“50 บริษัท” โยกหนี จีน “ไทย บี้ เวียดนาม” ชิง ‘ไอโฟน-อเมซอน’

วันเสาร์ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“50 บริษัท” โยกหนี จีน “ไทย บี้ เวียดนาม” ชิง ‘ไอโฟน-อเมซอน’


50 บริษัทข้ามชาติโยกหนีพิษเทรดวอร์ ย้ายฐานจากจีนหาแหล่งลงทุนใหม่ เล็ง ไทย-เวียดนาม- อินเดีย’ ‘สมคิดพลิก อีอีซีสู้ หวังใช้จุดเด่น 10 S Curve รถไฟความร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ดึงดูดความสนใจ ขณะที่เวียดนามชู 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษแข่ง บิ๊กนิคมฯดันรัฐดึง ไอโฟน-เมซอนเข้าไทย อุตตมจีบ ‘Marubeni’ ขยายลงทุน กรอ.โชว์ตัวเลขตั้งโรงงานใหม่ปีนี้ทะลุ 4 แสนล้าน ด้านการลงทุนผ่านบีโอไอ Q1 กว่าแสนล้าน

>>> 50 บริษัทข้ามชาติโยกฐานหนีจีน

แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา จะประกาศผ่านเวทีประชุมกลุ่มผู้นำประเทศ G20 ยุติการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าล็อตใหม่จากจีน แต่ดูเหมือนว่ากระแสเทรดวอร์จะไม่จบลงแบบง่ายๆ เนื่องจากยังมีแรงกระทบกระทั่งจากหลายส่วน เป็นเหตุให้บริษัทข้ามชาติในจีนเริ่มทยอยโยกฐานออกจากจีนไปหาแหล่งลงทุนแห่งใหม่ โดยนิตยสารนิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า บริษัทข้ามชาติจำนวนกว่า 50 แห่ง กำลังถอนตัวออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยกตัวอย่าง บริษัท นินเทนโด ผู้ผลิตคอนโซลเกมรายใหญ่และบริษัททีซีแอลผู้ผลิตโทรทัศน์เตรียมย้ายฐานไปยังเวียดนาม บริษัทแอปเปิลหรือไอโฟนโยกฐานการผลิตราว 15-30% โดยยังไม่ตัดสินใจว่าจะลงทุนที่ไทย เวียดนาม หรือ อินเดีย บริษัทไซหลุน ไทร์ ของจีนตัดสินใจมาประเทศไทย รวมถึงบริษัทเอชพีและเดลล์ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลก็เตรียมมองหาลู่ทางลงทุนแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

>>> ‘สมคิดพลิก อีอีซีสู้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวช่วงหนึ่งในการชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า นาทีนี้เป็นจุดพลิกผันสำคัญมาก รถยนต์โตโยต้าไปผลิตอีวีที่อินโดนีเซีย สินค้าไฮเทคของญี่ปุ่นเช่นเครื่องมือแพทย์ไปที่เวียดนามซึ่งมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเด่นๆ 3 แห่งที่เมืองโฮจิมินห์ ดานัง และ ฮานอย ประเทศไทยมีอะไร ค่าแรงแพงกว่าเขาครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีถึงเกิดขึ้นมา เพื่อพยายามทำให้เป็นเบ้าหลอมการนำเข้า-ส่งออก เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่า เป็นฮับของภูมิภาคนี้ จริงอยู่โครงการเหล่านี้ต้องอาศัยเงิน เราก็พยายามคิดว่าจะเซฟงบประมาณได้ยังไง เซฟการกู้ได้ยังไง จึงออก ‘ฟิวเจอร์ฟันด์ อินฟราฟันด์’ สำเร็จไปแล้ว 1 โครงการ เซฟเงินรัฐบาล 5 หมื่นล้านบาท เราเน้นการลงทุนแบบ PPP เป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน เซฟเงินรัฐบาลได้อีก อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เอกชนหาพวกมาสู้กัน ประมูลแข่งกัน ซึ่งประโยชน์ไม่ได้เกิดเฉพาะแค่ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา-ระยอง-ชลบุรี) แต่เมื่อมีอีอีซีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้นที่นั่น ก็เกิดการเชื่อมโยงไปทั่วประเทศ แต่หลักการคือต้องไม่สร้างมลพิษในพื้นที่ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วย ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มต้นอาจจะมีปัญหาบ้าง ก็ต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่สุดวันนี้ 4 โครงการใหญ่คือ แหลมฉบัง มาบตาพุด รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา เดินหน้าแล้ว เหลือแค่ศูนย์ซ่อมเครื่องบินที่ยังไม่เดินหน้า ซึ่งก็ต้องเร่ง ฉะนั้นอีอีซีต้องเกิดเพราะว่าสร้างจุดขายใหม่ให้ประเทศไทย สร้างแรงดึงดูดการลงทุน

>>> ดึง แอปเปิล-อเมซอนลงทุนไทย

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ผู้ดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในพื้นที่อีอีซีช่วงครึ่งหลังปี 2562 ว่า ขณะนี้นักลงทุนข้ามชาติมีการตระเตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยเฉพาะบริษัทใหญ่คือไอโฟนและอเมซอน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมองไทยเป็นประเทศเป้าหมายเช่นเดียวกับเวียดนาม และประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐของไทยรีบหาแนวทางดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามา โดยสิ่งที่อยากให้สำนักงานอีอีซีเร่งดำเนินการคือการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ หรือ วันสต็อปเซอร์วิส เพื่อให้การขออนุญาตทุกขั้นตอนจบในที่เดียวคือสำนักงานอีอีซี

>>> กรอ.เผยตัวเลขตั้งโรงงานปีนี้ทะลุ 4 แสนล้าน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบตัวเลขการตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่าปีนี้มูลค่าการลงทุนรวมใน 3 จังหวัดอีอีซี ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา สูงถึง 75,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ 2 ปีย้อนหลังพบว่าสูงขึ้นมาก เพราะปี 2560 มีมูลค่าลงทุนรวม 33,000 ล้านบาท และปี 2561 มีมูลค่าลงทุนรวม 25,000 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจหลังรัฐบาลเดินหน้านโยบายอีอีซี โดยตลอดทั้งปีนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนรวมทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 430,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 20% และในมูลค่าลงทุนรวมนี้คาดว่าจะเป็นเงินทุนเฉพาะพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 60% หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 258,000 ล้านบาท

>>> ‘อุตตมจีบ ‘Marubeni’ ขยายลงทุน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะ ได้เข้าพบนายทาโร อาโซ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 โดยได้เน้นย้ำถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยและความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการยกระดับศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับศักยภาพของแรงงาน การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต ตลอดจนการสนับสนุนการลงทุนและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งในประเทศและเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมแสดงความขอบคุณที่ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนายุทธศาสตร์ไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารของบริษัท Marubeni Corporation เชิญชวนให้บริษัทขยายการลงทุนในประเทศไทย

>>> ลงทุนผ่านบีโอไอ 3 เดือนกว่าแสนล้าน

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (มกราคม – มีนาคม 2562) ว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 387 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12% มูลค่าเงินลงทุนรวม 128,903 ล้านบาท โดยอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 199 โครงการคิดเป็น 51% ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยมีมูลค่า 58,803 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด

โดยประเภทกิจการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 1. กิจการบริการและสาธารณูปโภคจำนวน 129 โครงการ คิดเป็น 33% ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุนรวม 46,888 ล้านบาท 2. กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 81 โครงการ เงินลงทุนรวม 22,259 ล้านบาท 3. กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 65 โครงการ เงินลงทุนรวม 15,258 ล้านบาท และ 4. กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 52 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,365 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนรายใหม่ยังคงให้ความสนใจยื่นขอรับการส่งเสริม โดยมีโครงการลงทุนใหม่จำนวน 208 โครงการ คิดเป็น 54% ของจำนวนคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 39,170 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด สำหรับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ญี่ปุ่น จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุน 26,845 ล้านบาท อันดับ 2 จีน จำนวน 38 โครงการ เงินลงทุน 9,072 ล้านบาท และอันดับ 3 สิงคโปร์ จำนวน 29 โครงการ



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ