เกษตรกร 5 ล้านครัวเรือน คัดค้านการแบน 3 สาร พร้อมเดินทัพกว่าพันราย ฟังการตัดสิน 22 ตุลานี้

วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เกษตรกร 5 ล้านครัวเรือน คัดค้านการแบน 3 สาร พร้อมเดินทัพกว่าพันราย ฟังการตัดสิน 22 ตุลานี้


สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมข้าวโพดหวาน สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือ คัดค้านแบน 3 สาร พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส วอนรัฐหยุดปล้นเกษตรกร พร้อมเกษตรกรกว่า 1,000 ราย เดินทางไปรับฟังผลการตัดสินวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศกสิกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องพึ่งพาน้ำฝนเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางปีก็แล้ง บางปีก็ท่วม รวมทั้ง พืชปลูกส่วนใหญ่ก็ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมหรือเรียกว่าเกษตรอุตสาหกรรม สารเคมีเกษตรเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการทำเกษตรอุตสาหกรรม เพราะไม่เพียงผลิตเพื่อใช้อุปโภคหรือบริโภคในประเทศเท่านั้น แต่ยังแข่งขันกับตลาดโลก ไม่ได้ปลูกไว้กินเองเหลือค่อยมาขายเหมือนในอดีต เกษตรอุตสาหกรรมนี้เองคือ ตัวสำคัญที่สร้าง GDP ให้ประเทศได้มากที่สุด สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กลับมากระจายในประเทศต่อไป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกษตรกรทราบดีว่าควรใช้ยาตัวไหน ช่วงไหน ปริมาณเท่าไร เพื่อต่อสู้กับวัชพืชและศัตรูพืช หลายสิบปีที่ผ่านมา สามารถส่งออกพืชเศรษฐกิจกันได้ไม่มีปัญหา ด้วยระบบเกษตรปลอดภัยสามารถใช้สารเคมีเกษตรตามมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก การทำเกษตรอินทรีย์ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เหมาะกับเกษตรอุตสาหกรรม เนื่องจากต้นทุนที่สูงกว่า ผลผลิตต่ำกว่า รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ในฝันแบบ 100% แทบไม่มีเลยในประเทศไทย สารชีวภัณฑ์ที่รัฐเคยส่งเสริมการใช้ ในความเป็นจริงกรมวิชาการเกษตรเองก็เคยนำไปตรวจสอบกลับพบว่า เป็นสารเคมีเกษตรผสมแล้วนำมาขายบอกว่าเป็นอินทรีย์

อย่างไรก็ตาม การจัดการแก้ไขปัญหาสารเคมีด้วยการยกเลิกสารชนิดหนึ่ง แล้วภาครัฐแนะนำให้ใช้สารเคมีอีกชนิดหนึ่งแทน โดยเฉพาะกลูโฟซิเนต เป็นสิ่งที่เกษตรกรยอมรับไม่ได้ เนื่องจากสารดังกล่าวมีราคาที่สูงกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า และมีข้อมูลที่บอกว่าจะสะสมเป็นผลระยะยาวกับสุขภาพ หนึ่งเหตุผลที่ต้องการแบนสารเคมี เนื่องจากไม่ต้องการให้เกษตรกรใช้สารเคมี แต่กลับแนะนำสารเคมีให้ใช้อีก แสดงว่า หน่วยงานรัฐไปรับอะไรมาหรือไม่ ถึงมีความพยายามแบน และผลักดัน กลูโฟซิเนต ให้เกษตรกรใช้มากขนาดนี้

นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะที่ให้เกษตรกรใช้แรงงาน หากคิดแค่เพียง 60 ล้านไร่ เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้พาราควอต ได้แก่ ผู้ปลูกอ้อย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน มะพร้าว ยังไม่รวมผลไม้ชนิดอื่น อาทิ แก้วมังกร มังคุด ฝรั่ง และอื่น ๆ จะเสียค่าใช้จ่ายแรงงานสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี และยังไม่รู้ว่าจะหาแรงงานจากไหน ต่างจากการใช้ พาราควอตมีต้นทุนเพียง 0.13 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ภาครัฐต้องเตรียมเงินมาชดเชยในส่วนค่าแรงงานให้เกษตรกรต่อปีไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

ส่วนการใช้เครื่องจักร แทบเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันหนี้สินเฉลี่ยต่อครอบครัวเกษตรกรอยู่ที่ 135,220 บาทต่อปี แค่เงินมาชำระดอกเบี้ยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ยังแทบจะไม่มีจ่าย จะผลักภาระให้เกษตรกรไปซื้อเครื่องจักร สร้างหนี้สินเพิ่มอีก จึงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายแล้ว ทางออกของสิ่งทดแทนดูจะเป็นแนวทางการเพิ่มปัญหาและภาระใหม่ให้แก่เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น โดยที่ความจริงแล้ว การจัดการที่เหมาะสมและค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดคือ การฝึกอบรมให้ความรู้และควบคุมการใช้สารเคมีตามมาตรการจำกัดการใช้ที่เคยได้ตัดสินไปอย่างรอบคอบแล้ว

หลักฐานต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ ได้ตรวจสอบและพิจารณาหมดแล้วว่า พาราควอต ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามที่กลุ่ม NGO กล่าวอ้าง รวมทั้ง ได้มีการไปตรวจสอบเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนมาโดยตลอดจนปัจจุบัน กลับพบข้อสงสัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลวิจัยที่พบพาราควอตจากแม่สู่ลูก นักวิจัยอ้างการศึกษาในโรงพยาบาล แต่เมื่อสอบถามไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว กลับไม่มีการดำเนินงานจริง แล้วผลวิจัยมาจากไหน? และยังมีผลการตรวจสอบการตกค้างสารเคมีที่เผยแพร่ เมื่อตรวจสอบกลับก็ไม่พบการยื่นส่งตัวอย่างไปตรวจสอบในแล็บจริง ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการวิเคราะห์ได้ ทั้งนี้ เอกสารสำคัญเหล่านี้ จะนำไปยื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป

นอกจากนี้ ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เกษตรกรพืชเศรษฐกิจได้แจ้งความประสงค์จะเข้ามาร่วมรับฟังคำตัดสินใจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เบื้องต้นมีเกษตรกรสนใจจะมาร่วมรับฟังกว่า 1,000 ราย สำหรับเกษตรกรกลุ่มพืชใด ต้องการเข้ามาร่วมรับฟังด้วยกัน สู้ไปด้วยกัน พบกันเวลา 09.00 น. ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ

การแบนสาร 3 ตัวนี้ เป็นการเปลี่ยนขั้วของภาคธุรกิจเกษตร สารเคมีเดิมยังอยู่ ก็อยู่ในธุรกิจกลุ่มเก่า แต่ถ้าแบนได้ ก็ไปสู่ธุรกิจกลุ่มใหม่ สุดท้ายเกษตรกรรับกรรม เกษตรกรไม่ได้โง่ แต่ไร้วาสนา ใครที่รู้ตัวว่า โดนหลอกใช้เป็นเครื่องมือหรือ ไปรับอะไรมาขอให้กลับตัวเสีย ยังไม่สาย แต่ที่แน่นอน เกษตรกร 5 ล้านครอบครัว ขอประกาศไว้ ณ วันนี้ พรรคใดที่เป็นต้นเหตุการณ์แบน เลือกตั้งสมัยหน้า จะไม่ให้มีโอกาสมามีอำนาจเป็น ส.ส. อีก เกษตรกรจะแบนอย่างถึงที่สุด นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ