สหพันธ์ขนส่งฯ ร้อง ‘นายกรัฐมนตรี’ คัดค้าน พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562

สหพันธ์ขนส่งฯ ร้อง ‘นายกรัฐมนตรี’ คัดค้าน พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่


สหพันธ์ขนส่งฯ ร้อง ‘นายกรัฐมนตรี’ คัดค้าน พ.ร.บ.จราจรฉบับใหม่ ขูดรีดประชาชนจากโทษปรับ 500 บาท ทะยานสู่ 5,000 บาท แฉข้าราชการทำประชาพิจารณ์กันเองปิดกั้นรับฟังสังคม ลั่นต่อต้านนโยบายจำกัดเวลารถบรรทุกวิ่ง หวั่นกระทบภาคส่งออกทั้งระบบ หากรั้นเตรียมปรับขึ้นค่าขนส่ง 40-50% ด้าน ‘ศักดิ์สยาม’ ยันเดินหน้าปรับเวลาวิ่งรถใหญ่ได้เฉพาะเที่ยงคืน-ตี 4 ตามมาตรฐานโลก

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากยื่นหนังสือร้องเรียนให้กับสำนักนายกรัฐมนตรีว่าได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีคัดค้านการออกกฎหมายพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีการบังคับใช้ในวันที่ 20 ก.ย. 2562 เพราะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งและประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะแนวทางการเพิ่มโทษปรับ 5 เท่า หากไม่ไปชำระโทษปรับตามกำหนดเวลานั้น ส่งผลให้โทษปรับเบื้องต้นเดิม 500-1,000 บาทนั้น เพิ่มขึ้นถึงระดับ 5,000 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน อีกทั้งยังเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการจ่ายส่วนแบ่งให้ตำรวจที่จับกุม อาจนำไปสู่ปัญหาการทุจริตเพื่อคอรัปชั่นรางวัลนำจับ

ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องยกเลิกรางวัลนำจับด้วย เนื่องจากพบว่าเงินนำจับดังกล่าวส่วนใหญ่ตกอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีการส่งเข้ารัฐเพียง 5% เท่านัน อย่างไรก็ตาม มองว่าการบังคับใช้กฎหมายใหม่ระยะเวลากระชั้นชิดไปไม่มีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในการเอาผิดผู้ขับขี่ โดยไม่มีบรรทัดฐานใดมาวัดและกำกับดูแลความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้กฎหมายใหม่เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนควบคู่ไปกับการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะเน้นใช้กฎหมายเพื่อบังคับให้จ่ายค่าปรับมากกว่าการพัฒนาพฤติกรรมผู้ขับขี่

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีการเปิดประชาพิจารณืที่กว้างขวางมีเพียงการสอบถามความคิดเห็นเฉพาะแค่พนักงานราชการ 500 คน จึงไม่สะท้อนความคิดเห็นของคนส่วนรวมที่แท้จริง ดังนั้นภาคประชาชนและผู้ประกอบการขนส่งจึงต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางออกกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 90 วันหลังจากประกาศใช้ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายจราจรมีความซับซ้อนกันอย่างมากทั้งกฎหมายจราจร กฎหมายทางหลวงและกฎหมายขนส่ง ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาจัดระเบียบกฎหมายด้านการขนส่งให้มีความชัดเจนด้วยทั้งการบังคับใช้และผู้มีอำนาจบังคับใช้เพราะอาจทำให้ประชาชนสับสนได้”

สำหรับนโยบายจำกัดเวลารถบรรทุกวิ่งแค่ 00.00-04.00 น. เพียง 4 ชั่วโมงนั้น สมาคมผู้ขนส่งสินค้าและรถบรรทุก ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจด้านการนำเข้าและส่งออกทั้งระบบซึ่งถือเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิต ผู้ขนส่งไปจนถึงพื้นที่ท่าเรือและสนามบิน โดยทางสหพันธ์ขนส่งยืนยันว่าต้องการให้กระทรวงคมนาคมใช้มาตรการเวลาเดิมที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ช่วงเวลา 10.00-15.00 น. และช่วงเวลา 21.00-05.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่ทำให้รถติดและเป็นเรื่องที่มีการศึกษามาเหมาะสมแล้ว ส่วนมารตการเยียวยาที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอนั้นต้องขอไปหารือเจรจากับผู้ประกอบการก่อนว่าจะมีความเดือดร้อนอะไรบ้าง แต่ขณะนี้ยืนยันว่าไม่ยอมรับนโยบายดังกล่าวแน่นอน ทั้งนี้ หากกระทรวงคมนาคมยืนยันที่จะเดินหน้ามาตรการดังกล่าวนั้น ผู้ประกอบการขนส่งอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าขนส่ง 40-50% หลังจากต้องเสียเวลาในการรอขนส่งสินค้า

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นโยบายจำกัดเวลาวิ่งรถบรรทุก 4 ชม./วันนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนมีการห้ามรถบรรทุกเข้ามาวิ่งในเขตเมืองเพราะเป็นตัวก่อปัญหาให้เกิดรถติด จากสถิติปริมาณรถบรรทุกมีอยู่ถึง 50,000 คันที่วิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันโครงการดังกล่าวแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ