ผุด 20 หลักฐานคดี ”โฮปเวลล์” มั่นใจรัฐไม่เสียค่าโง่สักแดงเดียว

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ผุด 20 หลักฐานคดี ”โฮปเวลล์” มั่นใจรัฐไม่เสียค่าโง่สักแดงเดียว


“คมนาคม” ผุด 20 หลักฐานใหม่ปมคดีค่าโง่โฮปเวลล์ เตรียมส่งฟ้องศาลปกครองกลางในคดีอาญา ฐานทำรัฐบาลเสียผลประโยชน์ พร้อมมั่นใจรัฐบาลไม่เสียค่าโง่สักแดงเดียว คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีพิพาทค่าชดเชย (ค่าโง่) โครงการโฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล้านบาท เเบ่งเป็นเงินต้น 1.2 หมื่นล้านบาท และดอกเบี้ย 7.5% หรือประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมพบหลักฐานปมข้อพิรุธมากกว่า 20 ข้อ และเตรียมส่งฟ้องศาลปกครองกลางในคดีอาญา ฐานทำรัฐบาลเสียผลประโยชน์ ทั้งนี้ มั่นใจว่าจะชนะคดีอย่างแน่นอน โดยที่ภาครัฐไม่ต้องเสียค่าชดเชยให้กับเอกชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 สัปดาห์นับจากนี้

“มองว่าคดีอาญาในลักษณะนี้ ฝ่ายเอกชนอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและมีโอกาสมากที่จะแพ้คดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ทีมเจรจาของฝ่ายเอกชนได้ขอให้กระทรวงคมนาคมชะลอการยื่นฟ้องศาลเพื่อมาเปิดโต๊ะเจรจา”

สำหรับแนวทางต่อสู้คดีนั้น จะยื่นฟ้องบริษัทเอกชนในคดีอาญา ซึ่งหากศาลตัดสินให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ชนะคดี ซึ่งจะทำให้คำตัดสินของศาลเรื่องค่าชดเชยเป็นโมฆะ เนื่องจากถือว่าการทำสัญญาก่อสร้างโฮปเวลล์เป็นโมฆะไปตั้งแต่แรก จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว อีกทั้งยังสามารถฟ้องเอาผิดผู้เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเข้าข่ายทุจริต รวมถึงรัฐอาจจะได้รับค่าชดเชยแทนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคดีโฮปเวลล์นั้น เริ่มจากคำประกาศคณะปฏิวัติตั้งแต่ปี 2534 ที่กำหนดให้กิจการด้านขนส่งมวลชน ต้องมีบริษัทผู้รับงานก่อสร้างและบริการเป็นบริษัทสัญชาติไทย กล่าวคือ มีคนไทยถือหุ้นมากกว่า 51% ซึ่งหลักฐานที่คณะทำงานแต่งตั้งโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พบว่า ทางเอกชนได้ไปแอบอ้างขอจดทะเบียนเป็นบริษัทพิเศษซึ่งมีต่างชาติถือหุ้นมากกว่า 51% พร้อมอ้างว่าได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว กลับพบว่าไม่มีมติจาก ครม. ทั้งยังมีข้อสังเกตุว่าการอนุมัติโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่แผนงานไม่มีความชัดเจน ในส่วนของสัญญาก็มีเพียงแค่ 8 หน้าเท่านั้นกับโครงการที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท โดยในขณะนั้น อยู่ในยุค นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม และมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี (2532-2535)  

“โครงการดังกล่าว เกิดปัญหาจนต้องยกเลิกสัญญา ซึ่งอยู่ในช่วงยุคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และมีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีข้อสังเกตว่า มติ ครม.บอกเลิกสัญญา อาจมีการจงใจให้เป็นค่าโง่ที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชน เพราะหากรัฐบาลทำการยกเลิกสัญญาแบบทั่วไป คือ ยึดตามกรอบสัญญาและ TOR ฝ่ายเอกชนจะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้ เพราะรัฐเสียประโยชน์ ทว่ามีการพลิกแพลงให้เป็นการยกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เปิดช่องให้เอกชนยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐ ดังนั้นการกระทำดังกล่าว ถือเป็นข้อผิดพลาดที่เป็นภาระมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันจะดำเนินการทุกกรณี เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและผู้ร่วมขบวนการมารับโทษที่ได้ก่อไว้ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถเอาผิดย้อนหลังได้”

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ตกอยู่ในสถานะน้ำท่วมปากทุกยุคทุกสมัย ไม่สามารถขัดขืนการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลจากฝ่ายบริหารทั้งกระทรวงคมนาคมและรัฐบาล ตลอดจนไม่สามารถเปิดโปงต้นตอของปัญหาได้ ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.ต้องเป็นฝ่ายที่พูดอะไรไม่ได้รอรับคำสั่งเพียงอย่างเดียว นั่นเป็นเพราะไม่มีใครอยากกระเด็นหลุดจากตำแหน่ง ไม่มีใครอยากมีปัญหากับผู้บังคับบัญชา จนกระทบต่อหน้าที่การงาน

 



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ