สสส.หนุน"มหกรรมชุมชนจักรยาน กับ7รูปแบบสร้างสรรค์ส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อสุขภาวะ”

วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สสส.หนุน


สสส.หนุนจัดงานมหกรรมชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เวทีสรุปผลโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปี 3 เล็งขยายผลต่อยอดความสำเร็จสู่ปีที่ 4 เผยอเมริกาใต้เตรียมนำรูปแบบไทยไปใช้สร้างชุมชนจักรยานเข้มแข็ง

นางสาวเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ ( สสส. )เปิดเผยว่า สสส.โดย สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม มีภารกิจหลักในการสนับสนุนกระจายโอกาสให้แก่ชุมชนดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ  ได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย  ค้นหาภาคีที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และมีความพร้อมในการดำเนินงาน  “กระบวนการการสร้างชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ” พร้อมกันนี้ได้จัด ​“มหกรรมชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ เวทีสรุปผลโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปี 3” ณ ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สสส. ร่วมด้วยภาคีแกนนำทั่วทุกภูมิภาค มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์การดำเนินงานร่วมกัน

"ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ คือ กลไกในชุมชน เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน ชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มีความต่อเนื่องและสำเร็จ หากกลไกนี้เข้มแข็งเราเชื่อมั่นว่า ชุมชนสามารถต่อยอดการใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการทำงบูรณาการร่วมกับงานอื่นๆในชุมชนของเค้าเอง   บทเรียนสำคัญของชุดโครงการที่ทำมาใน 3 ปี เราคิดว่าสามารถเป็นรูปแบบที่เอาไปขยายผลให้กับชุมชนอื่นๆ โดยหน่วยงานอื่นๆ เอาไปทำได้เอง และการทำงานร่วมกับมูลนิธิมีความสำคัญ อาจมีการพัฒนาการต่อยอด ขยายผลเรื่องที่มีประสิทธิภาพสู่การมีประสิทธิผลได้มากขึ้น ในปีต่อๆไป ”

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษา มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า “ จักรยาน เรามักนึกถึงรถที่มีล้อ 2 ล้อ พาหนะพาเราจากที่นึงไปยังอีกที่นึงอันนั้นใช่ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่มันเป็นพาหนะที่เป็นเครื่องมือในการบูรณาการ การทำงาน, การขนส่ง,  ค่าครองชีพ, การศึกษา, การปกครอง, สุขภาพ หลายต่อหลายอย่าง เพราะที่ผมพูดมาทั้งหมด แม้กระทั่งเรื่องโลกร้อน อยู่ในเรื่องจักรยานนี้แหละ เพราะคำตอบอยู่ในนี้ หากนำเอาแนวคิดนึ้มาทำ แล้วทำให้ชุมชนบ้านเรากลายเป็นชุมชนจักรยานได้ ผมมักจะไม่ใช้คำว่า เมืองจักรยาน เพราะเกิดขึ้นยาก ชุมชนจักรยานเกิดในมุมเล็กๆ ของเมืองซึ่งเกิดได้ง่าย หากเราทำให้ชุมชนมีสังคมที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายน้อยลง เอื้ออาทรต่อกัน น่าจะเป็นวิธีคิดที่ต่อประเทศไทย เพราะฉะนั้น เราจึงต้องผลักดันวิธีคิดนี้ต่อไปให้เกิดการขยายผล กระจายไปทั่วประเทศ เหมือนกับที่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ”

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทางสถาบันฯ จึงได้รับคัดเลือกจาก องค์กรผู้จัดการประชุมจักรยานระดับโลก Velo-City 2019 ให้เข้าร่วมกิจกรรมที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในประเด็น จักรยานเพื่อผู้คนทุกกลุมวัย Cycling for The Ages มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,400 คน จาก 120 ประเทศ โดยผลสำเร็จที่ได้ คือ ประการแรกเกิด “แนวร่วม” และ “กระบวนการการมีส่วนร่วม” เป็นกลไกต่อการส่งเสริมในชุมชน สร้างเครือข่ายคณะทำงานรวม 306 แห่ง ประการต่อมาคือ เกิดการจัดการสภาพแวดล้อมด้านกายภาพชุมชน ให้เอื้อต่อการใช้จักรยานเพื่อเดินทางในชีวิตประจำวันที่สร้างความสะดวกปลอดภัย รวมจำนวน 875 แห่ง   นอกจากนี้ยังเกิดการกำหนด“นโยบายท้องถิ่น หรือข้อตกลงวาระของเมือง-ชุมชน” และแนวทางขยายผลต่อเนื่องในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานเพื่อเดินทางมากถึง 49 พื้นที่ โดยมีประชาชนที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จากเดิม 3,517 คน หลังดำเนินการแล้วมีกว่า 9,978 คน เพิ่มขึ้นจากเดิม 6,461 คน  คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.71 ในภาพรวม

          ทั้งนี้โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ปีที่ 3 ที่ดำเนินงานมา ตั้งแต่ปี 2561 ได้สนับ สนุนโครงการย่อยจำนวน 60 โครงการ ดำเนินงานใน 34 จังหวัดของประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อ กระจายโอกาสการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพประเด็นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้ง การส่งเสริม สนับสนุนชุมชนจัดระบบสุขภาพ โดยการพัฒนาศักยภาพกลุ่มแกนนำ การเสริมทักษะความรู้ และสามารถไปจัดกระบวนการในพื้นที่ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะของชุมชน  และเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ในการดำเนินงานของชาวชุมชนจักรยาน ซึ่งผ่านการพัฒนาศักยภาพภาคี เรียนรู้นวัตกรรมชุมชนจักรยาน ผ่าน 7 รูปแบบสร้างสรรค์ที่เกิดจากชุดประสบการณ์ทำงานและผลลัพธ์จากการถอดบทเรียนโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ในปีที 1 และ 2 ประกอบด้วย 1. จักรยานกับการจัดการสิ่งแวดล้อม 2.จักรยานส่งเสริมกิจกรรมเด็กและเยาวชน 3.สร้างสุขคนสูงวัยด้วยจักรยาน 4.จักรยานกับงานขับเคลื่อนสุขภาพในชุมชน หมู่บ้าน  5. จักรยานจัดการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน 6. จักรยานกับการบูรณาการงานท้องถิ่น และ 7. จักรยานกลายเป็นเครื่องมือ หรือมาตรการร่วมของชุมชน  เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาภายในชุมชน ผ่านแนวคิดการดำเนินงานชุมชนจักรยานควบคู่กัน และมีตัวอย่างผลงานพื้นที่เด่น จาก7 รูปแบบ กว่า 21 ชุมชน

 

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ