เปิดใจ “สมนึก รงค์ทอง” หัวเรือใหญ่ “วิทยุการบิน”

วันศุกร์ที่ 06 กันยายน พ.ศ. 2562

เปิดใจ “สมนึก รงค์ทอง” หัวเรือใหญ่ “วิทยุการบิน”


แม้ว่าเที่ยวบินในประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะที่แออัด ผู้ปิดทองหลังพระอย่าง “บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท.” แต่ก็สามารถจัดการจราจรทางอากาศได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ทีมข่าว “สยามธุรกิจ” จึงขอจับเข่าคุยหัวเรือใหญ่วิทยุการบินฯ “สมนึก รงค์ทอง” ถึงประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับแวดวงตลาดการบิน

ตลาดการบินลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี

นายสมนึก รงค์ทอง เป็นกรรมการผู้อำนวยการ ใหญ่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดการบินในปี 2562 นี้ มีการเติบโตลดลงอย่างน่าตกใจ ถือว่าต่ำสุดในรอบนับสิบปีที่ผ่านมา ทาง บวท.คาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดการบินจะขยายตัวเพียง 1% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 6% โดยมีเที่ยวบินลดลงราว 60,000 เที่ยวบิน อยู่ที่ 1.04 ล้านเที่ยวบินตลอดปี จากเดิม 1.1 ล้านเที่ยวบินในปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้ผลกระทบจากสงครามการค้า (สหรัฐฯ-จีน)​ รวมถึงสภาวะสงครามในปากีสถานและการแยกตัวออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)​ สอดคล้องกับยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 0.7% ลดลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวนักท่องเที่ยวในปีก่อนที่ 6-7% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจ มีผลต่อการขยายตัวของเที่ยวบินโดยตรง ส่งผลให้การเติบโตในปี 2563 ตลาดการบินมีโอกาสเงียบเหงาต่อเนื่องหากการเติบโตเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวแค่ 2-3 %

สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต ยังเติบโต

สำหรับตัวเลขปริมาณการบินในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-ส.ค. 2562) ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมา มีปริมาณรวม 964,322 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,876 เที่ยวบิน/วัน สำหรับสนามบินที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือสุวรรณภูมิอยู่ที่ 348,615 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 36% รองลงมาเป็นสนามบินดอนเมือง 265,616 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 27.5% และสนามบินภูเก็ต 108,095 เที่ยวบิน คิดเป็นสัดส่วน 11.2% อย่างไรก็ตาม เส้นทางบินทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางบินที่มีปริมาณจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีปริมาณเที่ยวบินรวมอยู่ที่  239,771 เที่ยวบินต่อปี เฉลี่ยวันละ 632 เที่ยวบินต่อวัน เฉลี่ยภาพรวมเติบโตอยู่ที่ 7.4%

คาดรายได้แตะหมื่นล้าน โกยกำไร 1,000 ล้าน

ส่วนรายได้ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้จะมีการลงทุน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 1,000 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2566-2567 และการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินเบตง มูลค่า 200 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2563

“เซ็นทรัล วิลเลจ” ไม่กระทบการบิน

สำหรับโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีข้อกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะกระทบต่อการบินหรือไม่นั้น หากมีการจัดกิจกรรมทั้งเรื่องแสงไฟและคลื่นความถี่ จะกระทบกับการบินแน่นอน ทว่าในแต่ละปีมีระยะเวลากระทบเพียง 1 เดือน หรืออาจไม่กระทบเลย เนื่องจากโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ อยู่ทางฝั่งด้านใต้ของสนามบิน (South Runway) ซึ่งส่วนใหญ่การนำเครื่องบินเทคออฟจะอยู่ที่ฝั่งด้านเหนือ (North Runway) ถึง 11 เดือนโดยจะมีเพียงปีละ 1 เดือนที่ต้องเปลี่ยนมาเทคออฟฝั่งรันเวย์ใต้ ตามทิศทางของกระแสลมช่วงสั้นๆ ในแต่ละปี หรือบางปีอาจไม่มีลมเปลี่ยนทิศเลยก็เป็นได้ ประกอบกับจากการบินทดสอบของ บวท. เมื่อช่วง เม.ย. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นการก่อสร้างของโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ก็ไม่พบปัญหาใดๆ ในการนำเครื่องบินขึ้นและลง ส่วนการขยายรันเวย์ที่ 3 และรันเวย์ที่ 4 ของสนามบินสุวรรณภูมิก็จะไม่กระทบกับเซ็นทรัล วิลเลจเช่นกัน เพราะรันเวย์ใหม่จะอยู่อีกฝั่งของสนามบิน มีเรื่องเดียวที่น่าเป็นห่วงคือการใช้แสงไฟในงานอีเวนท์ อาทิ แสงสปอร์ตไลท์ แสงยิงขึ้นฟ้าแบบซิตี้ไลท์ รวมถึงแสงเลเซอร์ ต้องควบคุมไม่ให้กระทบกับนักบิน

การบินอาเซียนมาแรง “เอเชีย-ยุโรป” บินตรงมากขึ้น

สำหรับตลาดการบินอาเซียนในภาพนวมนั้น จะยังเติบโตได้ดีโดยเฉพาะตลาดการบินในประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตมาก อย่างเวียดนามและเมียนมา ซึ่งมีประชากรรวมกันมากกว่า 140 ล้านคน จะเป็นตัวชูโรง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพราะดีมานต์ในประเทศกลุ่มนี้ขยายตัวตามขนาดเศรษฐกิจกล่าวคือคนมีเงินใช้ก็ไปท่องเที่ยว ดังนั้นจะเห็นเที่ยวบินตรง เอเชีย-ยุโรป ในสองประเทศนี้เพิ่มขึ้น ถือเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนด้านการบิน ขณะที่อินโดนีเซียมีประชากรมากกว่า 260 ล้านคนก็ยังมีแนวโน้มเติบโตดี ส่วนไทยจะเติบโตลดลงจากสนามบินที่เริ่มแออัด ไทยต้องรอการขยายสนามบินและสร้างสนามบินใหม่ เพื่อขยายซัพพลายรองรับดีมานต์การบินในภูมิภาค

ดังนั้น บวท.จึงเริ่มบริหารน่านฟ้าแบบใหม่เป็นการควบรวมน่านฟ้าอากาศยานกับน่านฟ้าทางความมั่นคง รองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นและส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มแล้วในภาคใต้เพิ่มเที่ยวบินได้ 30% จาก 600-700 เที่ยวบิน/วัน เป็น 800-900 เที่ยวบิน/วัน จากนี้จะเริ่มเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดการบินในภูมิภาคและเชื่อมโยงข้อมูลการบินแบบไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN Sky) ในปีนี้จะเริ่มเจรจากับสปป.ลาว เพื่อเชื่อมน่านฟ้าและเพิ่มปริมาณเที่ยวบินในภาคอีสานของประเทศ จากนั้นจะเจรจากับประเทศเมียนมา เพื่อเพิ่มเที่ยวบินน่านฟ้าฝั่งตะวันตกของไทย ก่อนจะเริ่มแผนเพิ่มปริมาณการบินในภาคเหนือของไทยต่อไป

สายการบินโลว์คอสต์ในไทยถึงทางตัน

สำหรับทิศทางของตลาดสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศไทย (Low Cost Airline) ในช่วง 5 ปีนับจากนี้จะมีการเติบโตที่ลดลง เนื่องจากตลาดถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับสนามบินหลักในไทยไม่มีศักยภาพรองรับเพียงพอ จะเห็นได้ว่าสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ปริมาณจราจรทางอากาศและสล็อตการบินเต็มหมดแล้ว ส่งผลให้สายการบินเหล่านี้เปิดเส้นทางระหว่างต่างจังหวัดมากขึ้นเพราะไม่สามารถเริ่มไฟลท์ที่กรุงเทพได้ เมื่อมองไปที่สนามบินภูมิภาคยังด้อยเรื่องหลุมจอดที่มีจำนวนน้อยไม่เพียงพอกับดีมานต์ เฉลี่ยในต่างจังหวัดมีแค่ 3-4 หลุมจอดทำให้รองรับได้แค่ 3-4 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงจะเริ่มเห็นสายการบินต้นทุนต่ำเลิกกิจการและตายลงเรื่อยๆ มาจากปัจจัยการแข่งขันดัมซ์ราคาแย่งลูกค้า สายการบินเล็กที่มีต้นทุนน้อยก็จะสู้สายการบินใหญ่ไม่ไหวเพราะขาดทุนและมีกำไรลดลงจากการแข่งขันราคา ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยสมายล์ ก็จะเจอความท้าทายในลักษณะเดียวกัน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการเปิดน่านฟ้าเสรี ที่เปิดให้สายการบินต่างชาติมาตั้งสำนักงานในไทยได้ แต่สายการบินไทยจะไปตั้งสำนักงานที่ต่างประเทศคงยาก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ