุณแม่บอกคุณอ้อยวันนี้ฉันเหนื่อย ท้อ บางทีก็บอกว่าไม่อยากสู้ต่อละ ไม่เอาแล้ว

พิธีกร :  แต่ก็ท้อไม่ได้ ถ้าท้อก็จะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นเห็น ต่อไปเวลามีคนทำผิด เขาก็จะไม่รีบยอมรับ เพราะฉะนั้นขอเป็นกำลังใจให้นะครับ ในวันนี้เราชนะแล้ว แล้วก็สังคมพร้อมหนุนหลัง ผมเชื่อว่าคนเราจะได้รับ ผลตอบแทนกับสิ่งที่ตัวเองทำ

แม่ : แม่ขอฝากด้วยค่ะว่า ในนามของตัวแทนญาติผู้เสียชัวิตทุกคนที่ยืนหยัดต่อสู้กันมา คุณแม่บอกน้องนักข่าวที่ไปรับ เมื่อเช้าว่า ไม่อยากออกสื่อ ไม่อยากออกข่าว แต่พ่อกับแม่ยังไงก็ต้องต่อสู้ เพื่อญาติอีก 8 คน ที่ร่วมต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน สิ่งเดียวที่เราต้องการคือ ขอความยุติธรรมให้เราแค่นั้นเอง เรื่องอื่นๆ ญาติไม่เคยคาดหวังเลย ที่เราอยู่ได้เพราะกลุ่มญาติ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะให้กำลังใจกัน  9 ปีผ่านมาวันนี้ถ้าครอบครัวแพรวาแสดงน้ำใจกับเรา มันจะไม่ยึดยาวจนถึงขั้นนี้ แม่ให้อภัย แม้วันนี้แม่ก็ยังจะบอกให้อภัยเขา สำหรับเงินห้าแสนที่ราชสกุลให้มาเราก็ขอขอบคุณจริงๆ แต่ว่าเราขอฝากให้ครอบครัวแพรวาให้รวบรวมเงิน ชดใช้ญาติคนอื่นๆ  ถึงวันนี้คำขอโทษหรืออะไรคุณแม่คิดว่ามันไม่ต้องละ ให้ได้ดูแลญาติๆ เขาบ้าง เขาลำบากจริงๆ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ