60 วันบูมท่องเที่ยวหมื่นล้าน ปลุก 77 จังหวัด ปั้น ‘แมสคอต’ ชุมชน

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562

60 วันบูมท่องเที่ยวหมื่นล้าน  ปลุก 77 จังหวัด ปั้น ‘แมสคอต’ ชุมชน


ครม.หนุน 10 ล้านคนเที่ยวเมืองรอง รับ 2 ต่อ ต่อแรกได้รับเงินไปเที่ยวคนละ 1,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าบริการกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมมาตรการ โดยต้องใช้ภายใน 14 วันหลังจากได้รับการยืนยัน และต่อที่ 2 จะได้รับวงเงินคืนสูงสุด15%ของยอดการจ่ายเงินจริงโดยสามารถใช้จ่ายไม่เกินคนละ 3 หมื่นบาท หอการค้าคาดกระตุ้นจีดีพีโต 3% ด้าน ททท.เปิดขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทยรอ สสว.แนะชุมชนทำสินค้าสร้างสรรค์รับนักท่องเที่ยว หนุน ‘แมสคอต’ชุมชนสร้างความโดดเด่น ดันแนวคิด Local Character หรือ คาแรกเตอร์ท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าสินค้าไทย หลังญี่ปุ่นประสบความสำเร็จโกยเงินมหาศาลจากทั่วโลก หวังชุมชนไทยมีพรีเซนเตอร์แบบ ‘คุมะมง’ ดึงคนไปท่องเที่ยวซื้อของที่ระลึก ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาชู ‘จีไอ’ จุดเด่นสินค้าชุมชน 77 จังหวัด

*** ไฟเขียว 3.16 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีวงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท ทั้งการช่วยเหลือเกษตรกร ดูแลค่าครองชีพ และการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศรวมมาตรการท่องเที่ยว เบื้องต้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินว่า มาตรการดังกล่าว หากทำได้เสร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 0.5-0.6%

*** แจกเงินท่องเที่ยว 10 ล้านคน

สำหรับมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รัฐจะสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่นเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย แยกเป็น 2 ต่อ ต่อแรกได้รับเงินไปเที่ยวคนละ 1,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าบริการกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมมาตรการ โดยต้องใช้ภายใน 14 วันหลังจากได้รับการยืนยัน และต่อที่ 2 จะได้รับวงเงินคืนสูงสุด 15% ของยอดการจ่ายเงินจริง โดยสามารถใช้จ่ายไม่เกินคนละ 3 หมื่นบาท ซึ่งผู้ที่จะได้รับต้องไปใช้จ่ายค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือซื้อสินค้าท้องถิ่น และต้องใช้จ่ายนอกจังหวัดที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน โดยจะเปิดลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) ตั้งแต่ 23 ก.ย.-15 พ.ย.62 หรือจนกว่าสิทธิ์จะหมด สามารถท่องเที่ยวได้ภายในวันที่ 27 ก.ย.-30 พ.ย.62 กำหนดไว้เพียง 10 ล้านคนแรกเท่านั้น

*** 60 วันสะพัดหมื่นล้าน

หากประเมินความเป็นไปได้กรณีมีคนเข้าร่วมโครงการของรัฐครั้งนี้ถึง 10 ล้านคนตามเป้าหมาย เฉลี่ยค่าใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท เท่ากับว่าจะมีเงินสะพัดเฉพาะในส่วนภาคการท่องเที่ยวสูงถึง 1 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลา 2 เดือนคือตั้งแต่ 27 ก.ย.-30 พ.ย.62

*** ดันจีดีพีโต 3%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหา วิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากดูวงเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้จากที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ในเชิงตรรกะตัวเลขถือว่าเพียงพอต่อการพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือทำให้ทั้งปีโตได้ประมาณ 3-3.2% เพราะเม็ดเงินจะถูกใช้ทันทีในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ อย่างน้อยประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอาจมีการโอนให้ชาวนาอีกบางส่วน จึงน่าจะมีผลพยุงให้เศรษฐกิจไทยไม่ทรุดตัวลงไปอย่างรวด เร็ว และมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ควรขยายตัวได้ที่ 2.6-2.8% ขณะที่มาตรการของการท่องเที่ยวจะมีผลเร็วมากน้อยเพียงใดต้องรอดูยอดผู้ขอรับสิทธิ์

*** เปิดตัว “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย”

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน ททท. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวไทย จึงได้สร้างกลยุทธ์ดำเนินการส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวไทยเพื่อให้ตลาดท่องเที่ยวของประเทศมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้สร้างเม็ดเงินและความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศกว่า 3.08 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยในช่วงครึ่งปีหลัง ททท. จึงพลิกโฉมกลยุทธ์การนำเสนอขายสินค้าท่องเที่ยวด้วยการเจียระไนแหล่งท่องเที่ยวเดิม และค้นหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้กระบวนการพัฒนาแบบ 360 องศา เพื่อเป็นการกระจายข้อมูลด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ และก่อให้เกิดการเดินทางในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเปิดตัวโครงการ “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” (Tourism Treasures Throughout Thailand)

สำหรับสินค้าท่องเที่ยวภายใต้กระบวนการพัฒนาแบบ 360 องศานี้ แบ่งตามประเภทสินค้าการท่องเที่ยว ได้แก่ 1.สินค้าท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ ป่าไม้ เส้นทางเดินป่า หาดทราย ชายทะเล เป็นต้น โดยแต่ละภูมิภาคต่างมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว และพร้อมสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน 2.สินค้าท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม แหล่ง ท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์ การท่องเที่ยวชุมชน ที่สร้างประสบการณ์ (Local Experience)รวมถึงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ 3.สินค้าท่องเที่ยวเชิงมูลค่า เป็นกลุ่มสินค้าท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าและเกิดรายได้จากการใช้บริการ เช่น การท่องเที่ยวของคู่แต่งงาน-ฮันนีมูน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความ งาม การท่องเที่ยวทางน้ำสไตล์หรูหรา ล่องเรือยอชต์ชมทะเลอ่าวไทย และทะเลอันดามัน เป็นต้น 4.สินค้าท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ (Niche Market) เช่น ท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร ท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ เช่น Music Festival ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่จัดมหกรรมดนตรีระดับนานาชาติได้โดดเด่น และถูกใจชาวต่างชาติ โดยได้เดินทางมาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ พร้อมกับร่วมกิจกรรมนันทนาการไปพร้อมๆ กัน กลยุทธ์นี้จะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทย ไปได้ทุกวัน กระจายรายได้ทางการท่องเที่ยวสู่ชุมชน นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยที่ผ่านมา

ททท.ได้ดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยอย่างรอบด้าน ทั้งด้าน Demand และ ด้าน Supply ในส่วนของ Demand ได้กระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว และผลักดันให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวอย่างลึกซึ้ง

*** แนะชุมชนทำสินค้าสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่า

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวขณะเป็นประธานเปิดงานสัมมนา Localize Character x Supply Chain Integrated Cooperation ความร่วมมืออย่างยั่งยืนเพื่อ SMEs ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 7 โรงแรม โซฟิเทล สุขุมวิท ว่า “ประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้มีศักยภาพรองรับต่อการแข่งขันในตลาดของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งสถาบันการศึกษาที่มีความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการ นักสร้างสรรค์ในสาขาต่างๆ ที่ครอบคลุม ทั้งการออกแบบ งานศิลป์ การพัฒนาคอนเทนต์ ผู้ผลิตตั้งแต่ระดับครัวเรือน ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมทั้งด้านการตลาด และสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือระหว่างคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และเตรียมความพร้อมทางการแข่งขันทางการตลาดอย่างเต็มภาคภูมิ”

ทั้งนี้ จากการสำรวจและประเมินทั่วโลกโดย The Licensing International Global Licensing Survey ในปี 2018 พบว่ามูลค่าตลาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สูงถึง 280,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 8.5 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย เพิ่มขึ้นปีละ 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องทุกปี โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคโอเชียเนีย มีอัตราการเติบโตถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสัดส่วน 3.5 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวมโลก

โดยประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เป็นลำดับที่ 39 ของโลก มีมูลค่าตลาดประมาณ 595 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 17,850 ล้านบาท โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ นอกจากกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ตัวอย่างความสำเร็จของผลงานสร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ไทย ซึ่งสามารถสร้างเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ ได้แก่ น้องมะม่วง หรือ Mamuang Jung ของนักวาดการ์ตูน วิศุทธิ์ พรนิมิตร ผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของเล่น Platform Toy CE และแบรนด์สตรีตแวร์ Carnival ที่สามารถทำรายได้รวมจากการจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศเฉลี่ยรายละกว่า 30 ล้านบาทต่อปี

*** ดันแนวคิด ‘แมสคอต’ ชุมชน

ภายในงานสัมมนาดังกล่าวได้มีการเสวนาถึงความสำเร็จการสร้าง Local Character หรือคาแร็กเตอร์ท้องถิ่น เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น ให้คนเห็นและจดจำนำไปสู่การจัดทำของที่ระลึก การ์ตูน ละคร หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ ในไลน์ เป็นต้น ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศต้น แบบประสบความสำเร็จจนสามารถขายลิขสิทธิ์ไปทั่วโลก โดยภายในงานดังกล่าวได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สสว. และ 6 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สมาคมการค้าลิขสิทธิ์และของที่ระลึกจากคาแร็กเตอร์ดีไซน์ของเล่นและผลงานศิลป์ร่วมสมัยไทย (TCAP) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Line ประเทศ ไทย Japan Local Character Association (Yuruchara) Kigurumi.biz และVenation ที่จะร่วมกันวางแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการบรรยายการสร้างคาแร็กเตอร์ท้องถิ่น (Local Character) เพื่อสร้างตัวการ์ตูนหรือแมสคอตประจำท้องถิ่น นำเสนอเรื่องราวในท้องถิ่น ให้เกิดความจดจำ ทำเป็นของที่ระลึก โปรโมตชุมชนสร้างเศรษฐกิจฐานราก

*** ‘คุมะมง’ หนึ่งตัวอย่างความสำเร็จ

ในเวทีเสวนา Localize Character x Supply Chain Integrated Cooperation ความร่วมมืออย่างยั่งยืนเพื่อ SMEs ยังได้มีการพูดถึงคุมะมง ซึ่งเป็นแมสคอตหมี เพศผู้ ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดคูมาโมโตะ บนเกาะคิวชูทางภาคใต้ของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2553 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค จากนั้นไม่นานคุมะมง ก็ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศญี่ปุ่น อย่างรวดเร็ว ในปลายปีเดียวกันคุมะมงได้รับการโหวตจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศจนได้ รับรางวัลชนะเลิศการประกวดตุ๊กตาสัญลักษณ์ จากจำนวน 350 ตัวที่แต่ละท้องถิ่นส่งเข้าประกวด มีการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากถึง 23,000 ตัว และนอกจากจะเป็นแมสคอตเพื่อใช้ในการส่งเสริมทางท่องเที่ยวแล้ว ยังใช้เป็นสัญลักษณ์ในการปลอบประโลมและเยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจผู้ได้รับผล กระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ.2559 และหาทุนเพื่อบูรณะซ่อมแซมปราสาท คูมาโมโตะที่ได้รับผลเสียหายด้วย

“ในช่วงที่แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อปี 2559 คุมะมงหายหน้าไปจากสังคม จนทุกคนเป็นห่วงว่าคุมะมงเป็นอะไร เด็กหลายคนกลัวว่าคุมะมงจะเป็นอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว จนกระทั่งคุมะมงปรากฏตัวออกมาปลอบขวัญ กลายเป็นกำลังใจสำคัญของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว นี่คือพลังของแมสคอตที่ถูกสร้างขึ้นจนผู้คนในท้องถิ่นรู้สึกว่าคุมะมงมีชีวิตจิตใจและเป็นประชากรคนหนึ่งในท้องถิ่น” หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาสะท้อนแนวคิด

ความโด่งดังของคุมะมงยังถูกนำไปทำแสตมป์ที่ระลึก ซึ่งจำหน่ายได้มากกว่า 3 ล้านดวง และของที่ระลึกคุมะมงสร้างรายได้ให้กับจังหวัดคูมาโมโตะ กว่า 155,000 ล้านเยน หรือประมาณ 42,000 ล้านบาท ล่าสุด บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ในเครือสหพัฒน์ ก็ได้เซ็นสัญญากับบริษัท เอดีเค อีโมชั่น ประเทศญี่ปุ่น ผู้ดูแลลิขสิทธิ์คุมะมงทั่วโลก เพื่อทำตลาดไลเซ่นส์คุมะมงทุกรูปแบบในประเทศไทย 3 ปี (2019-2021) พร้อมศึกษาจัดตั้งออฟ-ฟิศเชียล ช็อป จำหน่ายสินค้าที่ระลึกคุมะมงในสาขาประเทศไทย ปัจจุบันจังหวัดคูมาโมโตะกำลังอยู่ระหว่างทำโปรเจกต์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นคุมะมงกับค่ายหนังฮอลลีวูด ซึ่งจะทำให้คุมะมงโด่งดังยิ่งขึ้น นี่คืออิทธิพลของแมสคอต ‘คุมะมง’

*** ‘DUCK JANG’ เป็ดมหัศจรรย์

หนึ่งในผู้เสวนาเจ้าของบาร์ ‘ดั๊กจัง’ ในญี่ปุ่นสะท้อนความมหัศจรรย์ของ Local Character หรือคาแร็กเตอร์ท้องถิ่นว่า เขาเป็นคนญี่ปุ่นที่อยากทำบาร์ญี่ปุ่นรูปแบบ ใหม่ที่ไม่เหมือนใครในญี่ปุ่น โดยเฉพาะการออกแบบ ตกแต่ง ขายสินค้าเกรดพรีเมี่ยมชั้นดี แต่ปรากฏว่าเปิดมาประมาณ 1 ปีไม่ประสบความสำเร็จจนเกือบจะปิดกิจการอยู่แล้ว บังเอิญเกิดไอเดียลองทำสติกเกอร์รูปเป็ดสีเหลืองนำมาติดหน้าร้าน เพื่อให้คนโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงออฟฟิศรู้สึกอบอุ่นและใกล้ชิดกับร้าน ปรากฏว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวทำให้ร้านกลายเป็นที่จดจำและถูกพูดถึงปากต่อปาก เปลี่ยนวิกฤตการณ์ที่เกือบจะปิดกิจการกลับมาทำกำไรได้อย่างมหัศจรรย์

*** แมสคอตคือจิตวิญญาณ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ Local Character แนะนำว่า การสร้างสัญลักษณ์ของชุมชนหรือธุรกิจต้องเข้าใจว่าแมสคอตคือสัญลักษณ์ที่มีจิตวิญญาณ ในญี่ปุ่นการที่ใครจะสวมแมสคอตจะต้องได้รับการอบรมเพื่อเป็นแมสคอตตัวนั้นจริงๆ ทั้งอุปนิสัยใจคอ บุคลิก ในขณะที่เมืองไทยยังให้ความสำคัญกับจุดนี้ค่อนข้างน้อย

*** เร่งขึ้นทะเบียน ‘จีไอ’ สินค้าเด่นชุมชน

ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้เร่งคัดเลือกสินค้าประจำท้องถิ่นขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือจีไอ เพื่อสร้างจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว ตั้งเป้าภายใน ปีนี้จะมีสินค้าจีไอครบ 77 จังหวัด ปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจีไอรวม 111 สินค้า จาก 71 จังหวัด ล่าสุด อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทศพล ทังสุบุตร ระบุว่ากรมฯได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอสินค้าอีก 4 รายการ คือ สับปะรดทอง จ.ระยอง เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน จ.นครราชสีมา ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย จ.เชียงราย และกาแฟเมืองกระบี่ จ.กระบี่ เหลืออีก 6 จังหวัดที่ยังไม่มีสินค้าจีไอ โดยกรมฯ ตั้งเป้าว่าภาย ในปีนี้จะเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนทั้งหมด เพื่อแสดงถึงจุดเด่นของสินค้าจีไอคือมีแหล่งผลิตแห่งเดียวในโลก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ