แก้รัฐธรรมนูญ... ยากยิ่งกว่า ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แก้รัฐธรรมนูญ...  ยากยิ่งกว่า ‘เข็นครกขึ้นภูเขา’


การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ที่เปิดประชุมไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือการ “แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 บรรจุอยู่ในวาระการประชุมซึ่งมี 4 ญัตติด้วยกัน โดยเป็นของ พรรคร่วมฝ่ายค้านหนึ่งญัตติ ซึ่งประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ และพรรคพลังปวงชนไทย และเป็นของ พรรคร่วมรัฐบาลสามญัตติ ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา

และจะกลายเป็น “ปมร้อน” ทะลุปรอททันที ที่สภาผู้แทนราษฎรเปิดสมัยประชุมสภาครั้งที่ 2 นี้ เนื่องจากญัตติการตั้ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 รวมทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป จะถูกผลักขึ้นมาอยู่ในวาระแรกๆ จากการที่สภาลงมติ 463 ต่อ 0 เสียง ตามที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านขอเลื่อนพิจารณาเป็นญัตติแรก แบบไม่มีใครค้าน

ขณะที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะขมวดรวมญัตติเกี่ยวกับการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของทั้งประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ มาเป็นเรื่องเดียวกัน

 อย่างไรก็ตาม ในญัตติดังกล่าวทั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล มีความน่าสนใจอยู่ที่สาระสำคัญที่นำมาใช้อ้างอิงและจุดเน้นซึ่งมีทั้งที่มีร่วมกันและแตกต่างกัน  

โดยในญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 62 ซึ่งมีเพียงญัตติเดียว และญัตตินี้ได้เลื่อนมาจากการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เสนอโดย สุทิน คลังแสง และ ปิยบุตร แสงกนกกุล มีเนื้อหาสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ความเหมาะสมของยุทธศาสตร์ชาติ และความชอบด้วยหลักนิติธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และนอกจากนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาก็ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น วิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งอย่างหลังยังส่งผลต่อเรื่องของความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งแยกเป็นสามญัตติ ได้แก่ ญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 62 โดยมี เทพไท เสนพงศ์ เป็นผู้เสนอ มีสาระสำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายมาตรา และมีหลายประเด็นที่จำต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล ขณะที่ญัตติของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ “นิกร จำนง” เป็นผู้เสนอ ได้ให้เหตุผลถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นมีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย และความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขาดการยอมรับจากประชาชนอยู่พอสมควรถึงแม้ว่าจะผ่านประชามติมาก็ตาม อีกทั้งในหลายๆ ประเด็นก็ยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติด้วย

ขณะที่ญัตติของพรรคพลังประชารัฐ โดยมี วิเชียร ชวลิต เป็นผู้เสนอนั้น ได้เน้นปัญหาสำคัญถึงผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นี้ ที่ต้องใช้เวลาในรอประกาศผลอย่างเป็นทางการค่อนข้างนาน และการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ยังเป็นประเด็นซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันออกไปหลายทาง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์อันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้จัดประชุมส.ส.พรรคโดยมีมติ สนับสนุนให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสวมหมวกอีกใบในตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าตนเป็นหนึ่งในคนที่ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้” ถ้าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ แต่สิ่งแรกที่ควรจะทำ คือ อย่าเพิ่งไปหักด้ามพร้าด้วยเข่า ล้มให้หมดพังให้หมดเพราะจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด

ขณะที่ พรรคอนาคตใหม่ มองว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการตั้ง กมธ.ให้ได้ก่อน ถ้าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนไปโฟกัสว่าใครเป็นประธานฯ สังคมก็อาจจะคลางแคลงใจว่าไม่มุ่งเน้นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไปถกเถียงตีกันว่าใครจะเป็นประธานฯ  ทางที่ดีควรทำให้กมธ.ชุดนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อผลักดันในนามของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากเราหาฉันทามติร่วมกันได้ก็จะเป็นผลงานร่วมกัน ที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ในประเด็นใดบ้าง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็จะถูกแรงกดดันว่าต้องเอาด้วย

หากแต่สิ่งที่พรรคฝ่ายค้านกลัว คือ หลังการตั้ง กมธ. แม้จำนวนสมาชิก กมธ.จะตั้งตาม “ที่นั่ง” ของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้ เช่น ในสภามี 500 คน แต่ละพรรคมี ส.ส.เท่าไหร่ คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ นำเปอร์เซ็นต์ตัวนั้นไปเป็นโควตาที่นั่งใน กมธ. ดังนั้น บวกลบ กมธ.ชุดนี้ถ้าตัดสินตามโควตา พรรคร่วมฝ่ายค้านจะมีที่นั่งใน กมธ.มากกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เมื่อ พลังประชารัฐโดดมาเล่นเกมรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุด คือ hijack คือ ดึงโควตา ประธาน กมธ.ให้อยู่กับฝ่ายรัฐบาล เมื่อกำหนดตัวประธานได้ ก็กำหนดวาระได้ การ hijack จากเดิมกำหนดวาระให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อาจกลายเป็นแก้รายมาตราเพื่อตอบคำถามสังคมว่า พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพลังประชารัฐเองก็พร้อมที่จะแก้รัฐธรรมนูญ

ยังไม่นับรวมถึงความเคลื่อนไหวของส.ว.ที่มีจุดกำเนิดมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันจะเห็นได้จากการที่ “เสรี สุวรรณภานนท์” ออกมาบอกว่า สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังไม่มีความพร้อมที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากข้อเสนอที่จะขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขในประเด็นใด และยังไม่เห็นปัญหาของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่สำคัญ ส.ว. ยังมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลความเรียบร้อยในช่วงเปลี่ยนผ่านประเทศ 5ปี ให้ดำเนินไปด้วยดี

ชัดเจนว่าท่าทีของส.ว.นั้น ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความเป็นไปได้น้อยลง เพราะในการแก้รัฐธรรมนูญนั้นต้องใช้เสียงส.ว.1ใน 3 ร่วมออกเสียง ในการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 1 และ 3

ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นเป็นไปได้ยากและแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับผ่านๆ มา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน พรรคการเมือง และวุฒิสภา เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและการได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย…!!

 

   



บริษัท สมาร์ท โกลด์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด SMART GOLD MEDIA GROUP CO.,LTD. ติดต่อสอบถาม ID Line : @siamturakij และ ฝ่ายโฆษณา siamturakijadvertising@gmail.com
© 2013 สยามธุรกิจ