3 แบงก์รัฐควักหมื่นล้าน ซับน้ำตา โพดุล!

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2562

3 แบงก์รัฐควักหมื่นล้าน ซับน้ำตา โพดุล!


3 แบงก์รัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจาก 'พายุโพดุล”   ออมสิน อัดมาตรการพักชำระหนี้ แถมให้กู้ฉุกเฉิน 50,000 บาท ปีแรกดอกเบี้ย 0% 3 เดือนแรกไม่ต้องจ่าย ขณะที่ ธ.ก.ส. พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรทั้งกรณีฉุกเฉินและการช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัย ธอส.จัด 7 มาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง ปลอดหนี้บางส่วนและจ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน 15,000 บาท/ราย

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า เหตุอุทกภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อลูกค้าและประชาชนทั่วไป ธนาคารออมสินจึงมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน โดยผู้บริหารและพนักงานออกเยี่ยมเยียนประชาชนและลูกค้าพื้นที่ต่างๆ พร้อมกับสำรวจความเสียหายของลูกค้า ซึ่งเบื้องต้นแค่ 2 จังหวัดมีประมาณถึง 5,000 ครัวเรือนแล้ว พร้อมทั้งนำถุงยังชีพ/น้ำดื่มแจกจ่ายแล้วกว่า 5,000 ชุด/ขวด รวมถึงเข้าไปช่วยเหลือผ่านศูนย์ประสานงานช่วยเหลือตามจุดต่างๆ อีกด้วย ล่าสุดธนาคารฯ ช่วยเหลือด้านเงินกู้เป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้นำเสนอมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ใก้กับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท คือ ระดับ 1 มีน้ำท่วมขังไม่เกิน 7 วัน ให้พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ปี ขยายเวลาชำระหนี้เท่ากับระยะเวลาพักชำระหนี้ ระดับ 2 มีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน และมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง/ซ่อมแซม ให้พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ย 50% ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ระดับ 3 ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย และลูกค้า(บุคคลธรรมดา)ได้รับผลกระทบที่พักอาศัย/สถานประกอบการเสียหายส่งผลให้รายได้ลดลง และ/หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ธนาคารฯ ให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน หลังจากนั้นให้พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 3 ปี และขยายเวลาชำระหนี้เท่ากับระยะเวลาพักชำระหนี้ หรือ พักชำระเงินต้นโดยชำระแต่ดอกเบี้ย 50% ในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ส่วนลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้ใช้มาตรการข้างต้นได้เช่นกัน สำหรับระยะเวลาการชำระหนี้ เช่น ลูกค้าสินเชื่อที่คำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) ให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาเงินกู้หรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ไม่เกิน 20 ปี ส่วนกรณีคำนวณดอกเบี้ยแบบคงที่ (Flat Rate) ให้คำนวณเงินงวดตามคำสั่งธนาคารฯ โดยให้ขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 เท่า ของระยะเวลาคงเหลือตามสัญญาเงินกู้หรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ไม่เกิน 10 ปี เป็นต้น

ขณะที่ลูกค้าสินเชื่อเคหะ ธนาคารฯให้กู้ซ่อมแซมต่อเติมส่วนที่เสียหายได้ 100% ของราคาประเมินเฉพาะที่จะซ่อมแซมต่อเติม แต่ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 = 0% ปีที่ 2-3 = 3% ต่อปี และ ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR-0.75% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารฯ ปัจจุบัน = 6.87% ต่อปี)
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยสามารถติดต่อยื่นกู้เงินฉุกเฉิน “สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมขัง/ภัยพิบัติ โดยให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ชำระเงินคืนเป็นรายเดือน ผ่อนชำระได้ 3-5 ปี แต่ 3 เดือนแรกไม่ต้องชำระ และธนาคารฯ ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.85 ต่อเดือน (Flat Rate) ใช้บุคคลค้ำประกันได้ไม่เกิน 2 คน มีอาชีพและรายได้แน่นอนตั้งแต่ 9,000 บาทขึ้นไปไม่น้อยกว่า 1 คน หรือใช้บัญชีเงินฝาก/สลากออมสินพิเศษ/อสังหาริมทรัพย์ หรือใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ค้ำประกัน ซึ่งธนาคารออมสินจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2% ต่อปีของภาระค้ำประกันให้แก่ผู้กู้ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไปจนครบสัญญา

*** ธ.ก.ส.ช่วยเหลือเกษตรกรเต็มที่
นายอภิรมย์  สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติจากพายุโซนร้อนโพดุล   ส่งผลให้เกิดฝนตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ซึ่งปริมาณฝนตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มและลมกระโชกแรง ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับการเกษตร ตลอดจนทรัพย์สินที่อยู่อาศัยของลูกค้าและประชาชนทั่วไปนั้น ธ.ก.ส. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ประสบภัย จึงได้กำหนดแนวทางพร้อมกำชับให้ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนี้

กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า โดยนำเงินจากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติของ ธ.ก.ส. ไปจัดหาถุงยังชีพเพื่อนำไปมอบให้เกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน โดยเบื้องต้นได้ส่งถุงยังชีพช่วยเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร นครพนม ไปแล้วกว่า 20,000 ถุง และเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่างๆ เช่น  จัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าเรือ  ค่าเช่ารถบรรทุก ค่าแรงงาน เป็นต้น และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงจะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณาให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูหลังประสบภัย เช่น การมอบเงินเพื่อสมทบทุนสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมทรัพย์สินของใช้จำเป็น การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่องในการให้ความช่วยเหลือกรณีฟื้นฟูหลังประสบภัย

สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. กรณีที่เกษตรกรได้รับความเสียหายด้านการผลิตและส่งผลกระทบต่อรายได้ ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน บรรเทาความเดือดร้อน ความจำเป็นในครัวเรือนและป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะ 6 เดือนแรก และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติตามความจำเป็นแต่ไม่เกินรายละ  500,000 บาท  คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -2 หรือเท่ากับร้อยละ  4.875 ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 15 ปี

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรหรือฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ดังนั้น หากเกษตรกรผู้ประสบความเดือดร้อนสามารถติดต่อ ธ.ก.ส.ในพื้นที่เพื่อขอรับการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ได้ทันที

“เกษตรกรที่มีภาระหนี้สินกับ ธ.ก.ส.  ขออย่ากังวลใจ ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลตามมาตรการการช่วยเหลือที่กำหนดไว้   รวมถึงพร้อมที่จะดำเนินการอื่น ๆ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อไป” นายอภิรมย์กล่าว

*** ธอส.ออก 7 มาตรการเร่งด่วน
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายจังหวัดโดยเฉพาะ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ “โพดุล” ซึ่งมีผลทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และยังอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก จนส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบในด้านรายได้และการประกอบอาชีพ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จึงได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลงด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” ภายใต้กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 4.125% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.625% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.625% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.625% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกัน ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้   

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือนแรกไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้       

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้ 

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fastrack) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ 15,000 บาท และหากประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัยแล้วพบว่าสูงกว่า 15,000 บาท หรือมีน้ำท่วมตัวที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 100 เซนติเมตรขึ้นไป ลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท 

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ  www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะ
          

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ