สวทช. ร่วมกับ SCB จัดค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ปี 6เสริมความรู้สะเต็ม ปูทางสู่นักวิทยาศาสตร์อนาคต

วันพฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562

สวทช. ร่วมกับ SCB จัดค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ปี 6เสริมความรู้สะเต็ม ปูทางสู่นักวิทยาศาสตร์อนาคต


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) จัดกิจกรรม “ค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์” ปีที่ 6 เพื่อให้เป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมนักเรียนที่มีศักยภาพสูง ให้ได้รับโอกาสบ่มเพาะเรียนรู้ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา พร้อมฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ปูเส้นทางสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต โดยมีน้อง ๆ นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจาก สสวท. จำนวน 35 คนจาก 13 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 15 -18 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการจัดกิจกรรมถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ปีที่ 6 เพื่อบ่มเพาะให้เยาวชนตั้งแต่ชั้นระดับวัยเยาว์ ได้มีโอกาสเรียนรู้ เปิดโลกทางวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) เพื่อฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการคัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับเหรียญรางวัลในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี 2561 ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีเยาวชนได้รับคัดเลือกจำนวน 35 คน เป็นเด็กชาย 27 คน และเด็กหญิง 8 คน จากโรงเรียนทั้งสิ้น 13 แห่งทั่วประเทศ

“ค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ปีนี้นี้ มีกิจกรรมให้น้อง ๆ ได้ทดลองลงมือทำเพื่อเสริมความรู้และทักษะในด้านสะเต็มอย่างหลากหลาย ทั้งกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เช่น การเรียนรู้ปัญหาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา การรับฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Jobs in 2030” โดยผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และหัวข้อ “A Day in the Life of a Surgeon” โดยกุมารศัลยแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการทัศนศึกษานอกสถานที่ ตลอดจนกิจกรรมการทำจรวด นำโดยรุ่นพี่ JSTP รุ่น 6 และอาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เป็นต้น” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

หนึ่งในวิทยากร คุณยิ่งยศ ฐาปนกุลศักดิ์ Mind Director บริษัท มาร์เก็ต เซิร์ฟ จำกัด เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่นำมาให้น้อง ๆ ได้ทดลองลงมือทำว่า “ในการออกแบบกิจกรรมจะมองที่ตัวเด็กเป็นหลัก เพราะในปัจจุบัน เด็กจะอยู่กับดิจิทัลหรือสมาร์ทโฟนเสียมาก อาจทำให้ทักษะการคิดแบบเป็นระบบหรือการคิดแบบรับผิดชอบ รวมถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม การเป็นผู้นำ หรือการคิดเชิงระบบ เป็นต้น ขาดหายไป ฉะนั้น ในการออกแบบ Workshop อย่างกิจกรรม ‘พละ 5’ ในวันแรกของค่าย ได้สร้างกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ใช้พละกำลังของตนเองเพื่อให้รู้ว่าตนเองมีกำลังมากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างพลังใจและพลังความคิด แล้วจึงประยุกต์เข้าสู่เนื้อหาเรื่องของพลังงาน ซึ่งในส่วนเนื้อหาเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยคาดหวังให้เด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้และประยุกต์ได้กับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน”  

อีกหนึ่งวิทยากร อ.สังคม สัพโส อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก กับกิจกรรมจรวด เล่าให้ฟังว่า “กิจกรรมการทำ ‘จรวด’ เป็นกิจกรรมด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหา ด้วยการแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาทำงานวิจัยในเรื่องการของยิงจรวด ให้ทดลองออกแบบจรวด ติดตั้งปีก และจุดระเบิดโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวจุดระเบิด โดยเริ่มต้นจากให้เขาเห็นว่าจรวดที่ไม่ได้ติดตั้งปีก และทำการจุดระเบิดเป็นขวดเปล่า ๆ เป็นอย่างไร จากนั้นจึงอธิบายให้น้อง ๆ ฟังถึงทฤษฎีว่ามีหลักการทำงานอย่างไร มีจุดลอยตัว จุด CP (ศูนย์กลางแรงดัน) จุด CG (จุดศูนย์ถ่วง) ให้รู้ว่าแต่ละจุดนั้นมีคุณสมบัติเช่นไร จากนั้นจึงมาสอนในเรื่องการออกแบบปีก ซึ่งแบบของปีกต่าง ๆ จะมีผลต่อการบินของจรวด ต่อด้วยขั้นตอนการสร้างและติดตั้งปีกให้แล้วเสร็จ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นของการทดลองยิงจรวดจริง ซึ่งกิจกรรมนี้ประโยชน์ที่น้อง ๆ จะได้รับคือ ได้ฝึกความคิดในการออกแบบดีไซน์และจินตนาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการออกแบบก่อน ก่อนที่จะทำการทดลอง เช่น การออกแบบครีบ ครีบเฉียง ครีบปีกใหญ่ ครีบวงโค้ง ลักษณะการหมุนจะเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และคิดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ได้ นับเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ฝึกให้นักเรียนรุ่นเยาว์มีความคิดแบบเป็นนักวิจัย เพราะสอนให้คิด วิเคราะห์ เสนอแนะ และนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง ครบทุกกระบวนการของวิทยาศาสตร์”

ด้านน้อง ๆ ที่เข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ด.ญ.อิสรีย์ สังขพันธ์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จ.หาดใหญ่ บอกว่า “ดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกมาค่ายนี้ เพราะได้ทั้งเพื่อนใหม่และประสบการณ์ ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในห้องเรียน โดยจะนำสิ่งที่ได้ไปต่อยอดในด้านการเรียน และการสอบเข้าเรียนต่อ รวมถึงเป็นการเปิดโลกกว้างที่ทำให้เรียนรู้เรื่องของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้ด้วย” ขณะที่ ด.ช.ณัชพล นิมิตนนท์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี บอกว่า “รู้สึกสนุกและได้รับความรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรมใหม่ของโลกที่ยังไม่เคยรู้ รวมถึงเรื่องเทรนด์อาชีพในอนาคตปี 2030 ที่จะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ ที่โรงเรียนมีการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในโครงงานให้ดีขึ้นได้ และคาดหวังว่าจะช่วยเหลือประเทศชาติให้ดีขึ้นได้ด้วย”



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ