เดินหน้าอบรม “เกษตรกรไร่อ้อย” รุ่นแรกกว่า 5,000 ราย ตามมาตรการจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562

เดินหน้าอบรม “เกษตรกรไร่อ้อย” รุ่นแรกกว่า 5,000 ราย ตามมาตรการจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช


เกษตรกรไร่อ้อย จำนวน 5,000 ราย สมัครใจร่วมอบรมการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ตามมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมร้องขอใช้สารเคมีดังกล่าวต่อไป อย่าแบน เนื่องจากยังไม่มีสารทดแทนที่เหมาะสม

นายกิตติ ชุณวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการอบรมความรู้การใช้สารกำจัดวัชพืช ให้กับเกษตรกรของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ตามหลักสูตรของกรมวิชาการเกษตรและมาตรการจำกัดการใช้ เมื่อผ่านการทดสอบแล้ว เกษตรกรจึงมีสิทธิ์ไปซื้อและใช้สารฯ ดังกล่าวที่ร้านค้าได้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 20 ตุลาคม 2562 นี้

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากโรงงานน้ำตาล และเกษตรกรไร่อ้อยเป็นจำนวนมากจากทั่วประเทศ เพราะทั้งโรงงาน และเกษตรกรยังมีความจำเป็นในการใช้สารกำจัดวัชพืช หนึ่งในพื้นที่สำคัญในการเร่งสร้างความรู้และการปฏิบัติอย่างถูกต้อง คือ จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีเกษตรกรไร่อ้อยและกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลเข้าร่วมมากถึง 5,000 ราย โดยศูนย์ส่งเสริมอ้อยและน้ำตาลเขต 4 ภาคอิสาน ได้จัดวิทยากรลงให้ความรู้แก่เกษตรกร

“กลุ่มเกษตรกรยังเห็นถึงความจำเป็นของสารพาราควอตในไร่อ้อย นายเตชิต วีระชาติยานุกูล รองนายกสมาคมชาวไร่อ้อยอีสานเหนือ เอราวัณ และเกษตรกรไร่อ้อย กล่าวว่า การใช้สารเคมีดังกล่าว ยังมีความจำเป็นอยู่มาก เนื่องจากเครื่องจักรที่ใช้ไม่สามารถกำจัดวัชพืชได้หมด และแรงงานคนในพื้นที่หายาก ไม่มีใครอยากทำงานแรงงาน ทั้งนี้ เกษตรกรจะใช้พาราควอตปีละ 1-2 ครั้ง ครั้งแรก ใช้ในช่วงต้นที่อ้อยกำลังเติบโต พอใบอ้อยชนกันคลุมดินแล้ว หญ้าก็จะไม่เติบโต ไม่จำเป็นต้องฉีดพ่น ส่วนอีกครั้ง ใช้หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ฉีดเพื่อให้หญ้าตายแล้วไถ่กลบเพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป”

ด้าน นายบุญถิ่น จิตผล เกษตรกรไร่อ้อย จังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวเสริมว่า พาราควอต จำเป็นต่อการทำไร่อ้อย ยังไม่มีสารอื่นทดแทนได้ หากไม่มี ชีวิตเกษตรกรก็เหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น วิธีการเพาะปลูกก็ต้องเปลี่ยนแปลง สำหรับโครงการนี้ ช่วยให้ได้รับความรู้และสามารถปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช และสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่เพื่อนเกษตรกรได้ต่อไป

โรงงานน้ำตาลในพื้นที่กล่าวสนับสนุนว่า  การจัดอบรมและสอบวัดความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นโครงการที่ดี ช่วยสร้างความตระหนัก ความรู้ และการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอย่างปลอดภัย แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการอบรมหลายประการ ทำให้การขึ้นทะเบียนอาจมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ ดังนั้น ควรขยายระยะเวลาหรือความร่วมมือไปยังหน่วยงานระดับท้องถิ่นมาสนับสนุนเพิ่ม เช่น องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ฯ (อกท.) จะทำให้สามารถอบรมและสอบได้ครอบคลุมมากขึ้น

ท้ายที่สุด กลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรแบน สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เห็นด้วยกับมาตรการที่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ออกทำการฝึกอบรมและสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้สามารถใช้สารฯ ได้อย่างถูกต้อง เพราะจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน รวมทั้ง ขอให้ภาครัฐคำนึงถึงระบบเกษตรของไทย ทั้งแบบใช้สารเคมี (มาตรฐาน GAP) และแบบไร้สารเคมี ที่จำเป็นต้องสร้างความสมดุลทั้งสองระบบ ไม่สามารถพึ่งพาระบบใดระบบหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้ไทยก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็น ครัวของโลก ได้อย่างแท้จริง



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ