กุญแจ 3 ข้อ ดันไทย ‘ฮับ’ อากาศยาน

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กุญแจ 3 ข้อ ดันไทย ‘ฮับ’ อากาศยาน


โมเดลการผลักดันเศรษฐกิจไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันอย่างเข้มข้น ผ่านการเดินหน้าพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าให้พร้อมแข่งขันในตลาดสากล จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve)

นายเปรม เพทซ ผู้จัดการฝ่ายขายแผนก PCMM บริษัท เฮกซากอนเมโทรโลจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะโตเร็วที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยด้านการผลิตและซ่อมบำรุงคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ขณะที่ด้านการขนส่งทางอากาศคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน จึงเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากเครื่องบินถือเป็นระบบขนส่งที่มีความปลอดภัยสูงสุด ต้องการความแม่นยำในการผลิตที่สูงในทุกกระบวนการ ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานระดับโลก การลงทุนในด้านเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินที่ได้มาตรฐานถือเป็นข้อคำนึงที่สำคัญที่สุดของผู้ประกอบการที่พร้อมจะก้าวเข้ามาคว้าโอกาสจากอุตสาหกรรมมาแรงนี้ การผลิตเครื่องบิน เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการผลิตเครื่องบินทุกลำ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอย่างละเอียด

“เฮกซากอนในฐานะผู้นำเทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพมาตรฐานการผลิต เตรียมส่งนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดคุณภาพของชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อขานรับยุทธศาสตร์การผลักดันอุตสาหกรรมอากาศยานเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยล่าสุดเฮกซากอนได้ส่งเครื่องตรวจวัดท่อ (Tube Inspect P8) ซึ่งท่อถือเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่อยู่ในเครื่องบินหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์ไอพ่น ท่อไอเสียเครื่องบิน ระบบท่อแอร์ ท่อน้ำภายในเครื่องบิน เป็นต้น” นายเปรม กล่าว

ด้าน นายลทธพล จารุวัฒนวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรวิทยา สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า การที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดทั่วโลกได้ จำเป็นต้องอ้างอิงมาตรฐานสากลเป็นหลัก ในทุกการลงทุนซื้อ หรืออัปเกรดเครื่องมือเครื่องจักร โดยในปัจจุบันกว่าร้อยละ 50 ของโรงงานผลิตไทย ยังใช้มาตรฐานการผลิตในโลกยุคเก่า หรือมาตรฐานที่ต่ำกว่า ISO 2010 ซึ่งถือเป็นระดับมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสามารถแข่งขันของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ที่ยังคงย่ำอยู่ในตลาดเดิมๆ อีกทั้งเผชิญกับคู่แข่งในระดับมาตรฐานเดียวกันจำนวนมาก สำหรับผู้ประกอบการที่เล็งเห็นโอกาสในการก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาดที่มีมูลค่าสูงกว่า มีข้อแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้

1.อัปเกรดและรักษามาตรฐานการผลิต ปัจจุบันมาตรฐานการผลิตแห่งชาติและสากลมีอยู่หลายระบบ อาทิ ISO/IEC DAkks NATA เป็นต้น ในทุกโรงงานการผลิตจะต้องมีการอ้างอิงระบบมาตรฐานอย่างน้อยหนึ่งระบบ โดยการสอบเทียบเพื่อให้ได้ใบรับรองคุณภาพการผลิต และสามารถนำสินค้าเข้าแข่งขันในตลาดได้

2. การผลิตแบบยืดหยุ่น รูปแบบการผลิตของโรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงติดกับดักการรับจ้างผลิตเพื่อตอบสนองออร์เดอร์จำนวนมาก ในราคาถูก ในขณะที่ความต้องการของตลาดปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป สินค้าบางชนิดมีปริมาณการสั่งผลิตที่น้อยลง แต่มีมูลค่าสูงมาก เช่น ชิ้นส่วนโดรนที่มีคุณสมบัติพิเศษ ผู้ผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเข้าสู่การผลิตแบบยืดหยุ่น หรือการผลิตเพื่อรองรับออร์เดอร์จำนวนน้อย แต่มูลค่าสูง

3.สร้างแบรนด์ดิ้งสู้ตลาดโลก ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งสร้างการรับรู้ และชื่อเสียงของแบรนด์ด้วยการพบปะกลุ่มลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่น่าสนใจในการยกระดับเทคโนโลยี นวัตกรรม การนำเสนอสินค้า บริการที่น่าสนใจ เพื่อให้ภาคการผลิตไทยก้าวทันคู่แข่งต่างชาติ ทั้งในแง่คุณภาพ และการเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ